เดือนมีนาคม ติดตามผลการเลือกตั้งยุโรป และ ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ - Forbes Thailand

เดือนมีนาคม ติดตามผลการเลือกตั้งยุโรป และ ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ

ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เรามองว่าจะต้องจับตาปัจจัยต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งในยุโรป ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเรายังคงมองว่าในท้ายที่สุดผลการเลือกตั้งจะออกมาในเชิงบวกมากกว่า

แต่ก่อนทราบผลการเลือกตั้ง นักลงทุนอาจจะเกิดความกังวล ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อตลาดการเงินโดยรวมได้  แต่ในด้านกลยุทธ์ลงทุน เราคงใช้จังหวะการปรับลงในการทยอยซื้อสะสมในตลาดหุ้น สหรัฐฯ ,ญี่ปุ่น และ อินเดีย นอกจากประเด็นการเลือกตั้งในยุโรปแล้วสิ่งที่ต้องติดตามคือผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)  ซึ่งเราคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้งในเริ่มต้นในเดือน มีนาคม มิถุนายน และ กันยายน หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวดี  

มุมมองต่อเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้

เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องตามสภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.0% YoY จากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยอดปล่อยสินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตามความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มฟื้นตัวและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เรามองว่าเศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า จากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ด้านเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเท่ากับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ซึ่งเรามองว่าจะไม่ยั่งยืน นอกจากนี้อัตราค่าจ้างก็ยังไม่ฟื้นตัวได้ดีนัก รวมถึงความความเสี่ยงทางการเมืองที่จะมีตลอดทั้งปี 2017เราจึงประเมินว่า ECB จะยังคงนโยบายการเงิน และคงอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนนับแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป และ มีโอกาสประกาศปรับลดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ลงอีกในเดือนกันยายน 2017  

จับตาการเมืองยุโรปตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

เริ่มต้นจากการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์วันที่ 15 มีนาคม โพลล่าสุดชี้ว่าพรรค PVV ซึ่งมีนโยบายต่อต้านยุโรปมีคะแนนนิยมนำเป็นอันดับหนึ่ง แต่เราคาดว่าพรรค PVV ซึ่งคาดว่าจะได้ที่นั่งในสภา 20% อาจจะไม่สามารถรวบรวมคะแนนจากพรรคอื่นให้ได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากพรรค PVV มีนโยบายที่แตกต่างจากพรรคอื่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นเรามองว่า เนเธอร์แลนด์ยังมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การลงประชามติเพื่อออกจากยูโรโซนค่อนข้างน้อย ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส โพลล่าสุดชี้ว่านาง Le Pen ที่ชูนโยบายยกเลิกการใช้สกุลเงินยูโรมีคะแนนนำ และมีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งรอบแรกในวันที่ 23 เมษายน ไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งรอบที่ 2 วันที่ 7 พฤษภาคมซึ่งจะเป็นการแข่งกันระหว่างผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรก จากโพลล่าสุดชี้ว่าไม่ว่านาง Le Pen จะได้เข้าไปชิงกับนาย Macron หรือนาย Fillion นาง Lepen ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเรามองว่าฝรั่งเศสมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อยที่จะนำไปสู่การลงประชามติเพื่อออกจากยูโรโซน (Frexit) ในเดือนมิถุนายนอาจจะมีการเลือกตั้งอิตาลี ซึ่งตอนนี้จากโพลล่าสุดชี้ว่าพรรค Five Star Movement ซึ่งมีนโยบายต่อต้านยุโรป มีคะแนนสูสีกับพรรค PD ของนาย Renzi ที่เป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน ส่วนการเลือกตั้งในเยอรมนีในเดือนกันยายน เรามองว่ายังไม่มีความน่ากังวล เนื่องจากว่าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันยังมีคะแนนนำอยู่ค่อนข้างมาก และนาง Merkel น่าจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจากผลโพลล่าสุดชี้ว่านาง Le Pen มีโอกาสน้อยที่จะได้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งรอบ 2 ทำให้ตลาดคลายความกังวลลงซึ่งจะเห็นได้จากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันเทียบกับฝรั่งเศสปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากประเด็นการเมืองในยุโรปแล้ว ยังคงต้องจับตาผลการประชุม Fed ส่วนปัจจัยภายนอกยุโรปที่นักลงทุนจับตาคือ ผลประชุม Fed ในวันที่ 15 มีนาคม (วันที่เขียนยังไม่ทราบผลการประชุม) ที่จะถึงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณฟื้นตัวดี รวมถึงสมาชิก Fed หลายคนเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ประเมินว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2017 ทั้งหมด 3 ครั้ง ในเดือน มีนาคม มิถุนายน และ กันยายน (หมายเหตุ: ซึ่งเป็นไปตามคาด ผลประชุม Fed ในวันที่ 15 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีก 0.25%)