โมเดลพลิกฟื้นประเทศไทยในสมการของ GDP - Forbes Thailand

จากสมการ GDP ของประเทศ ที่ว่า GDP = C + I + G + ( X - M ) เราลองมาดูแนวทางในการพลิกฟื้นประเทศไทย ผ่านการแก้ไขตัวแปรแต่ละตัวในสมการ

C = Consumption หรือการบริโภค

ตอนนี้การบริโภคภายในประเทศลดลง เพราะทุกคนต่างก็รัดเข็มขัด

แม้รัฐบาลจะงัดมาตรการ ชิม ช็อป ใช้ มากระตุ้น แต่ก็อาจกระตุ้น C ได้ชั่วคราว เพราะในระยะยาว เงินส่วนใหญ่ไหลกลับไปที่กำไรสะสมของบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ได้ถูกกระจายไปในระดับฐานราก ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่แท้จริง

การกระตุ้นการบริโภค ในนัยยะที่มีความยั่งยืน คือการสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของประชาชนทั้งประเทศ

ให้การบริโภค เป็นการบริโภคที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้จ่ายของประชาชนอย่างแท้จริง นั่นก็คือ ทุกคนต้องมีงาน ต้องมีอาชีพ ต้องมีธุรกิจ ที่มีเงินหล่อเลี้ยงครอบครัวและธุรกิจหน่วยย่อยๆ ให้เป็น Sustainable Income เพื่อนำไปใช้บริโภคแบบ Sustainable Consumption ได้

ซึ่งต้องไม่ใช่การก่อหนี้สินเพื่อการบริโภค แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพราะถ้าหากรายได้ของประชาชนสะดุด หนี้สินที่ต้องผ่อนแต่ละเดือนอยู่ในอัตราที่สูง การบริโภคทั้งหมดในประเทศ จะสะดุดลงทันที

 

I = Investment

ในปัจจุบันประเทศไทยยังเป็น Industrail Base ไม่ใช่ Innovation Base ในขณะที่ต้นทุนค่าแรง ความสามารถในการแข่งขัน เรามีต้นทุนค่าแรงที่สูงกลุ่มประเทศ CLMV

ประเทศเมียนมา ค่าแรงขั้นต่ำ 100 บาท

ประเทศ สปป.ลาว ค่าแรงขั้นต่ำ 170 บาท

ประเทศเวียดนาม ค่าแรงขั้นต่ำ 180 บาท

ประเทศกัมพูชา ค่าแรงขั้นต่ำ 285 บาท

ในขณะที่ประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 313 บาท

ดังนั้นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เราไม่สามารถใช้กรอบความคิดแบบ Industrial Base มาใช้ได้เหมือนยุคปี 1980

เราต้องเปลี่ยนการลงทุนภายในประเทศให้เป็น Innovation Base โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sector ในส่วนของเทรนด์อนาคตเป็นแกนหลัก ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์แบบ EV, เทคโนโลยีชีวภาพ, Robotics, Digital เป็นต้น

ขณะที่ในวันนี้ Infrastructure ของเรายังดีกว่ากลุ่มประเทศ CLMV อย่าเสียความได้เปรียบตรงนี้ไป

การกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ อย่ามองในมิติของการดึงดูดทุนจากต่างชาติเข้ามาอย่างเดียว แต่เราต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศด้วย

ภาครัฐอาจต้องใช้กฎหมายบางมาตรา เพื่อป้องกันการผูกขาดจากทุนขนาดใหญ่ เพราะในระยะยาว ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการที่มีสายป่านยาวกว่าได้

รวมถึงควรออกมาตรการห้ามการ Dumping (ทุ่มตลาด) จากสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าออนไลน์ที่มาจากจีน

สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยการจัดทำระบบข้อมูลประมวลผลกลาง (Big Data) เพื่อป้องกันการประกอบธุรกิจแบบ me-too business (ธุรกิจที่ทำตามกันเช่น ร้านกาแฟ คาร์แคร์ สปา ร้านอินเตอร์เน็ตในอดีต ) ทั้งนี้ เพื่อควบคุมซัพพลายของผู้ประกอบการให้อยู่ในระดับสมดุล ซึ่งจะส่งผลทำให้การ Investment เป็นการทำลายผู้ประกอบการรายย่อยเสียเอง

จำกัดการผูกขาด ในอุตสาหกรรมที่มีสัมปทาน แต่ให้เปิดเสรีและใช้ Perfect Competition เป็นตัวขับเคลื่อน

บังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้อง Innovation ของผู้ประกอบการรายย่อย

ติดอาวุธทางความรู้ให้กับผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทุกคนต้องรู้จักการทำ Project Feasibility Analysts ก่อนการเริ่มธุรกิจ เพื่อป้องกันความล้มเหลวจากความไม่รู้ของผู้ประกอบการรายย่อย

รวมถึงให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยกลุ่ม Angel-Investors และ Venture Capital ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่ได้มองเฉพาะกลุ่ม tech start-up แต่พร้อมสนับสนุนธุรกิจทุกภาคส่วนที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ

 

G = Government Spending

ภาครัฐต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นักการเมืองต้องเห็นผลประโยชน์ของประเทศมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว

กฎหมาย Anti-Corruption จะต้องไม่ใช่แค่เสือกระดาษ แต่มีผลในการบังคับใช้จริง

เพื่อให้ G ซึ่งควรมีประสิทธิภาพที่สุดในการเริ่มต้น คิดใหม่ทำใหม่ สามารถช่วยคนทั้งประเทศได้จริง

G ที่ใช้ไป อย่าไปสิ้นเปลืองกับการกระตุ้น C เพียงชั่วคราว เพราะไม่เกิดประโยชน์ระยะยาวแต่อย่างใด

แต่ G ต้องสามารถสร้าง Infrastructures ต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในส่วนรวม

ฝากท่านผู้นำพิจารณาด้วยครับ

 

X = การส่งออกหรือการได้มาของรายการที่มาจากคนต่างประเทศที่มาใช้จ่ายในประเทศไทย

ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ความสามารถในการส่งออกของประเทศน้อยลง ซึ่งคงต้องฝากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการสร้างสมดุล โดยที่ไม่ใช้ทุนสำรองของประเทศไปเกี่ยวข้อง ซึ่งผมคิดว่าท่านเก่งอยู่แล้ว

เราต้องการ New Product , New Service และ New Innovation เพราะนั่นคือจุดที่จะทำให้ความสามาถในการแข่งขันขึ้นสู่ Exponential Curve ได้

รัฐบาลต้องเป็นแกนหลักในการสร้างผู้ประกอบการภายในประเทศ เพื่อคิดใหม่ทำใหม่ สำหรับ New Business Model

ในแง่ของการท่องเที่ยว รายจ่ายของต่างชาติต้องถูกจัดสรรกระจายไปให้กับประชาชนในทุกภาคส่วนทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่

ไม่ใช่รายใหญ่ หรือทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว

มิฉะนั้น GDP ในส่วนของ X ที่เพิ่มขึ้นมา จะไม่สามารถเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทยโดยส่วนใหญ่ได้เลย

 

M = การนำเข้าหรือการใช้จ่ายจากคนในประเทศไทยไปยังต่างประเทศ

สร้างวินัยทางการเงินให้คนในประเทศ ใช้ในสิ่งที่จำเป็น สร้างทัศนคติที่เน้นใช้สินค้าภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนคนไทยด้วยกัน

ระวังเรื่องเงินรั่วไหล โดยเฉพาะธุรกิจการพนันที่ถูกกฎหมายในต่างประเทศ แต่ผิดกฎหมายในประเทศไทย เลยทำให้เงินจำนวนมหาศาลที่มิได้มีการบันทึก ไหลออกไป มาเก๊า สิงคโปร์  หรือประเทศที่การพนันถูกกฎหมาย โดยไม่จำเป็น

ถ้าเลี่ยงไม่ได้ บางทีการมีกาสิโนที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยจำกัดและควบคุมผู้มาใช้บริการที่เป็นคนไทย อาจดีกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ธุรกิจสีเทาหรือดำที่ต้องขนเงินไปต่างประเทศ รวมทั้งเงินที่ได้มาจากการการฉ้อราษฎร์บังหลวง ล้วนแล้วแต่ทำให้เงินหายไปจากประเทศทั้งนั้น

ในส่วนนี้คงต้องฝากความหวังไปที่ผู้ออกกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนทุกระดับ

ที่สำคัญ เราทุกคนต้องตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง

ไม่ใช่ พอเศรษฐกิจพังขึ้นมา โยนความผิดให้รัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว

เรามีความสามารถในการแข่งขัน มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่จะออกไปสู้กับระดับโลกได้หรือยัง

เรามีวินัยทางการเงินดีพอหรือยัง หรือยังติดอยู่ในกระแสบริโภคนิยม สร้างหนี้เพื่อเอามาสร้างโปรไฟล์ในโลกออนไลน์

ถ้าทุกคนตระหนักและรับผิดชอบพร้อมกัน

ประเทศไทยฟื้นแน่นอน

    โดย กระทรวง จารุศิระ ซุปเปอร์เทรดเดอร์รีพับบลิค
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ กดติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: Forbes Thailand Magazine