จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางต้องปฏิรูปการศึกษาเด็กเล็ก - Forbes Thailand

จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางต้องปฏิรูปการศึกษาเด็กเล็ก

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Aug 2018 | 10:13 AM
READ 10052

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมีปัญหาหนักหน่วงมากในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความสามารถในการแข่งขันอันเนื่องมาจากการมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มากเกินไปหรือล้าสมัย ขาดการวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชน ปัญหาการเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Automation, Digitization และ Artificial Intelligence อาจทำให้การตกงานเป็นปัญหาใหญ่

การแก้ปัญหาโครงสร้างดังกล่าวข้างต้น ต้องปฏิรูปหลายเรื่องแต่ดิฉันอยากจะพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาในที่นี้ เพราะหากเราสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะลดความเสี่ยงของปัญหาการตกงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในภาคนอกเกษตรและภาคเกษตร อย่างไรก็ตามการปฏิรูปศึกษาไม่ควรมุ่งแต่จะเพิ่มคุณภาพของแรงงานทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังควรมุ่งเพิ่มคุณภาพของประชากรทางสังคมให้เข้าใจทั้งสิทธิและหน้าที่ และวิเคราะห์ได้ว่าควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมให้ดีขึ้นอย่างไร การปฏิรูปการศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เราจะก้าวจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีรายได้ที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีบรรทัดฐานทางสังคม และความคาดหวังต่อการปฏิบัติตัวของประชาชนในสังคมสูงขึ้นด้วย เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา หลายคนจะเรียกร้องให้เพิ่มความเข้มงวดของหลักสูตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 และเรียกร้องให้หันมาสนับสนุนการเรียนสายวิชาชีพมากขึ้นเป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกขณะนี้เกิดขึ้นเร็วมากและยังไม่มีใครคาดเดาได้อย่างมั่นใจว่าอะไรใหม่จะตามมาอีก และอะไรจะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการสร้างทักษะความเชี่ยวชาญในวิทยาการด้านใดด้านหนึ่งจึงไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง นักศึกษายังจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะเรียนรู้ของใหม่เพื่อสร้างความรอบรู้ และทักษะที่จะติดตามและปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในอนาคตได้ นั่นคือต้องรู้ลึกและรู้กว้างด้วย ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาที่ยั่งยืนจะต้องพุ่งเป้าไปที่ระดับเด็กอนุบาลและประถมศึกษาซึ่งดิฉันคิดว่าจำเป็นต้องทำ 3 เรื่อง คือ 1. สอนให้เด็กรู้จักคิด สามารถวิเคราะห์ตามเหตุและผล ตั้งคำถามที่มีนัยสำคัญและเรียนรู้วิธีที่จะหาคำตอบ ครูต้องทำหน้าที่ในการกระตุ้นชักนำให้เด็กรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ไม่ใช่การสอนให้จำตามที่สอน เช่น การสอนการอ่านต้องสนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือหลากหลายเพื่อสร้างจินตนาการ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้อ่านได้ฉะฉานรู้ศัพท์ยากๆ 2. สอนให้เด็กมีจริยธรรม มีวินัย ละอายที่จะเอาเปรียบคนอื่นขณะเดียวกันก็ปกป้องสิทธิของตนไม่ให้คนอื่นเอาเปรียบ เช่น ไม่ใช้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่นขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้คนอื่นมีสิทธิพิเศษเหนือตน และละอายที่จะทำผิดทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้คน ที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในอินเดียได้ยกเลิกการมีคนเฝ้าร้านขายอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียน โดยใช้ระบบเชื่อใจกันให้เด็กชำระเงินลงในกล่องเองตามราคาที่ติดไว้ ช่วงแรกๆ ก็มีการโกงโดยไม่ใส่เงินบ้าง ระหว่างนั้นครูก็พูดชื่นชมให้กำลังใจว่าเด็กๆ มีความซื่อสัตย์สุจริตมากขึ้นตามลำดับ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ปรากฏว่าไม่มีการโกงเกิดขึ้นอีกเลย นี่คือพื้นฐานของการสร้างสังคมที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือทุกคนอยู่ในกติกาและกฎหมายด้วยศักดิ์ศรีและวินัยของตัวเองไม่ใช่คอยจะฝ่าฝืนเอาประโยชน์ หรือความสะดวกส่วนตนเมื่อโอกาสอำนวย หรือเมื่อคิดว่าไม่มีใครรู้หรือจับได้ 3. สอนให้เด็กรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษและภาษาจีนซึ่งเป็น 2 ภาษาที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดทั้งในโลกอนาล็อกและดิจิทัล ดังนั้นจึงไม่เพียงเป็นทักษะที่สำคัญต่อไปในการสื่อสารกับประชากรกลุ่มใหญ่ของโลก แต่ยังเป็นเครื่องมือในการติดตามหาความรู้ใหม่ๆ จากโลกของอินเทอร์เน็ตซึ่งมีข้อมูลและความรู้มหาศาลบันทึกอยู่ใน 2 ภาษานี้ การปฏิรูปการศึกษาในระดับอนุบาลและประถม แม้จะต้องใช้เวลานานกว่าเด็กจะโตขึ้นมาและเห็นการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพของประชากร แต่ก็ไม่มีทางลัดอื่นที่จะสร้างความยั่งยืนให้อนุชนของเราเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง มีจินตนาการ สามารถคิดนอกกรอบ ใฝ่รู้มีทักษะที่จะรับมือกับโลกใหม่ได้อย่างแท้จริง และเมื่อนั้นประเทศไทยจึงจะสามารถก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้
ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหญิงคนแรก
  ขอบคุณภาพเปิดจาก POST TODAY
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับกรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine