ปี 2020 การขยับตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฉีกเป็น 2 ส่วน เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับประสิทธิภาพการผลิตและอัตราการขยายตัวที่ลดลง การเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปีถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ มีแนวโน้มที่จะได้สภาเสียงแตก ทำให้การผ่านร่างกฎหมายหรือนโยบายไม่ราบรื่น นำไปสู่ความเชื่องช้าของการลงทุนในโครงการสำคัญ
อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินยังอยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลาย จากความเห็นนักวิเคราะห์ที่รวบรวมโดยสำนักข่าว Bloomberg มีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดทั้ง ปี 2020 เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีเลือกตั้ง
ขณะที่อีกฟากหนึ่งคือ กลุ่มประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน เพราะได้แรงหนุนจากการบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่จะช่วยให้บรรยากาศและปริมาณการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น ส่งผลบวกโดยเฉพาะต่อกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่พึ่งพาการส่งออก ประกอบกับแรงขับเคลื่อนที่เป็นกำลังเสริมในประเทศสำคัญๆ ได้แก่ ปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้อย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรก ชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมลดความไม่แน่นอนของ Brexit และความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจยุโรป รวมทั้งความเป็นไปได้ที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์จะลุกขึ้นมาใช้นโยบายทางการคลังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
เศรษฐกิจโลกจะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ต่อ แต่เติบโตได้ไม่มาก หนี้ภาครัฐที่พอกพูนทำให้การใช้จ่ายทางการคลังมีข้อจำกัด เป้าหมายธนาคารกลางทั่วโลกยังเน้นไปที่การผ่อนคลายทั้งคงหรือลดดอกเบี้ย รวมทั้งการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่ม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างจำกัด ในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ ธุรกิจที่แข่งขันได้จะอยู่รอดและเติบโตได้ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรม แต่กำไรไม่น่าจะก้าวกระโดดมาก คำถามคือ ในภาวการณ์อย่างนี้ นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์อย่างไร
ทางเลือกข้อแรกคือ ถือเงินสดให้น้อย เพราะเงินสดไม่สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ มีแต่จะเสื่อมมูลค่าลง จะช้าหรือเร็วก็เป็นไปตามเงินเฟ้อ ความเสี่ยงที่ราคาสินทรัพย์ทุกชนิดจะพร้อมใจกันปรับลดลงดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2018 น่าจะมีน้อย ดังนั้น การนำเงินสดไปกระจายลงทุนให้หลากหลายจะสร้างประโยชน์ให้พอร์ตลงทุนได้ดีกว่า
ข้อสอง เพิ่มสินทรัพย์และสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง และแนวทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คงดอกเบี้ยไว้ต่ำ จะฉุดให้ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า เป็นโอกาสของสกุลเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีฐานะการคลังแข็งแรง นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้น นโยบายการเงินและการคลังที่เกื้อหนุน ตลอดจนพัฒนาการทางการค้าโลกที่ดีขึ้น จะช่วยส่งเสริมตลาดทุนของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นได้อานิสงส์โดยตรงผ่านการเติบโตในกำไรของบริษัทจดทะเบียน ส่วนตลาดตราสารหนี้ พันธบัตรและหุ้นกู้ทั้งกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือดี (Investment Grade) และกลุ่ม High Yield จะดึงดูดนักลงทุนด้วยระดับดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่จะหาได้ในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
ข้อที่สาม การพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทนอกตลาด (Private Equity) และอสังหาริมทรัพย์ (Private Real Estate) นอกจากจะสร้างผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว จะช่วยลดความตื่นตระหนกของนักลงทุนในช่วงที่ตลาดอ่อนไหว และราคาสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ผันผวนหนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์นอกตลาดมักเป็นไปตามมูลค่าพื้นฐานมากกว่าผลกระทบทางจิตวิทยาดังเช่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์นอกตลาดต้องการระยะเวลาลงทุนยาว สภาพคล่องน้อย รวมทั้งไม่มีข้อมูลแพร่หลาย ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ควรใช้มืออาชีพมาวิเคราะห์ กลั่นกรอง ลงทุน และติดตามผลให้
สำหรับพันธบัตรที่สร้างผลตอบแทนที่ดีตลอดทั้งปี 2019 เสน่ห์จะเริ่มลดลงบ้างในปี 2020 เพราะพัฒนาการทางการค้าและการเมือง รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่จะออกมา มีแนวโน้มไปทางป้องกันความเสี่ยงต่อวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง จึงสนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่า ดังนั้น นักลงทุนควรลดสัดส่วนพันธบัตรลงบ้าง แต่อย่าขายทำกำไรออกทั้งหมด เพราะพอร์ตลงทุนยังต้องการพันธบัตรในบทบาทของการกระจายความเสี่ยง เพราะแม้เศรษฐกิจโลกจะเลี่ยงวิกฤตได้อีกครั้ง แต่ยังอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรการเติบโต (Late Cycle) เช่นเดิม ราคาสินทรัพย์พร้อมจะสั่นไหวตามข้อมูลข่าวสารที่เข้ามากระทบ ดังนั้น การลงทุนแบบระมัดระวัง ที่มีความคล่องตัวในการสับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ยังเป็นสิ่งจำเป็น
อ่านเพิ่มเติมไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine