เมื่อมังกรกลายเป็นแพะ - Forbes Thailand

เมื่อมังกรกลายเป็นแพะ

ตลาดการเงินโลกเริ่มต้นปี 2016 ด้วยความผันผวนอย่างหนัก ทั้งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงกว่า 20% มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี และตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งลงจนหลายตลาดเข้าสู่ภาวะ Bear Market (ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดเกิน 20%) โดยปัจจัยหลักที่นักข่าวเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์ทั่วโลกมักอ้างถึงเพื่ออธิบายความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหาของเศรษฐกิจจีน ที่ไม่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาดีหรือแย่ หรือรัฐบาลจีนจะประกาศนโยบายอะไรออกมาก็ดูเหมือนจะเป็นข่าวร้ายไปเสียหมดในสายตานักลงทุน จริงอยู่ที่เศรษฐกิจจีนนั้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจจีนนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หลายครั้งข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศก็ดูเหมือนจะวาดภาพเศรษฐกิจจีนให้เลวร้ายเกินกว่าความเป็นจริง จนดูราวกับว่าจีนจะเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่างในโลก หลายครั้งข้อกล่าวหานั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และบางครั้งอาจตรงกันข้ามกับความจริงเลยด้วยซ้ำ ผมจึงขอถือโอกาสใช้บทความนี้เพื่อแก้ต่างและชี้แจงข้อกล่าวหาให้กับ “แพะ” อย่างจีนและหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนได้ในระยะยาวมากขึ้น ข้อกล่าวหาแรกที่เรามักได้ยินบ่อยในช่วงนี้ คือ “เศรษฐกิจจีนกำลังดิ่งเข้าสู่ภาวะ Hard Landing” แต่ในความเป็นจริงแล้วดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจจีนในช่วงหลังเริ่มส่งสัญญานดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายสั่งซื้อภาคการผลิตที่จัดทำโดย Caixin ล่าสุดในเดือนมกราคม ฟื้นตัวขึ้นเป็น 48.4 จุด จาก  48.2 จุดในเดือนธันวาคม และอยู่สูงกว่าจุดต่ำสุดในเดือนกันยายน 2015 ที่ 47.2 จุด โดยดัชนีที่ต่ำกว่า 50 จุดยังแสดงถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัว แต่ก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ในขณะที่ดัชนีภาคบริการของจีนอยู่สูงกว่า 50 จุด มาตลอดทั้งปี 2015 ซึ่งชี้ว่าภาคบริการยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ภาพการขยายตัวของภาคบริการที่สวนทางกับภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องนั้นสอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่ต้องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้หันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักและนำไปสู่ปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้รายงานล่าสุดจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) ยังชี้ว่ายอดหนี้ในสกุลต่างประเทศของจีนมีแนวโน้มลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าเงินทุนที่ไหลออกส่วนใหญ่นั้นถูกนำไปใช้ชำระคืนหนี้ ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินทุนไหลออกในระยะถัดไปนั้นบรรเทาลง ทั้งนี้ คมศร ยังได้ไข้ข้อปัญหา อันเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า “เงินทุนไหลออกทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนหดตัวและเริ่มเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน” และ “การบริโภคภายในประเทศจะย่ำแย่ เนื่องจากคนจีนจำนวนมากขาดทุนจากตลาดหุ้น” ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้
คลิ๊กอ่าน "เมื่อมังกรกลายเป็นแพะ" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ในรูปแบบ E-Magazine