ชัยชนะของ Donald Trump ไม่ได้สร้างความตื่นตะลึงเฉพาะอเมริกันชนเท่านั้นเพราะเหล่าบรรดานานาประเทศก็ต่างวิตกถึงผลที่จะตามมาจากนโยบายของพญาอินทรีคนใหม่นี้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศเช่นเดียวกันที่เมืองไทย มีหลายมิติที่ต้องจับตามอง
ผลการนับคะแนนระดับรัฐที่ทยอยออกมาในคืนวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ค่อยๆ ฉายภาพความชัดเจนที่ Donald Trump จากพรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ โดยที่ต้องยอมรับว่าไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด รวมถึงหลายฝ่ายยังมองว่าความสำเร็จของ Trump เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อตลาดการเงินในทางลบอย่างรุนแรงทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และตลาดใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะเมื่ออีกหนึ่งเรื่องที่เหนือความคาดหมายเมื่อพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งคงจะช่วยเสริมให้ Trump สามารถเดินหน้าแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนภาคธุรกิจสหรัฐฯ ได้
สำหรับในส่วนของประเทศไทย Economic Intelligence Center (EIC) แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านการค้าหากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ และจีนมีการชะลอตัว ขณะที่การค้าโลกโดยรวมอาจจะหดตัวหากนโยบายการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงจนเป็นสงครามการค้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากตลาดการเงินโลกที่จะผันผวนรุนแรงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบาย Trump อีกด้วย ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ในระยะสั้น ตลาดการเงินโลกจะมีการตอบรับในเชิงลบต่อชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Trump แต่แนวทางการบริหารประเทศที่จะมุ่งเน้นเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นภารกิจสำคัญ ก็หนุนให้ตลาดฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ภายในช่วงข้ามคืน
นอกจากนี้ จากการที่สหรัฐฯ น่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า คาดว่า จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียง 2.2 % ทว่า สถานการณ์ที่ดีที่สุดต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในปีนี้จะเกิดขึ้นหากสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ สามารถบรรลุการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นข้อตกลงร่วมกันได้ และไม่นำไปสู่ข้อพิพาทและใช้มาตรการตอบโต้ที่มีความรุนแรงสะเทือนส่งออกไทย
อมรเทพ จาวะลา
ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยถึงผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ต่ออาเซียนและไทยในส่วนนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกกันใหม่ หรือ TPP (Trans – Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) โดยอมรเทพคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนซึ่งอาจจะรวมทั้งการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าหรือตั้งกำแพงทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกของอาเซียนหดตัวลงในปีนี้ ทั้งที่ส่งออกไปยังจีนและระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลลบต่อสหรัฐฯ เองเพราะสหรัฐฯ ก็พึ่งพาสินค้าและวัตถุดิบจากจีนมาก โดย 1 ใน 5 หรือ 20% ของการนำเข้าของสหรัฐฯ มาจากจีน ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าจากอาเซียน 7.3% โดยในอาเซียนนั้น เวียดนามมีส่วนแบ่งการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากที่สุดประมาณ 1.9% ตามด้วยมาเลเซียและไทย ขณะที่ผลิตภาพของแรงงานสหรัฐฯ ก็ไม่สูงพอที่จะชดเชยการผลิตจากภายนอกประเทศด้วยต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการรวมกลุ่ม TPP กำลังจะช่วยสลายจุดอ่อนของไทย เมื่อสหรัฐฯ ต้องการกลับมาเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าภายในประเทศมากกว่าพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ดังนั้นไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าของไทยในกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นภายในปีนี้หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 15 รอบ
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายไม่ต้องการ TPP ขึ้นมายิ่งทำให้เวียดนามไม่มีความได้เปรียบไทยมากนัก อีกทั้งยังทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยยังมีอยู่จากการที่ไทยมีพรมแดนและการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่กำลังเติบโตและนักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์การลงทุน นอกจากนี้ ไทยเองต้องพยายามเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศในเอเชียมากขึ้น
“สืบเนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ TPP ตั้งแต่ต้น ซึ่งเดิมได้ส่งผลให้ไทยเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่เวียดนามซึ่งเข้าร่วมกับ TPP ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันประเทศที่เข้าร่วม TPP อย่างญี่ปุ่นอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามหรือประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วม TPP ได้ ทำให้ไทยอาจเสียเปรียบเวียดนามในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเนื่องจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามจะได้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิ์ GSP และข้อตกลง TPP รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทั้งนี้งานศึกษาของต่างประเทศระบุว่าเวียดนามได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม TPP” อมรเทพ กล่าว
สำหรับนโยบายของ Trump ต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ จะส่งผลให้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการไหลกลับของเงินทุนไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ เงินเยนหรือทองคำในระหว่างที่เกิดภาวะความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่า Trump ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
ทิศทางดอกเบี้ย
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เพราะหากประธานาธิบดีคนใหม่พูดแล้วไม่ทำตามคำพูดก็จะเสียความน่าเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปีนี้มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องได้ โดยนโยบายเศรษฐกิจของ Trump จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่านโยบายเศรษฐกิจของ Trump น่าจะสามารถเร่งการเติบโตในระยะสั้นได้ดีแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อภาระหนี้ในระยะยาวก็ตาม ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปลายปีหน้าขยับสูง 2 ครั้งไปอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% โดยอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยมองว่ายังไม่น่าจะขยับขึ้นตามสหรัฐฯ แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ทั้งนี้ นักลงทุนอาจติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยเพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอมรเทพมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงที่ระดับ 1.50% ต่อปีจนถึงปลายปีนี้
ส่องตลาดทุนไทย
สำหรับผลกระทบระยะยาวจากนโยบายของ Trump ต่อตลาดทุนไทยนั้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่าปัจจัยสำคัญคือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด โดยมองผลลัพธ์ออกเป็น2 กรณี คือ 1. กรณีที่นโยบายเศรษฐกิจของ Trump ได้รับอนุมัติทั้งหมด เชื่อว่าจะก่อให้เกิด Trump Shocks อีกรอบและเงินเฟ้อดีดตัวอย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากนโยบายการค้าและผู้อพยพที่สุดโต่ง ทำให้เฟดจำต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วโดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งที่ 0.25% ในปีนี้ ซึ่งในกรณีนี้จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนโลกเร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงขายทั้งในหุ้นและพันธบัตรไทย กดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าได้อีกประมาณ 3%
2. กรณีที่นโยบายเศรษฐกิจของ Trump ได้รับการตอบสนองบ้างแม้เศรษฐกิจจะเติบโตได้น้อยกว่าแต่จะไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและระดับหนี้สิน ส่งผลให้เฟดมีโอกาสที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ต่อ โดยคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปี 2559 และอีก 1 ครั้งในปีนี้ (2560) ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเพียงเล็กน้อย หรือราว 1.5%
ทั้งนี้ปรากฏการณ์ Trump Shocks ชี้ให้เห็นว่าตลาดการเงินหลังจากนี้นั้นยากที่จะคาดเดาทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย จากวันนี้จนตลอดปี 2560 คงจะยังมีเรื่องช็อคอื่นๆ อีก นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การเมืองในยุโรป และปัญหาหนี้เสียในจีนดังนั้น ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และเตรียมตัวรับกับความผันผวนของตลาดที่จะมีมากขึ้น
ติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560