การฝ่าวิกฤตโรคระบาดของกลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ไทย ต่างเร่งปรับตัวและหนีตายจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการบ้านจัดสรรอย่าง AP หรือกลุ่ม CPN ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่กำลังปรับตัวด้วยกลยุทธ์การนำความหลากหลายของโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม รวมถึงการสร้าง UHG รุกออนไลน์คู่กลยุทธ์มัดใจลูกค้า ดันอัตราเข้าพักโรงแรมพุ่ง 90%
ถอดรหัส “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ดัน AP สู่เบอร์ 1 อสังหาฯ “คนตื่นตระหนกเท่านั้นที่จะรอดตาย Only the paranoid survive.” คือประโยคจาก Andrew Stephen Grove ที่ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หยิบยกขึ้นมากล่าวเปิดฉากกับเพื่อนพนักงานในการประชุม Town Hall เพื่อตอกย้ำความสำเร็จขององค์กรตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และสิ่งที่กำลังจะเดินหน้าต่อไป หลังเปิดผลประกอบการครึ่งปีแรกประจำปี 2564 ของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การที่ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ซึ่งรั้งตำแหน่งเบอร์ 3 เบอร์ 4 มายาวนานสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกนับว่าสามารถเรียกกระแสความสนใจได้ไม่น้อย ท่ามกลางมรสุมต่างๆ ที่ยังหนักหน่วงทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การชะลอการตัดสินใจซื้อ และสินเชื่อแบงก์ที่ยังเข้มมาก อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AP ก้าวมาถึงเป้าหมายนี้ได้ในท่ามกลางวิกฤต อนุพงษ์ อัศวโภคิน กัปตันเรือแห่งค่าย AP กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมาก พัฒนาคน พัฒนาแนวคิดของคน เพื่อให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการภายในมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหม่ แม้จะไม่ได้เห็นผลทันตา แต่ความสำเร็จในวันนี้จากผลประกอบการในครึ่งปีแรกก็เป็นบทสะท้อนว่าบริษัทเดินมาถูกทาง ขณะที่ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในครึ่งปีแรกของปี 2564 ยังไม่ดีนัก แต่บริษัทสามารถสร้างยอดรับรู้รายได้ได้มากถึง 2.05 หมื่นล้านบาท กำไร 2.52 พันล้านบาท ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในแง่ของยอดรับรู้รายได้ และเป็นอันดับ 2 รองจากแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ในแง่กำไร แต่หากนับเฉพาะรายได้จากธุรกิจที่อยู่อาศัยแล้ว บริษัทเป็นอันดับ 1 ทั้งยอดรับรู้รายได้และกำไร รวมถึงการมีฐานการเงินที่แข็งแรงมาก จากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ โดยอยู่ที่ 0.61 เท่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า AP ยังเตรียมเงินซื้อที่ดินเพื่อลุยต่ออีก 1-1.2 หมื่นล้านบาท “เราอาจเป็นผู้ประกอบการที่ซื้อที่ดินเยอะที่สุดในตลาดแล้วเวลานี้ โดยยอดรับรู้รายได้ของเราในครึ่งปีแรก 2.05 หมื่นล้านบาทนับเป็น New High ของบริษัท และถ้าครึ่งปีหลังเราทำได้ดีเช่นเดิม คาดว่าจะสร้างยอดรับรู้รายได้ที่ 4.31 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นยอด New High เช่นกัน” ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากทีมผู้บริหาร แต่เกิดจากพนักงานทุกคนของบริษัทที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้เรือลำนี้สามารถแล่นฝ่ามรสุมที่หนักหนาในช่วงครึ่งปีแรกไปได้ ภายใต้เข็มทิศที่องค์กรได้วางไว้ สำหรับหัวใจสำคัญที่ทำให้ AP ประสบความสำเร็จ กัปตันอนุพงษ์มั่นใจว่ามาจากแกนหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศ นั่นคือ “Empower Living” หรือการมุ่งส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ โดยประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Independent Responsible Leaders สร้างผู้นำอิสระ ให้สิทธิ์ทีมงานได้มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ เพราะคนที่สัมผัสลูกค้าเท่านั้นที่จะรู้ว่าอะไรคือความสุขที่ลูกค้าอยากได้ Innovative Culture สร้างวัฒนธรรมองค์กรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้า ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งเกิดใหม่ แต่เป็นการผสมผสานสิ่งที่มีอยู่แล้วเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และ Everything Digital พลิกเกมธุรกิจ ทรานส์ฟอร์มทุกมิติด้วยดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมงานก่อสร้าง ระบบดูแลลูกค้า CRM จนถึงระบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง นั่นเป็น 3 กลยุทธ์ภายในองค์กรที่บริษัทเตรียมพร้อมรับมือทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น ขณะที่หากวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกองค์กรที่สร้างโอกาสให้กับ AP ก็คือคู่แข่งในตลาดหายไป สะท้อนจากภาพรวมการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในครึ่งปีแรกที่ลดลงมากถึงร้อยละ 26 แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว เปิดตัวใหม่ติดลบร้อยละ 36 ทาวน์เฮาส์ เปิดตัวใหม่ติดลบร้อยละ 39 คอนโดมิเนียม เปิดตัวใหม่ติดลบร้อยละ 3.1 ซึ่งติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ติดลบไปแล้วมากกว่าร้อยละ 60 ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายใดจะคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ ซึ่งบริษัทมองเห็นโอกาสจากการที่คู่แข่งในตลาดน้อยลง จากการที่รายเล็กรายกลางชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ด้วยเพราะหลายปัจจัยจากการที่แบงก์เข้มกับการปล่อยสินเชื่อโครงการ หรือแม้แต่ต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกันก็เป็นจุดที่ทำให้ AP ได้เปรียบในการพร้อมลุยต่อ เรื่อง : ธนิษฐ์ศิกานต์ ศสินฆ์ฉัฒทภูมิ ภาพ : บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดกลยุทธ์ CPN บิ๊กค้าปลีกไทย ขยายพอร์ตแกร่งฝ่าวิกฤต วงการค้าปลีกไทยถูกผลักให้ต้องปรับทิศทางและกลยุทธ์ธุรกิจอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในรอบนี้เมื่อคลื่นวิกฤตโควิด-19 ปะทะเข้ามา ธุรกิจค้าปลีกได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการจำกัดเวลาเปิด-ปิด การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ชั่วคราว จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องงัดกลยุทธ์ธุรกิจที่มีอยู่ออกมาใช้เพื่อให้อยู่รอดในวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจนคือ CPN เบอร์ 1 ในวงการค้าปลีกซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-use Development) โดยปัจจุบันบริหารศูนย์การค้าแบรนด์เซ็นทรัล 34 แห่ง พื้นที่ให้เช่ารวม 1.8 ล้านตารางเมตร ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 15 แห่ง ต่างจังหวัด 18 แห่ง และมาเลเซีย 1 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศูนย์อาหาร อาคารสำนักงาน โรงแรม และที่อยู่อาศัยอีกจำนวนหนึ่ง สร้างรายได้รวมกันมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี หากพิจารณาจากพอร์ตธุรกิจของ CPN พบว่าล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การกระจายของพอร์ตธุรกิจที่อยู่ในหลายพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมและปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างรวดเร็วทำให้ผลการดำเนินงานของ CPN ในช่วงที่ผ่านมายังเติบโตต่อเนื่อง ณัฐกิตติ์ ตั้งพลูสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN คีย์แมนคนสำคัญมองโควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ซึ่งต้องวางแผนและเตรียมการล่วงหน้าเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น Best Case, Base Case และ Worst Case ด้วยการทำงานของทีมงานทั้งเชิงรุก (Proactive) และเชิงรับ (Re-active) ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกโปรแกรมการตลาดต่างๆ ที่ทำได้เร็วขึ้น จากปกติใช้เวลา 1 ปี ก็ออกมาได้ภายใน 1-2 เดือน ทั้งยังเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรับมือได้ในทุกสถานการณ์จากทีมงานที่แข็งแกร่ง ณัฐกิตติ์กล่าวว่า แม้ โควิด-19 จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มชินกับการใช้เทคโนโลยีและเปลี่ยนไปใช้บริการชอปปิงออนไลน์มากขึ้น แต่การไปศูนย์การค้ายังคงเป็น “Most Admired Meeting Space” ซึ่งเป็นจุดนัดพบของผู้คนและเป็นช่องทางหลักของคนไทยที่ต้องการการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ดังนั้นบริษัทจึงกำหนดกลยุทธ์การ เป็น Center of Life คือศูนย์การค้าที่เป็นมากกว่าสถานที่ที่คนมาซื้อของ แต่เป็นสถานที่ที่คนมาใช้ชีวิต ทำงาน ออกกำลังกาย พบปะ นันทนาการ พร้อมทั้งเป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจและหาประสบการณ์ใหม่ นอกจากนั้นบริษัทยังวางกลยุทธ์ต่อมาที่การก้าวเข้าสู่ Omni Channel อย่างเต็มตัว โดยเร่งพัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า มีการเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผ่านบริการ Chat & Shop ใน LINE Official และ Live Streaming ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบ Direct-to-Consumer (D2C) เพื่อเข้าใจความต้องการของลูกค้าและเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าได้แบบรายบุคคล (Personalized) ส่วนกลยุทธ์สุดท้ายมุ่งเน้นที่การกระจายการลงทุนไปสู่ธุรกิจต่างๆ และเสริมสร้างความยั่งยืน (Diversified and Sustainable Business) เช่น เพิ่มเติมพอร์ตโครงการที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ โรงแรม คอมมูนิตีมอลล์ เป็นต้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ศูนย์การค้า และการพัฒนาศูนย์การค้ารวมถึงธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม “จากกลยุทธ์ของ CPN บริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดหน้าร้านเชื่อมต่อกับผู้บริโภคตามแผนการลงทุน” ณัฐกิตติ์กล่าว และขยายความถึงยอดการใช้จ่ายต่อหัวในศูนย์การค้าในปัจจุบันว่ายังคงมาจากช่องทางออฟไลน์มากกว่าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าพรีเมียมและราคาสูง เนื่องจากลูกค้าต้องการมั่นใจจึงเลือกซื้อสินค้าจากหน้าร้านออฟไลน์มากกว่า นอกจากนี้บริษัทยังศึกษาโอกาสการลงทุนธุรกิจในรูปแบบอื่น เช่น การเข้าซื้อกิจการ โดยล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพในธุรกิจของ SF ที่จะมาช่วยเสริมการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ และเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตการลงทุนให้แก่บริษัท ในปัจจุบัน SF มีโครงการที่เปิดดำเนินการอยู่ 18 โครงการ พื้นที่เช่ารวม 430,000 ตารางเมตร เช่น ศูนย์การค้าเมกาบางนา เจ อเวนิว ทองหล่อ ลา วิลล่า พหลโยธิน ดิ อเวนิว รัชโยธิน เอสพละนาด รัชดาภิเษก เป็นต้น โดยโครงการเหล่านี้สามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้ทันที พร้อมศึกษาการลงทุนในต่างประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม รวมถึงศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เพื่อขยายช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พอร์ตธุรกิจแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งยังจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน และมีกันชนรองรับความเสี่ยงที่เข้ามากระทบธุรกิจในอนาคตได้ เรื่อง : จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์ ภาพ : บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) UHG รุกออนไลน์คู่กลยุทธ์มัดใจลูกค้า ดันอัตราเข้าพักโรงแรมพุ่ง 90% อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมทั่วโลกเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดเท่าที่โลกเคยพบวิกฤตมา แม้ UHG จะเป็นกลุ่มโรงแรมน้องใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการต่อยอดกิจการครอบครัวโดยรีโนเวตเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์และอาคารสำนักงานให้เช่าย่านสยามสแควร์ในปี 2553 แต่โมเดลการขยายธุรกิจที่เน้นการเช่าที่ดินมาพัฒนา หรือเช่าโรงแรมและอะพาร์ตเมนต์มาปรับปรุงและดำเนินการต่อ ตลอดจนการพัฒนาโครงการ Mixed-use รวมทั้งกลยุทธ์ต่างๆ ที่ได้นำมาใช้หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ UHG ในวันนี้ที่มีพอร์ตส่วนใหญ่เป็นโรงแรมยังสามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจต่อได้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด วุฒิพล ถาวรธวัช กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทในเครือ UHG กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในช่วงกลางปีนี้ว่า ถือว่าหนักที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดภายในประเทศเมื่อปีที่แล้ว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมาก ส่งผลให้เกิดความกังวลและความระมัดระวัง รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลงเพราะโดนกระทบจาก โควิด-19 เป็นระยะเวลาปีกว่า ซึ่งธุรกิจโรงแรมนับเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในวิกฤตครั้งนี้ “กลยุทธ์ของเรายังคงเน้นเรื่องความปลอดภัยในการมาใช้บริการที่โรงแรมเป็นอันดับ 1 โรงแรมของเราได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข หรือ Safety & Health Administration (SHA) ครบทุกแห่ง พนักงานกว่า 95% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และทุกโรงแรมมีเครื่อง UVC สำหรับฆ่าเชื้อในห้องอาหารและในห้องพักหลังแขกเช็กเอาต์” ปัจจุบัน UHG มีโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง ได้แก่ Evergreen Place Siam จำนวน 161 ห้อง ซึ่งรีโนเวตจากเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ที่เป็นธุรกิจเดิมของครอบครัว โดยเปิดบริการใหม่ในปี 2555 ก่อนต่อยอดสู่แห่งที่ 2 ในปีถัดมา คือ Asoke Residence Sukhumvit จำนวน 79 ห้อง และ Alt Nana จำนวน 67 ห้อง รวมทั้ง The Residence on Thonglor จำนวน 104 ห้อง ในปี 2557 และ 2558 ในปี 2562 UHG เปิดแบรนด์ใหม่ The Quarter ใน 3 ทำเล ได้แก่ The Quarter Ari จำนวน 180 ห้อง The Quarter Ladprao จำนวน 194 ห้อง และ The Quarter Phromphong จำนวน 88 ห้อง และอีก 3 แห่งในปี 2563 คือ The Quarter Hualamphong จำนวน 150 ห้อง The Quarter Ploenchit จำนวน 113 ห้อง และ The Quarter Silom จำนวน 148 ห้อง ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ยังเช่ากิจการโรงแรมย่านศาลาแดงมารีโนเวตและเปิดบริการต่อภายใต้ชื่อ Siri Sathorn Bangkok อีก 167 ห้อง และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมายังเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ The Quarter Onnut จำนวน 88 ห้อง และ The Quart Ruamrudee จำนวน 149 ห้อง หลังจากบริษัทใช้กลยุทธ์นี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา มีลูกค้าเช่ารายเดือนถึงร้อยละ 10 ซึ่งทำเลยอดนิยม ได้แก่ ศาลาแดง พร้อมพงษ์ ทองหล่อ และอารีย์ โดยเป็นคนไทยร้อยละ 70 และคนต่างชาติร้อยละ 30 วุฒิพลกล่าวว่า ปัจจุบัน Online Travel Agent เช่น Agoda, Expedia และ Booking ยังคงเป็นช่องทางหลักในการขาย เพราะผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบข้อเสนอของโรงแรมได้ โดยช่องทางนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 รองลงมาเป็นลูกค้าองค์กรและสถานทูตที่เซลส์ดูแลโดยตรงที่สัดส่วนร้อยละ 20 การขายตรงผ่านโทรศัพท์และอีเมลร้อยละ 15 การขายผ่าน LINE อีกร้อยละ 15 ผ่านโซเชียลมีเดียร้อยละ 10 และลูกค้าเช่ารายเดือนอีกร้อยละ 10 “การทำราคาที่ดึงดูดช่วยดึงลูกค้าได้มาก ในช่วงสถานการณ์ไม่ดีที่ลูกค้าน้อยและการแข่งขันสูง ลูกค้าต้องการความคุ้มค่าและราคาที่เอื้อมถึง เห็นราคาแล้วตัดสินใจได้ง่าย แม้จะได้ ADR น้อย แต่โดยรวมแล้วเราได้กระแสเงินสดเข้ามาหล่อเลี้ยงพนักงานและบริษัท” วุฒิพลกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแนวโน้มของธุรกิจโรงแรม กรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะมีสิ่งที่ชาวมิลเลนเนียลให้ความสำคัญ เช่น การเดินทางสะดวก ความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยว เช่น วัฒนธรรม อาหาร กิจกรรมยามค่ำคืน ความคุ้มค่า เงิน ความปลอดภัย ภูมิอากาศที่ไม่หนาวมากหรือฝนตกชุก โดยคาดว่าปลายไตรมาสที่ 1 ถึงต้นไตรมาสที่ 2 ในปี 2565 การท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกได้ลองผิดลองถูกกับเรื่องโควิด-19 เรื่อง : นฐ ดิลกวิพัฒน์ ภาพ : UHG อ่านเพิ่มเติม: ดุสิตธานี เทียนมู่ เมาน์เท่น หางโจว พร้อมรุกแดนมังกรคลิกอ่านฉบับเต็ม ได้ที่นิตยสาร ForbesLife Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine