ตลาดหุ้นทั่วโลก คาดหวังสูง สวนทางตัวเลขเศรษฐกิจตกต่ำ - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นทั่วโลก คาดหวังสูง สวนทางตัวเลขเศรษฐกิจตกต่ำ

ภาพรวม ตลาดหุ้นทั่วโลก ฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งฟื้นตัวขึ้นราว 10% และตลาดหุ้นจีนที่ฟื้นตัวพุ่งขึ้น 13% ส่วนตลาดหุ้นไทยบวกประมาณ 6% นับจากต้นปี โดยได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยบวก

3 ปัจจัยบวกสำคัญที่เป็นแรงหนุนให้ ตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นบวก ได้แก่ 1) การส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 2) ความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และ 3) การฟื้นตัวของราคาน้ำมัน โดยมองว่าตลาดได้ซึมซับข่าวด้านบวกจาก 3 ปัจจัยข้างต้นไปมากแล้ว ซึ่งทำให้การ Rally ของตลาดในรอบนี้เริ่มมี Upside ที่จำกัด โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) ในด้านการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ตลาดได้ซึมซับข่าวดังกล่าวไปมากแล้ว โดยพิจารณาจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Fed Funds Futures ซึ่งสะท้อนความคาดหวังของตลาดว่า Fed จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันอีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังคาดว่า Fed จะกลับมาลดดอกเบี้ยในปี 2020 อีกด้วย 2) ในด้านการเจรจาการค้า ประเมินว่าตลาดมีความคาดหวังค่อนข้างสูงต่อผลสำเร็จของการเจรจาเช่นกัน  โดยพิจารณาจากค่าเงินหยวนซึ่งแข็งค่ามาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม มาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าในกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ในขณะที่การเจรจาก็ยังดูมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และยังมีความขัดแย้งเพิ่มเติมจากคดีของบริษัท Huawei ที่อาจเป็นอุปสรรคในการเจรจาอีกด้วย 3) ราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นมาราว 20% ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งประเมินว่าคงเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนัก เนื่องจากยังมีอุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ท่อส่งน้ำมันในสหรัฐฯ ทยอยสร้างเสร็จ ซึ่งจะเข้ามากดดันตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศนั้นล้วนออกมาน่าผิดหวัง เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆ ยืนยันว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของจีนได้ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์หดตัว ในขณะที่ดัชนีของยุโรปและญี่ปุ่น ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างขยายตัวกับหดตัว ตัวเลขส่งออกจากหลายประเทศก็เริ่มสะท้อนผลกระทบของสงครามการค้า โดยเฉพาะยอดส่งออกของจีนที่พลิกกลับมาหดตัวในเดือนธันวาคม หลังจากที่ขยายตัวดีมาตลอดทั้งปี เนื่องจากแรงส่งจากการเร่งส่งออกสินค้าได้ทยอยหมดไป โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ขู่ว่าจะปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม แต่ต่อมาในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจะร่วมเจรจาการค้า ซึ่งทำให้แผนการขึ้นภาษีดังกล่าวถูกชะลอออกไป การชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในจีนที่เคยเร่งส่งออกสินค้ามาในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มชะลอการส่งสินค้าลง ดังนั้น ไม่ว่าผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะออกมาในรูปใด ตัวเลขการค้าและการส่งออกทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ก็น่าจะมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเร่งส่งออกไปมากแล้วเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิดและเน้นการส่งออกอย่างไทย เกาหลี และญี่ปุ่น ก็เห็นการหดตัวของการส่งออกในเดือนธันวาคม เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนมกราคม ยังหดตัวเพิ่มขึ้นถึง -5.8% YoY  ซึ่งชี้ว่าตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม นั้นจะมีแนวโน้มแย่ลงอีก โดยสรุปมองว่าตลาดได้ซึมซับข่าวด้านบวกไปมากแล้ว ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงต้นปีออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ซึ่งทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานอีกครั้งได้ ดังนั้นในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปลายวัฏจักร และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเริ่มทยอยมากขึ้นทุกขณะ การตั้งเป้าหมายการลงทุนอาจต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนสูงสุดเป็นการเน้นการบริหารความเสี่ยงและรักษาเงินต้นในยามที่เศรษฐกิจโลกดูเปราะบางขึ้น จึงแนะนำให้นักลงทุนอาศัยจังหวะที่ตลาดหุ้น Rebound ทยอยขายทำกำไรออกมาก่อน