Boardroom 4.0 : จาก “ครบองค์” สู่ “ครบเครื่อง” - Forbes Thailand

Boardroom 4.0 : จาก “ครบองค์” สู่ “ครบเครื่อง”

การบริหารธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน ที่เรียกกันว่ายุค 4.0 นั้นต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ การค้าและตลาดทุนโลก รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ทำให้เกิดกระแส disruption ส่งผลให้ธุรกิจหลายๆ ประเภทต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลง ให้ทันกับสถานการณ์

การปรับตัวที่ว่านี้ คณะกรรมการบริษัท หรือบอร์ด คือกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดในฐานะผู้กำหนดนโยบายขององค์กร ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามความท้าทายและแรงกระทบจาก disruption ที่เกิดขึ้น แต่อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ก็คือการตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ถือหุ้น ที่บางครั้งก็ไม่ได้มองไปไกลเกินกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น เราได้เห็นตัวอย่างของบริษัทระดับโลกมากมายที่ผู้บริหารถูกกดดันจากความคาดหวังถึงผลตอบแทนในระยะสั้นของนักลงทุน จนทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการสร้างผลกำไรระยะสั้นละเลยมิติของการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งทำให้ฐานะขององค์กรที่มีรากฐานมั่นคงมาอย่างยาวนานสั่นคลอนไปได้ ดังกรณีของ Volkswagen หรือ Wells Fargo ดังนั้น บอร์ดจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการตอบสนองต่อความคาดหวังในระยะสั้นของผู้ถือหุ้นและ disruption กับการสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวโดยบอร์ดต้องทำหน้าที่เหมือนกับเป็น “สติสัมปชัญญะ” ขององค์กร ที่คอยกำกับ และชักจูงให้องค์กรเดินไปในทิศทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบททางธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงเข้าใจ และบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ได้อย่างพอเหมาะพอสมด้วย การที่จะบริหารองค์กรอย่างสมดุล และมีประสิทธิภาพดังกล่าวข้างต้นได้นั้น บอร์ดต้องประกอบไปด้วยกรรมการที่มีคุณสมบัติ และทักษะที่แตกต่างกัน แต่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ สามาถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และมีเอกภาพ นอกจากนี้ บอร์ดยังต้องพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำหน้าที่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งขอใช้คำเรียกล้อกับยุค 4.0 ว่า Boardroom 4.0 ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1.Safeguard Culture: หมายถึง การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้กรรมการปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) มีระบบตรวจสอบที่รัดกุม มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายจัดการ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยไม่ปล่อยให้ผู้บริหารมุ่งสร้างผลตอบแทนระยะสั้นที่จะส่งผลเสียต่อองค์กรในระยะยาว 2.Embrace Purpose, Inspire Performance: บอร์ดต้องมีการสื่อสารกับคนในองค์กร ให้เข้าใจว่า purpose ขององค์กรคืออะไรและเหตุผลที่บอร์ดตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ นั้นยึดโยงกับ purpose ขององค์กรอย่างไร เพื่อให้พนักงานเข้าใจ purpose ขององค์กรอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กรร่วมผลักดันองค์กรไปตามแนวทางที่วางไว้ 3.Engage Stakeholders: การเป็นบอร์ดยุค 4.0 จะคำนึงถึงแต่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ การที่ธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการ และสร้างการยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยต้องยึดหลัก “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” แสวงหาจุดร่วมเชิงกลยุทธ์ซึ่งจะทำให้เกิดคุณค่าร่วม (shared value) ซึ่งจะกลายเป็นจุดขายสำคัญของธุรกิจที่เลียนแบบได้ยากเพื่อเป็นกำลังใจให้กับบอร์ดที่ได้พยายามพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล (CG) จนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บอร์ดของบริษัทอื่นๆ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จึงได้ริเริ่มการประกาศรางวัล Board of the Year Awards ขึ้นตั้งแต่ปี 2545 โดยมีการประกาศผลรางวัลเป็นประจำทุก 2 ปี และครั้งต่อไปจะประกาศผลในเดือนมิถุนายน 2562 อย่างไรก็ตาม รางวัล Board of the Year ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการค้นหากรณีตัวอย่างที่ควรเผยแพร่ เป้าหมายที่แท้จริงของ IOD อยู่ที่การส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของกรรมการบริษัทต่างๆ ในตลาดทุนด้วยการแบ่งบันประสบการณ์ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อบริษัทต่างๆ มีบอร์ดที่ดีมีคุณภาพแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนา CG อย่างยั่งยืน เป็นการสร้างความเข้มแข็งและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านการลงทุนให้กับตลาดทุนไทยในระยะยาวอีกด้วย   กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำานวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
ติดตามอ่านบทความทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2562 และติดตามได้ในรูปแบบ e-Magazine