ปรับตัวรับภาวะเงินฝืดหลัง "โควิด-19" - Forbes Thailand

ปรับตัวรับภาวะเงินฝืดหลัง "โควิด-19"

แม้ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มบางเบาลง หลายประเทศต่างทยอยเปิดเมืองและธุรกิจกลับมาดำเนินการได้บ้าง โดยตัวแปรสำคัญของความเร็วและระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคงหนีไม่พ้นการพัฒนาวัคซีน ที่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จในอีกไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่โรคระบาดนี้จะไม่หายไปอย่างถาวร เพราะองค์การอนามัยโลกเคยกล่าวว่าโรค โควิด-19 อาจกลายเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่น (Epidemic) เหมือนการติดเชื้อ HIV ไข้มาลาเรีย หรือโรคหัด หากเป็นเช่นนั้น วิถีชีวิตบางอย่างของคนทั่วโลกอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร เกิดการปรับตัว ปรับแผนธุรกิจ และปรับการลงทุน

โดยธุรกิจกลุ่ม IT และ Health Care ถูกหยิบยกขึ้นบ่อยครั้งว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์นี้ และมีแนวโน้มจะไปได้ดีในอนาคต สะท้อนจากดัชนี MSCI Information Technology และ MSCI Healthcare ที่ปรับตัวขึ้น 6.4% และ 3.1% ตั้งแต่ต้นปี ตามลำดับ (ข้อมูล วันที่ 29 พฤษภาคม 2020) ในขณะที่หุ้นส่วนใหญ่ของโลกปรับตัวลดลง

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง แต่ร่องรอยความเสียหายในอุตสาหกรรมหลักๆ จะลากยาว และต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ข้างหน้า กว่าจะเห็นมูลค่าเศรษฐกิจกลับมา จุดที่เคยเป็นเมื่อปี 2019

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อความต้องการใช้จ่ายทั่วโลกกลับมาหลังโรคโควิด-19 คลี่คลาย จะต้องเตรียมรับมือกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรงหรือไม่?

เงินเฟ้อเป็นประเด็นน่าสนใจที่หลายสำนักมองต่างกัน ปัจจัยแรกที่สนับสนุนเงินเฟ้อหนีไม่พ้นการตอบสนองของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ FED ที่พุ่งเข้ามาอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและตรงจุดกว่าวิกฤตครั้งไหนๆ รัฐบาลทั่วโลกระดมมาตรการใช้จ่ายและกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร โดยขนาดงบประมาณรวมของมาตรการการเงินและการคลังใกล้เคียง 10% ของ GDP โลก

ประเด็นที่สองคือความขัดแย้งจนเป็นตำนานระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การผลิตและขนส่งสินค้าหยุดชะงัก จุดชนวนการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หลายบริษัทวางแผนลงทุนในหรือใกล้ประเทศตัวเอง โดยเฉพาะบริษัทในประเทศฝั่งตะวันตก เพื่อลดการพึ่งพาจีนและเอเชีย แต่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น ราคาสินค้าในอนาคตมีโอกาสขยับขึ้น ล่าสุดข้อสรุปการแก้ปัญหาการผลิตน้ำมันล้นตลาดระหว่าง OPEC และพันธมิตรทำให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพและขยับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อีกฟากหนึ่งยังถกเถียงกันว่า หรือจริงๆ แล้ว ผลกระทบระยะยาวของวิกฤตนี้คือภาวะเงินฝืด?

พิษโรคโควิด-19 ทำลายความต้องการซื้อสินค้าทั่วโลก โดยเฉพาะน้ำมัน มีการประเมินความต้องการใช้น้ำมันหายไป 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน เจ้าของธุรกิจจำใจหั่นราคาสินค้าอย่างหนักเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่ก็ไม่ช่วยเท่าที่ควร เนื่องจากความท้าทายหลากหลายยังปกคลุมตลาด เช่น ความเลื่อมล้ำทางสังคมที่กว้างขึ้นจากการว่างงาน การสูญเสียรายได้ทำให้ผู้บริโภคเข้าสู่โหมดรัดเข็มขัด ส่วนต่างระหว่างการผลิตจริงกับความสามารถที่จะผลิตได้ยังกว้างมาก ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อต่ำต่อไป

กรณีศึกษาที่ดีคือญี่ปุ่นที่จมอยู่ในภาวะเงินฝืดเกินกว่าทศวรรษ แม้รัฐบาลและธนาคารกลางจะทุ่มกระสุนหมดหน้าตักก็ไม่สามารถผลักเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย ยังไม่นับรวมการเพิ่มภาษีขายเพื่อหารายได้มาบรรเทาหนี้สาธารณะ การขาดความต้องการบริโภคทำให้นอกจากหนี้จะไม่ลดแล้ว ยังซ้ำเติมเศรษฐกิจด้วย

ถึงจุดนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ และการวิเคราะห์ในวงกว้างเชื่อได้ว่า หากไม่เกิดความผิดพลาดทางนโยบายการเงิน เช่น ธนาคารกลางถอนสภาพคล่องออกจากระบบช้าเกินไปหรือขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป เราน่าจะกังวลกับเงินฝืดมากกว่าเงินเฟ้อ และภาวะเงินฝืดจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจต่างๆ อย่างแน่นอนที่สุด นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่ไปกับกระแสใหม่ของโลกได้ดี โดย

1.ในช่วงเศรษฐกิจกำลังพยายามจะฟื้นตัว แต่มีความเสี่ยงสูง ควรเน้นลงทุนหุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ เพราะเงินเยียวยาจากรัฐบาลช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัทขนาดกลางและเล็กอยู่รอดจนผ่านวิฤตเท่านั้น ไม่ได้นำไปลงทุนเพื่อขยายกิจการหรือปรับโครงสร้างธุรกิจ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จะได้เปรียบเพราะมีอำนาจต่อรองการสนับสนุนและปกป้องจากภาครัฐ รวมทั้งสามารถรับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นได้มากกว่า 2.เพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับ Megatrends หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนใน 20-100 ปีข้างหน้า ได้แก่ การขยายตัวของเมือง การขาดแคลนทรัพยากร นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยควรกระจายลงทุนในหลากหลายธีม (Themes) คอยติดตามและปรับเปลี่ยนธีม เพิ่มธีมใหม่ ลดหรือยกเลิกธีมที่ศักยภาพลดลง เพื่อลดความผันผวนจากวัฏจักรของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน โดยยังคงรักษาโอกาสเติบโตของเงินลงทุนไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกและพฤติกรรมผู้บริโภค    
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine