อย่าทำเสียเรื่อง... ‘ค่าเงินอ่อนตัว’ และ ‘กีดกันการค้า’ สองประสานพังเศรษฐกิจสหรัฐฯ - Forbes Thailand

อย่าทำเสียเรื่อง... ‘ค่าเงินอ่อนตัว’ และ ‘กีดกันการค้า’ สองประสานพังเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาคือค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนแอและมาตรการกีดกันทางการค้า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบายมักโดนดึงดูดให้ดำเนินการตาม 2 แนวทางนี้และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นความเสียหายทางการเมืองที่ไม่น่าอภิรมย์ ทว่าทีมรัฐบาล Trump บางรายยังคิดอยากเสี่ยงเล่นกับไฟ

เงินดอลลาร์ 

ประเทศมหาอำนาจกับสกุลเงินที่อ่อนแอดูเป็นเรื่องสวนทางกัน อย่างไรก็ตาม Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องการลดค่าเงินดอลลาร์และให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยซึ่งเขาน่าจะยังไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดี อเมริกาโชคยังดีที่ประธานาธิบดี Trump ออกมาประกาศจุดยืนในทิศทางตรงข้ามโดยทันที แต่ความจริงที่ว่า Mnuchin และกระทรวงการคลังต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ  Mnuchin หลงอยู่ในความเชื่อแบบผิดๆ ว่าการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจะช่วยหนุนการส่งออกของสหรัฐฯ และนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การมีแนวคิดที่ไม่ถูกต้องและเสี่ยงต่อหายนะชี้ให้เห็นว่าเขาไม่ได้พยายามเรียนรู้เหตุการณ์ตัวอย่างในอดีต ความจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้คือ ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกที่สามารถก้าวสู่ความยิ่งใหญ่และรักษาความยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการลดค่าเงินของประเทศตน ดังเห็นได้จากประเทศบราซิล อาร์เจนตินา และซิมบับเว รวมถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิโรมันที่เคยครองความยิ่งใหญ่แต่กลับล่มสลายเมื่อเงินเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ จากการแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่ผิดพลาด ดังนั้น Mnuchin ควรย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวในอดีตให้ดี 
Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ผู้สนับสนุนแนวคิดให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวเพื่อส่งเสริมการส่งออกของสหรัฐอเมริกา (Photo Credit: bloomberg.com)
สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ Mnuchin ในฐานะรัฐมนตรีคลังฯ ไม่ยอมเรียนรู้ถึงความผิดพลาดในอดีต สิ่งที่ Nixon, Mnuchin และผู้ที่มีแนวคิดเดียวกันไม่เคยเข้าใจ คือ เงินกับความมั่งคั่งคือคนละเรื่องเดียวกัน  เงินใช้ในการ “วัด” มูลค่า ในทำนองเดียวกับที่นาฬิกาเป็นตัวบ่งบอกเวลาและตราชั่งใช้วัดน้ำหนัก ลองจินตนาการดูว่าการทำอาหารจะยุ่งยากแค่ไหน หากมาตรฐานหน่วยวัดถ้วยตวงหรือช้อนชาเปลี่ยนไปทุกวันซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินทำให้ธุรกิจการค้าและการลงทุนเกิดความไม่แน่นอนและส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่เป็นระบบที่อิงอยู่กับความเชื่อถือ เช่นเดียวกับบัตรเข้าชมงาน ตั๋วเข้าชมไม่มีมูลค่าใดๆ แต่สามารถใช้เป็นตัวกลางเพื่อแลกกับบริการ  การลดค่าเงินดอลลาร์ไม่ต่างจากการโกงน้ำหนัก เหมือนคุณจ่ายเงินซื้อชีส 1 ปอนด์แต่ได้มาเพียง 12 ออนซ์แทนที่จะเป็น 16 ออนซ์ นอกจากนี้ยังทำให้การดำเนินธุรกิจทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกซับซ้อนขึ้นไปอีก ท้ายสุดคุณอาจต้องควักกระเป๋าจ่าย 15 เหรียญเพื่อแลกกับสินค้าที่ควรมีราคาแค่ 10 เหรียญ บริษัทต่างๆ จะต้องระดมสมองและทุ่มทรัพยากรเพื่อคิดคำนวณวิธีในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวถ่วงการเติบโตของธุรกิจ  

การกีดกันทางการค้า 

ประเทศขาดดุลการค้า? สิ่งนี้ไม่ได้บ่งบอกอะไรเลย สหรัฐฯ เผชิญกับตัวเลขขาดดุลการค้ามาแต่ไหนแต่ไร ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือเงินทุนเพื่อการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ขณะนี้กระแสเงินกำลังไหลกลับเข้าตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากนโยบายปฏิรูปภาษีของ Trump การปรับเปลี่ยนข้อตกลงทางการค้าอย่างเช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การยกเลิกหรือพยายามควบคุมข้อตกลงให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เช่น การบีบบังคับให้บริษัทย้ายโรงงานกลับไปยังสหรัฐฯ นั้นนับเป็นคนละเรื่อง
การบีบให้บริษัทสหรัฐฯ ย้ายโรงงานกลับประเทศ หรือกีดกันบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ดูเหมือนจะไม่ใช่นโยบายที่ดีในการผลักดันเศรษฐกิจ
ยังรวมถึงนโยบายการค้าที่ไม่โปร่งใส เช่น การกีดกันบริษัทต่างชาติในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอย่างไม่เป็นธรรมหรือบังคับให้ต้องร่วมทุนกับธุรกิจเทคโนโลยีภาครัฐของจีน รวมถึงการขโมยข้อมูลและล้วงความลับทางการค้าด้วยการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศควรทำให้อุปสรรคทางการค้าลดลงไม่ใช่ยิ่งทำให้กำแพงสูงขึ้นด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าหรือออกนโยบายเพื่อขัดขวางการนำเข้า แต่ก็ยังไม่เลวร้ายไปเสียทั้งหมดเพราะนโยบายภาษีฉบับใหม่น่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ทว่าเราไม่ควรจบลงด้วยการ “ปล่อยโอกาสการทำเงินหลุดมือ” จากการสูญเสียช่องทางการเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพ ที่สำคัญกว่านั้น อเมริกาต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามการค้าดังเช่นที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1930 ซึ่งอเมริกาได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสำหรับสินค้าหลายพันชนิด จากนั้นสงครามการค้าจึงได้ปะทุขึ้นและตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่  
STEVES FORBES,EDITOR-IN-CHIEF เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
 
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine