ผลดำเนินงานยังสนับสนุนตลาดหุ้น แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2561 ตลาดได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าลดลง และหันไปสนใจในด้านปัจจัยพื้นฐานมากขึ้ัน เนื่องจากมีการประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 2/2018 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาเติบโตค่อนข้างดีในเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่บริษัทในดัชนี S&P500 ประกาศผลดำเนินงานแล้วเกือบทั้งหมด กำไรเติบโตราว +24.6% YoY นับเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 3/2010 กำไรในไตรมาสนี้หนุนโดยกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยีเป็นหลัก
บริษัทจดทะเบียนประกาศกำไรดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ราว 5% โดยบริษัทจำนวน 79% ประกาศกำไรดีกว่าคาด ซึ่งกำไรที่ออกมาดีนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงอย่างเดียว ด้านยอดขายก็เติบโตได้ดีราว +10% YoY มากกว่าที่ตลาดคาด 1% สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้บริษัทจดทะเบียนได้ลงทุนเพิ่มขึ้น Capex +24% YoY มากกว่าไตรมาส 1 ที่ +21% YoY ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2011
ด้านยุโรปประกาศกำไรออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย แต่โดยรวมกำไรยังเติบโตได้ดีอยู่ราว +7.7% YoY ส่วนประเทศที่พัฒาแล้วอีกประเทศ คือญี่ปุ่น ประกาศกำไรออกมาเติบโต +13.8% YoY และดีกว่าที่ตลาดคาด ส่วนตลาดเกิดใหม่อย่างจีนจะเริ่มประกาศในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2561 โดยนักวิเคราะห์คาดว่ากำไรของบริษัทในจีนทั้งหมดจะเติบโตราว +18.0% YoY
สำหรับประเทศไทยเริ่มประกาศงบการเงินกลุ่มธนาคารดีกว่าคาด ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2561 โดยกำไรของกลุ่มธนาคารเติบโต +14% YoY มากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นผลมาจากการกันสำรองลดลงและการปล่อยสินเชื่อที่เติบโตขึ้น ประกอบกับการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่จากปี 2019 เป็น 2020 หนุนให้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นราว 7%
แนวโน้มตลาดหุ้นยังมีโอกาสผันผวนช่วงเดือน สิงหาคม - กันยายน 2561 ถึงแม้ว่าภาพรวมผลการดำเนินงานจะออกมาดีหนุนตลาดหุ้นในช่วงเดือน สิงหาคม - กันยายน 2561 ให้ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น +3.5% ตั้งแต่เริ่มมีการประกาศงบการเงินในช่วงต้น กรกฎาคม จนถึง 9 สิงหาคม แต่หลังจากหมดแรงหนุนจากผลดำเนินงานแล้วตลาดหุ้นมีโอกาสกลับมาผันผวนอีกครั้งในตั้งแต่ช่วงกลางเดือน สิงหาคม - กันยายน 2561 โดยปัจจัยที่ต้องติดตามดังนี้
● การเคลื่อนไหวของค่าเงินกลุ่ม Emerging Market โดยเฉพาะประเด็นการเมืองระหว่างตุรกี และ สหรัฐฯ ที่นำไปสู่ความผันผวนของค่าเงิน Turkish Lira (ในช่วง 9 ส.ค. - 14 ส.ค. ค่าเงินดังกล่าวอ่อนค่าราว 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ) หากอิงตามปัจจัยพื้นฐานประเมินว่าความเสี่ยงตุรกีจะเป็นความเสี่ยงเฉพาะประเทศ การอ่อนค่าของค่าเงิน Lira มาจากพื้นฐานของประเทศเองที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว อาทิ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลสูงถึง 5.5% ของ GDP ในขณะที่กลุ่ม ประเทศ Emerging อื่นๆมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่าโดยเฉพาะกลุ่ม Emerging Asia
● ประเด็นสงครามการค้าที่ยังไม่นิ่ง โดยในวันที่ 5 กันยายน 2561 จะมี Public hearing ในประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 25% ในเบื้องต้นยังให้น้ำหนักการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรก็ดี หากไม่มีการเจรจาคาดว่าจะเริ่มบังคับกฏหมาย ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯในเดือน พฤศจิกายน
TAGGED ON