เศรษฐกิจไทยกำลังดี แต่ทำไมชาวบ้านถึงบ่น - Forbes Thailand

วันนี้ผมพยายามทำความเข้าใจในสภาวะ GDP ของประเทศไทยที่สวนทางกับการทำมาค้าขายของชาวบ้านอย่างรุนแรง ผมทราบมาจากคนรู้จักหลายคนและจากคอมเม้นท์ต่างๆในสื่อว่า ช่วงนี้ค้าขายลำบากมาก เศรษฐกิจฝืดเคืองสุดๆ จะว่าไปแล้วในเชิงของ Competition ในการทำธุรกิจก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ผมจึงมานั่งวิเคราะห์ตัวแปรแต่ละตัวว่าเป็นอย่างไร

Consumption การบริโภค 1. มีคนส่วนหนึ่งที่ลดการบริโภคลง เนื่องจากทำมาค้าขายลำบากขึ้น ประหยัดรายจ่าย 2. คนหันมาซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้ช่องทางการค้าแบบปกติหดตัวลง 3. ธุรกิจขนาดใหญ่ พยายามครอบครองในทุก Segment ด้วยช่องทางการจัดจำหน่าย และความได้เปรียบทางด้าน Economy of scale 4. ธุรกิจหน่วยย่อยไม่สามารถปรับตัวเพื่อแข่งขันได้ ทำให้สูญเสียกลุ่มลูกค้าไป การบริโภคในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ พวกเขาจ่ายให้กับสินค้าและบริการที่อาจจะแพงกว่า แต่ได้ในส่วนของคุณภาพหรือตราสินค้ามากกว่า ในขณะที่การบริโภคในกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางหรือมีรายได้น้อยหดตัวลงทำให้วงจรเกิดภาวะเงินฝืดเคืองเข้าไปอีก เงินกระจุกตัวอยู่ในแต่กลุ่มคนรวยและธุรกิจขนาดใหญ่ และทุนขนาดใหญ่เมื่อขายสินค้าได้กำไรไม่ได้นำเงินส่วนนี้เข้ามาบริโภคต่อแต่ถูกเก็บสะสมไว้เพื่อสร้างความมั่งคั่งผ่านการซื้อทรัพย์สินทำให้วงจรของเงินตรงนี้หายไปจากระบบ Investment - การลงทุน 1. สืบเนื่องมาจากการหดตัวของการบริโภค การลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหดตัวลง 2. การลงทุนในธุรกิจกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่เม็ดเงินที่ลงไปก็ยังไม่กระจายอยู่ดี เพราะมีการใช้เครื่องจักรและระบบ Automation มาใช้ในการผลิตมากขึ้น เจ้าสัว CP. ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าต่อไประบบการผลิตจะพยายามนำเครื่องจักรมาแทนคนเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด 3. การจ้างงานถูกกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาแชร์ส่วนแบ่งไป ในขณะที่เม็ดเงินไม่ได้ถูกเอามาใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศไทยต่อ แต่ส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิด 4. FDI - Foreign Direct Investment ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้ว่าจ้างบริษัทหรือนิติบุคคลไทย แต่ถูกบริษัทจากจีนตัดราคาในการทำรับเหมาก่อสร้าง และกำไรที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ สุดท้ายส่งกลับไปยังสำนักงานใหญ่ที่ต่างประเทศ Government Spending - การใช้จ่ายภาครัฐ 1. วิธีการบริหารจัดการรายจ่ายภาครัฐล้มเหลว ในขณะที่ รัฐบาลพยายามเก็บภาษีให้ได้มากที่สุดจากเอกชน ทำให้เม็ดเงินจากระบบหายไป แต่การจัดสรรอนุมัติงบประมาณเป็นการจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แบบต่อเนื่องที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแบบอนุกรม ยกตัวอย่างเช่น เอาเงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือสร้างเสาไฟต้นละ 133,000 บาท 2. การฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกระดับชั้น เราต้องยอมรับว่ามีความพยายามจากหลายส่วนตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆและการปกครองส่วนกลาง ที่มีคนพยายามละลายงบประมาณเข้ากระเป๋าตัวเองและกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หน่วยงานใดที่ใช้งบประมาณไม่หมด ปีหน้าจะถูกตัดงบ ดังนั้นคนในหน่วยงานนั้นจึงพยายามสร้างโครงการต่างๆเพื่อใช้ให้หมด เช่น การสัมมนา ดูงานต่างประเทศ ในขณะที่เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน ไม่มีเงินซื้อ จนตูน บอดี้สแลม ต้องวิ่งเพื่อรับบริจาคแทน เงินก็มาจากประชาชนกลุ่มย่อยอยู่ดี Export - การส่งออกหรือการที่มีคนมาใช้จ่าย เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ความสามารถในการแข่งขันเราลดลง ถ้าเปรียบเทียบเรื่องต้นทุน เราไม่สามารถสู้ประเทศจีนได้ ในขณะที่ถ้าเปรียบเทียบเรื่องคุณภาพ เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมได้ คนจีนมาเที่ยวเมืองไทยเยอะแยะ แต่รายจ่ายถูกดึงกลับเข้าไปในกลุ่มคนจีนด้วยกันผ่านทัวร์ศูนย์เหรียญ Import - การนำเข้าหรือการที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ คนมีเงินยังมีกำลังจ่าย ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ในขณะที่การเที่ยวต่างประเทศเป็นส่วนนึงในชีวิตคนไทย เพราะราคาถูกลง เดี๋ยวนี้มีเงิน 30,000 บาทก็ไปยุโรปได้แล้ว ความสามารถในการแข่งขันระหว่างตราสินค้าท้องถิ่นในประเทศ แพ้สินค้าแบรนด์เนมที่มาจากต่างประเทศ ถึงแม้มีราคาที่ถูกกว่า ที่ผมเล่ามาเป็นแค่ภาพรวมคร่าวๆ ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเรา ในที่สุดถ้าวงจรนี้ยังดำเนินต่อไป คนรวยมากๆ ยังสบายยิ่งรวยขึ้น คนพอมีเงินจะรัดเข็มขัดเพราะกลัวจนลง คนทำงานกินเงินเดือนจะถูก early-retirement คนฐานะปานกลางจะกลายเป็นคนจน คนจนจะยิ่งจนลง แต่ยังไม่ตายเพราะสร้างหนี้ได้ คนไม่เลือกงานยังพอมีที่ไป คนเลือกงานจะตกงานมหาศาล อาชญากรรมจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในท้ายที่สุดธุรกิจขนาดใหญ่จะกระทบเพราะกำลังซื้อในระบบมันหายไปทั้งหมด