วัดชีพจรอสังหาฯ ไทย หลังวิกฤต โควิด-19 - Forbes Thailand

วัดชีพจรอสังหาฯ ไทย หลังวิกฤต โควิด-19

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโรค โควิด-19 ที่เมือง Wuhan ประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยก็ได้รับผลกระทบจากการที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนลดลงไปกว่าครึ่ง

จนถึงวันนี้การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้กระจายไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่การสูญเสียผู้คนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ยังส่งผลกระทบรุนแรงมหาศาลต่อเศรษฐกิจทั้งโลกอย่างประเมินค่าไม่ได้

 

GDP ทั่วโลกติดลบ

Economic Intelligence Center (EIC) หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2563 ว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีแนวโน้มหดตัวถึง 2.1% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1) ผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น

2) มาตรการควบคุมที่เข้มงวดของหลายประเทศ

3) ตัวเลขเร็วจากเศรษฐกิจหลักที่แสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจที่มากกว่าคาด จึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจึงมีแนวโน้มปรับแย่มากกว่าที่เคยคาดไว้เดิม 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวจนถึงขั้นติดลบที่ 5.6% ซึ่งมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1) เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

2) จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากกว่าคาด

3) ผลกระทบต่อการบริโภคจากการประกาศปิดเมือง

4) ผลจากมาตรการการเงินและการคลังล่าสุด รวมถึงมาตรการอัดฉีดเพิ่มเติมของภาครัฐผ่าน พ.ร.ก. กู้ฉุกเฉิน ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากการแพร่ระบาดจบเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ GDP ไทยมีโอกาสหดตัวลดลงอยู่ที่ 3.2% แต่ถ้าหากสถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดไว้ ก็อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกของไทยปรับลดลงมากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จึงมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวได้มากถึง 7.2%

 

เศรษฐกิจซบกระทบอสังหาฯ

จากเดิมที่ช่วงต้นปี พิษโควิด-19 กระทบตลาดอสังหาฯ ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน แต่เมื่อเหตุการณ์ลากยาวเป็นเวลาหลายเดือนจึงส่งผลกระทบต่อทั้งกลุ่มตลาดในประเทศด้วย เนื่องจากมีการลดค่าแรงไปจนถึงเลิกจ้างงานเกิดขึ้น จึงมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ 

โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในปี 2563 อาจทำให้ภาพรวมหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลงประมาณ 333,000-312,000 หน่วย หรือลดลง 11.1% ถึง 16.7% และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลง 755,000-726,000 ล้านบาท หรือลดลง 13.8% ถึง 17.1% ซึ่งจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในรอบ 5 ปี แม้ว่ายังคงมีนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้เหลือประเภทละ 0.01% อยู่ถึงปลายปี 2563 ก็ตาม  

 

ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

นับตั้งแต่มีการขอความร่วมมือในการสร้าง Social Distancing มาจนถึง Physical Distancing เพื่อความปลอดภัย ทำให้การออกมาดูโครงการถึงสถานที่จริงลดลงไปมาก ดังนั้นผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายรายจึงได้ปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ด้วยการนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าชมโครงการได้ในทุกรายละเอียด

โดยใช้ VDO Streaming หรือ Virtual Reality ที่ไม่ต้องมาถึงสถานที่จริงหรือสำนักงานขาย และสามารถเลือกเวลาเข้าชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงการพูดคุยกับฝ่ายขายผ่าน VDO Call หรือ Live Chat ได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งรองรับการขายได้ทั้งลูกค้าคนไทยรวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ไม่สะดวกในการเดินทางก็สามารถซื้อได้เช่นกัน

นอกจากการเข้าชมเว็บไซต์ของผู้ประกอบการหรือของโครงการเองโดยตรงแล้ว ยังมีการนำ Social Network และช่องทางอี-คอมเมิร์ซมาปรับใช้เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าในภาวะวิกฤตนี้ที่เลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์เป็นหลัก จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตหลังจากที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จบลง เราจะเห็นพฤติกรรมการซื้อ-ขายอสังหาฯ ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากขึ้น ช่องทางออนไลน์จะมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อกว่าที่ผ่านมาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ช่องทางขายอสังหาฯ ผ่านอี-คอมเมิร์ซอาจเป็นเพียงแค่กิมมิคทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเท่านั้น

 

บทสรุปตลาดอสังหาฯ หลังวิกฤตโควิด-19

จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index Q2 2563 พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ราคาและอุปทานลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยท้าทายหลายด้านทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ยังพบว่า ดัชนีราคาและอุปทานในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ยังคงลดลง โดยดัชนีราคาลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงถึง 9% ในรอบ 1 ปี ส่วนดัชนีอุปทานลดลงมาอยู่ระดับชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

สัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำนวนโครงการใหม่ของผู้ประกอบการ หรือโครงการบ้านมือสองจากฝั่งผู้บริโภคต่างลดน้อยลงในตลาด เนื่องจากมีการชะลอการนำสินค้าออกมาขายเพื่อรอผลตอบแทนที่ดีกว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ส่วนโครงการที่มีออกมาขายในตลาดแล้วต่างแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมต่างๆ จึงเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อที่มีความพร้อมที่จะได้บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมราคาไม่แพงมาไว้ครอบครอง หรือขยายพอร์ตการลงทุน เพื่อรับผลประโยชน์จากมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต

ในภาพรวมตลาดอสังหาฯ คงไม่สามารถกลับมาคึกคักได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องใช้เวลาปรับตัวเพื่อฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ เศรษฐกิจ และกำลังซื้อให้กลับมาดังเดิม แต่ไม่ว่าจะเจอวิกฤตหนักแค่ไหน เชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน

    บทความโดย DDproperty.com