ทำไมนโยบายด้านการดูแลสุขภาพของรีพับลิกันถึงไม่โดนใจคนอเมริกัน - Forbes Thailand

ทำไมนโยบายด้านการดูแลสุขภาพของรีพับลิกันถึงไม่โดนใจคนอเมริกัน

ทำไมสมาชิกสภาผู้แทนจากพรรครีพับลิกันถึงมัวแต่งุ่นง่านไม่รีบยกเลิก Obamacare และนำนโยบายใหม่ด้านการดูแลสุขภาพประชาชนอเมริกันมาใช้แทนสักที?

ทำไมสังคมถึงได้ตั้งแง่กับนโยบายด้านนี้ของพรรครีพับลิกัน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้พรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งจนคุมเสียงส่วนใหญ่ได้ทั้งในสภาสูง สภาล่าง และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบล่าสุดด้วย? จะว่าไปแล้ว กฎหมายฉบับนี้ถูกนำออกมาใช้นานกว่าเจ็ดปีแล้ว และก็เป็นนโยบายที่ถูกประชาชนก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่มาตั้งแต่เมื่อเริ่มนำออกมาใช้เสียด้วยซ้ำ คำตอบก็คือ พรรครีพับลิกันพลาดอย่างแรงที่ปล่อยให้คู่แข่งทางการเมืองอย่างพรรคเดโมแครตเป็นคนคุมเกมในเรื่องนี้ไปได้ อยู่ดีๆ เรื่องนี้ก็ถูกพลิกประเด็นไปกลายเป็นว่าประชาชนชาวอเมริกันนับล้านๆ คนจะต้องสูญเสียสิทธิ์ประกันตนในการรักษาพยาบาลไป ซึ่งในภาวะนี้ ประชาชนปักใจไปแล้วว่านโยบายเรื่องนี้ของรัฐบาลพรรครีพับลิกันจะต้องแย่กว่าของเดิมแน่ๆ ส่วนจะแย่กว่าแค่ไหนนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้น ภาพที่ประชาชนอเมริกันมโนกันไว้ก็คือ บรรดาคนเจ็บคนป่วยจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการรัฐเหมือนที่เคยได้ก่อนหน้านี้ และต้องไปแออัดยัดเยียดกันอยู่หน้าห้องฉุกเฉินด้วยความหวังว่าจะได้รับการรักษา
พรรครีพับลิกันภายใต้การนำของ Donald Trump ดำเนินแผนผิดพลาดในการยกเลิก Obamacare หลังจากปล่อยให้พรรคเดโมแครตสร้างกระแสต่อต้านการยกเลิกในหมู่ประชาชนอเมริกัน
การที่พรรครีพับลิกันพร่ำเพ้อกับการที่จะดึงเม็ดเงินนับแสนล้านเหรียญออกมาจากโครงการ Medicaid เพื่อเอาไป “ใช้จ่าย” แทนเม็ดเงินที่หายไปจากการลดภาษีให้กับเหล่าผู้มีอันจะกิน ก็ยิ่งตอกย้ำภาพพจน์ในสายตาของประชาชนชาวอเมริกันว่า ถึงแม้ Obamacare จะแย่สักแค่ไหน แต่มันก็น่าจะยังดีเสียกว่าแผนอะไรก็ตามที่รัฐบาลรีพับลิกันจะเข็นออกมา ซึ่งความรู้สึกร่วมของสังคมอเมริกันในยามนี้ก็คือ อยากให้มีการพยายามแก้ไขส่วนที่แย่ๆ ของ Obamacareเท่าที่จะทำได้ มากกว่าที่จะลอยแพเพื่อนร่วมชาติจำนวนนับล้านๆ คน เมื่อถึงจุดนี้ พรรครีพับลิกันถูกมองว่าเป็นพรรคขี้ตืดไปเสียแล้ว ถึงแม้ว่าข้อกล่าวหาที่พรรคเดโมแครตใช้โจมตีรัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่ไร้สาระ แต่มันก็เป็นประเด็นที่คาใจประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นเรื่องการ “ทำแต้ม” ของสำนักงบประมาณสภาคองเกรส ซึ่งเต็มไปด้วยพวกเสรีนิยมซ้ายจัดที่ได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยที่พรรคเดโมแครตยังเรืองอำนาจ (และพรรครีพับลิกันก็ไม่ได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารสำนักตอนที่เข้ามาเป็นรัฐบาล) ดังนั้น เราจึงเห็นกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของสภา และกฎหมายที่เสนอโดยกลุ่มผู้นำในวุฒิสภาซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านเหรียญเพื่อดูแลประชาชนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การที่ Obama พยายามขยายโครงการ Medicaid และการใช้งบของรัฐบาลกลางก้อนโตซึ่งเป็นเหมือนการติดสินบนให้รัฐต่างๆ ให้ความเห็นชอบกับนโยบายของรัฐบาลเดโมแครต (ครอบคลุมเต็ม 100% จนถึงปี 2016 และค่อยๆ ลดลงจนเหลือแค่ 90% ภายในปี 2020) ทำให้เรื่องนี้ไม่ถูกโจมตีมากนักจากบรรดาวุฒิสมาชิกซึ่งมีบทบาทในการร่างกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องนี้ พรรคเดโมแครตยังประสบความสำเร็จในการดึงพวกผู้ว่าการรัฐประเภทอีแอบ (สังกัดพรรครีพับลิกันแต่เพียงในนาม) ให้พูดยุยงโจมตีนโยบายของพรรครีพับลิกัน
Barack Obama อดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
อันที่จริงนโยบาย Medicaid ถือเป็นนโยบายการประกันสุขภาพที่ออกแบบมาได้แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีการนำมาใช้โดยรัฐบาลค่ายโลกเสรีเลยก็ว่าได้ มันเป็นโครงการที่ใช้จ่ายงบประมาณแบบบานปลายไม่สิ้นสุด ในขณะที่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับจริงนั้นแสนจะแย่ มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะพลิกสถานการณ์ในเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ นั่นคือ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ว่าการของแต่ละรัฐออกแบบการปฏิรูปนโยบายการประกันสุขภาพเพื่อเพิ่มความครอบคลุมให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบัน 30% ของจำนวนแพทย์ทั้งหมดปฏิเสธที่จะรับรักษาคนไข้ใหม่ที่ใช้สิทธิ์ Medicaid เพราะเบิกเงินคืนได้น้อยแถมยังล่าช้าหลายเดือน Rhode Island และ Indiana กับอีกบางรัฐได้เริ่มเดินหน้าเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางนี้แล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการที่จะผ่านความเห็นชอบตามระบบราชการที่มีขั้นตอนมากมายและต้องใช้เวลา ก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดลงมติของวุฒิสมาชิกเพียงแค่ไม่กี่วัน ทำเนียบขาวได้จัดงานที่มีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากนโยบาย Obamacare มาร่วมงานด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมีคนแบบนี้มากมายนับได้เป็นล้านคน แต่กลับไม่ได้มีการโหมข่าว หรือกระจายข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียให้ผู้คนได้รับรู้ และประโคมข่าวว่าพรรครีพับลิกันจะทำยังไงให้ดีกว่านโยบายเดิม การทำสงคราม PR จบลงตั้งแต่ยังไม่เริ่ม และก็อย่าไปตั้งความหวังมากนักว่าพรรครีพับลิกันจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ในอนาคต   STEVE FORBES Editor-in-Chief แห่ง Forbes