ทางแยกที่ท้าทายของเศรษฐกิจยุโรป
ในที่สุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ก็พิจารณากำหนดเวลาเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินตามหลังสหรัฐฯ ด้วยการประกาศจะยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Program : APP) ภายในสิ้นปีนี้ แต่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้า
เป็นที่ทราบกันดีว่า ECB ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ซึ่งตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 1.9% หลักๆ มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อนี้อาจไม่มีเสถียรภาพเท่าไหร่นักจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่การประชุม ECB ล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย (Refinance) ไว้ที่ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับคงดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ -0.40% และคงดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.25%
แม้ตลาดจะผิดหวังกับตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนในไตรมาสแรก แต่ ECB ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและจะผลักดันเงินเฟ้อให้ถึงเป้าหมายได้ จึงเริ่มส่งสัญญาณแรก ด้วยการประกาศจะหยุดซื้อพันธบัตร แต่ยังตรึงดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่ได้ตีความถึงการคุมเข้มนโยบายทางการเงินมากนัก เพราะในเวลาเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับเพิ่มจำนวนครั้งของการขึ้นดอกเบี้ย ในปีนี้จาก 3 เป็น 4 ครั้ง ทำให้นักลงทุนมองว่า ECB ยังผ่อนคลายมากกว่า สะท้อนในส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ระหว่าง Fed และ ECB ที่กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือน ECB ยังไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจของตนมากนัก และได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2018 ลงจาก 2.4% เป็น 2.1% ส่วนเป้าหมายปี 2019 และ 2020 ยังคงเท่าเดิมที่ 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ และถ้าเจาะเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ณ ปัจจุบัน ยังชี้ถึงการชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจหลักอย่างเยอรมนี พิจารณาได้จาก การลดลงของยอดส่งออกเดือนเมษายน และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับที่สถาบันเยอรมนีเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ (DIW) ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจเยอรมันกำลังถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก ทั้งนี้ DIW ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลงจาก 2.2% เป็น 1.9% ในปี 2018 และจาก 2.4% เหลือเพียง 1.7% ในปี 2019
เศรษฐกิจยูโรโซนยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ ผลทางอ้อมจากนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ ได้เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าหลายอย่างจากจีน และจีนโต้กลับอย่างทันควัน ในมูลค่าที่เท่ากัน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีทางตรงระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป อีกทั้งตลาดยังกังวลกับความเสี่ยงการเมืองในอิตาลี รวมทั้งการขาดดุลการคลัง ที่จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย
แม้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาของการคุมเข้ม แต่การดำเนินนโยบายทางการเงินของ ECB ยังคงมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ สะท้อนจากถ้อยแถลงที่ว่า ECB จะยังคงดูทิศทางของข้อมูลทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างใกล้ชิดเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องวันเวลาที่จะหยุดซื้อพันธบัตรจริงๆ รวมทั้งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายด้วย โดยหากแนวโน้มเงินเฟ้อค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนอยู่ในระดับเหมาะสมกับเป้าหมาย ECB จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย แต่หากทิศทางเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ยั่งยืนเพียงพอ ECB อาจยังไม่สามารถเริ่มมาตรการคุมเข้มใดๆ ได้เลย
เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน สำหรับการลงทุนในยุโรป นักลงทุนควรให้ความสนใจไปที่หุ้นบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากกว่าหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ที่มักพึ่งพิงรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การทยอยลดลงของปริมาณเงินในระบบจากการลดการอัดฉีดผ่านการซื้อพันธบัตร และการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น อาจกดดันราคาสินทรัพย์ที่เคยปรับขึ้นด้วยสภาพคล่องล้นระบบจนมีราคาสูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน ให้ลดลงสู่ระดับปกติ
การปรับฐานของราคาหุ้น พันธบัตร และหุ้นกู้ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และอาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว นักลงทุนควรลงทุนผ่านทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อทำหน้าที่คัดสรรหุ้นตามปัจจัยพื้นฐาน เลือกลงทุนในระดับราคาเหมาะสมในช่วงการปรับฐานราคาที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นโอกาสในการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ดี ทั่วถึง ต้นทุนการเงินต่ำ และธุรกิจยังสร้างกำไรได้แข็งแรงและต่อเนื่อง