บทบาทประเทศไทยในลุ่มแม่น้ำโขง - Forbes Thailand

บทบาทประเทศไทยในลุ่มแม่น้ำโขง

ในปี 2562 ประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งถูกจัดตั้งในช่วงสงครามเย็น โดยมีจุดประสงค์ด้านการเมืองระหว่างประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ 

ภายหลังการสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518 ASEAN จึงได้เปลี่ยนจุดประสงค์หลักเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งปี 2558 จึงได้จัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขึ้น แต่ทว่ายังไม่มีความคืบหน้าตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หากแต่ได้ริเริ่มนโยบายการขยายไปสู่ ASEAN +6 หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ได้แก่ สมาชิก ASEAN บวกด้วยประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในปี 2559 โดยการริเริ่มของสหรัฐอเมริกา มีการเจรจาจัดตั้งองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจครอบคลุมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ TPP (Trans Pacific Partnership) แต่การจัดตั้ง TPP ได้สะดุดลงอย่างไม่คาดคิดเมื่อสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดี Trump ได้ถอนตัวออก ญี่ปุ่นกับออสเตรเลียกลายเป็นผู้นำหลักแทนและปรับเปลี่ยนจาก TPP เป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans Pacific Partnership) โดยมีสมาชิกเดิมของ TPP ยกเว้นสหรัฐฯ เข้าร่วม  ประเทศไทยที่ไม่ได้เข้าร่วม TPP น่าจะพิจารณาเข้าร่วม CPTPP มิฉะนั้นอาจจะเสียเปรียบต่อเวียดนาม ซึ่งนอกจากอยู่ในกลุ่มเดิมของ TPP แล้ว ยังมีสนธิสัญญาเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับสหภาพยุโรปด้วย ทั้ง RCEP และ CPTPP รวมทั้ง ASEAN ยังมีเป้าหมายและการดำเนินการที่ห่างไกลจากสหภาพยุโรป สำหรับประเทศไทย เป็นสมาชิกก่อตั้ง ASEAN และ RCEP และให้ความสนับสนุนมาตลอด ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ให้ความสนใจความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในปี 2535 โดยการริเริ่มของ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้มีการจัดตั้ง GMS (Greater Mekong Sub Regional Economic Cooperation) ขึ้นโดยมีสมาชิก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม  ญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ADB ดังนั้น GMS ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประเทศญี่ปุ่น ในระยะเริ่มต้นได้เน้นเรื่อง infrastructure เป็นเรื่องสำคัญ โดยการริเริ่มเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) เพื่ออำนวยความสะดวกในเส้นทางการค้าและการลงทุน ระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่  ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จากเมือง Da Nang เวียดนาม ผ่านลาวที่ Savannakhet และผ่านไทยมุกดาหาร ไปสู่เมือง Mawlumyine ในเมียนมา ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เชื่อม Kunming ในจีน ผ่านประเทศลาว เข้าสู่เชียงรายในประเทศไทย นอกจากระเบียงเศรษฐกิจแล้วยังมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างไทยและลาว 4 แห่ง รวมทั้งการวางแผนขยายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกเข้าสู่ Dawei ในเมียนมา และสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Dawei 
เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และเส้นทาง ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (photo credit: www.rtic-thai.info)
หากโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ Dawei สำเร็จ จะสามารถเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่ท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบังในไทย ทำให้เกิดเป็น Trading Route ที่สำคัญในอนุภูมิภาค ต่อมามีการริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคคู่ขนานกับ GMS โดยประเทศที่มีนโยบายขยายการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มากขึ้น เท่าเทียมกับญี่ปุ่น มีการจัดตั้ง Lanchang-Mekong Partnership Plan โดยการริเริ่มของจีนซึ่งเห็นว่าญี่ปุ่นมีความสำคัญใน GMS มากกว่าจีน มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ เช่นเดียวกับ GMS  ประเทศญี่ปุ่นเองก็เพิ่มความสำคัญความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง โดยริเริ่มจัดตั้ง Mekong-Japan Action Plan เป็นการเสริม GMS โดยไม่มีจีน ต่อมาเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ลงทุนใหม่ในลุ่มแม่น้ำโขง ได้จัดตั้ง Korea-Mekong Action Plan ขึ้นในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยไม่มีจีนเช่นกัน  ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้ผลักดันจัดตั้งกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) โดยอาศัยฐานของ ACMECS (Ayeyawadee - Chao Phraya - Mekong Economic Corporation Strategy) ซึ่งประเทศไทยได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 2547 ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องอาศัยนโยบายผลักดันความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ GMS และต้องรักษาความเป็นสมาชิกชั้นแนวหน้าของกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN  ความได้เปรียบของประเทศไทยใน GMS ก็คือเป็นตัวเชื่อมระหว่างจีนกับ CLMVT โดยประเทศไทยมีความรู้ความชำนาญด้านเศรษฐกิจเปิดแบบเสรีนิยมมากกว่า CLMV และรวมทั้งจีนด้วย พร้อมทั้งมี infrastructure ที่เพียงพอ และมีเครือข่ายระเบียงเศรษฐกิจที่หลากหลาย หากจะเปรียบ ASEAN เป็นตัวถังรถยนต์ของประเทศไทย GMS ก็น่าจะเป็นเครื่องยนต์ ส่วน ACMECS (CLMVT) ก็น่าที่จะเปรียบเสมือนอะไหล่เครื่องยนต์
ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกิตติมศักดิ์สภาธุรกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
 
คลิกอ่านบทความธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand เดือนสิงหาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine