“คลังสินค้าอัจฉริยะ” หัวใจดิจิทัลซัพพลายเชนในอาเซียน - Forbes Thailand

“คลังสินค้าอัจฉริยะ” หัวใจดิจิทัลซัพพลายเชนในอาเซียน

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Feb 2021 | 07:05 AM
READ 2057

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารวมถึงจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มไปที่การตลาดแบบทุกช่องทาง หรือ omnichannel และการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น จริงๆ แล้ว eMarketer เคยคาดการณ์ไว้ว่า การเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 25% และจะแตะระดับ 2.271 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563

แม้ว่าสิ่งที่กล่าวมานี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมากที่สุด แต่อุตสาหกรรมและองค์กรอื่นๆ ก็จำเป็นต้องปรับความสามารถของตนเองให้รับมือกับผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของรูปแบบการขายและส่งสินค้าตรงถึงลูกค้า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมาก ธุรกิจต้องหาวิธีจัดการกับระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า  
  • อัพเดตซัพพลายเชน
กรณีคลังสินค้าเป็นตัวอย่าง ศูนย์ภูมิภาค ซึ่งทำหน้าที่เก็บสต็อกสินค้าให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ มีการดำเนินงานที่แตกต่างจากศูนย์คลังสินค้าที่พร้อมจัดส่งที่ให้บริการเก็บ-แพ็ก-ส่ง (fulfillment) และส่งสินค้าตรงถึงบ้านของลูกค้า แต่เดิมรูปแบบการขายแบบ B2B และแบบ B2C มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่เมื่อความต้องการเปลี่ยนจากการซื้อขายล็อตใหญ่ๆ ไปเป็นการซื้อขายเป็นชิ้นๆ ผู้ประกอบการด้านคลังสินค้าจึงต้องเริ่มคิดหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะรองรับการทำงานทั้งสองรูปแบบได้ในคราวเดียวกัน การจัดส่งสินค้าทั้งแบบ B2B และ B2C ได้จากแหล่งเดียวกันมีข้อดีหลายประการ เช่น สามารถใช้คนทำงานกลุ่มเดียวกัน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และลดระยะเวลาในการจัดส่ง ข้อดีเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจนในภูมิภาคที่ขาดแคลนเส้นทางในการสัญจรถึงกัน หรือมีความแออัดสูง ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนด้าน fulfilment ด้วย นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นดังกล่าวยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตได้ เช่น การขายสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้า และไม่ต้องเป็นคนส่งสินค้าเอง (dropshipping) หรือการส่งสินค้าผ่านตัวแทนให้บริการขนส่ง และโลจิสติกส์ (third-party logistics: 3PL) การประกาศปิดประเทศและการที่ธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2563 ยังเป็นตัวเร่งให้การยกเครื่องระบบซัพพลายเชนกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนในอุตสาหกรรมในวงกว้าง ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลงของโรงงานที่ผลิตและประกอบชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ไปจนถึงความล่าช้าของผลิตภัณฑ์ยาที่จำเป็น ได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก และทำให้เครือข่ายซัพพลายเชนที่สลับซับซ้อนเกิดการหยุดชะงัก ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการคลังสินค้าได้พัฒนาอย่างจริงจังจากความรับผิดชอบในการจัดเก็บสินค้า จนถึงการมีส่วนสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายโดยรวมในการบริหารจัดการซัพพลายเชนในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสนับสนุนระบบต่างๆ ในการจัดซื้อสายการผลิตที่ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก และแม้แต่การสนับสนุนกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา กล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้ให้บริการคลังสินค้าสามารถทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรงขึ้น หรือบรรเทาและลดผลกระทบของการหยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้นกะทันหันได้อย่างจริงจัง  
  • ไม่มีเวลาเหลือกับความล่าช้า
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลังสินค้าส่วนใหญ่มีระบบสำหรับบริหารจัดการซัพพลายเชนของตนเองอยู่แล้ว เช่น การใช้โปรแกรม Excel ไปจนถึงการใช้อีอาร์พีแอปพลิเคชัน (ERP application) ซึ่งระบบที่เป็นเอกเทศซึ่งกันและกันเหล่านี้อาจใช้งานได้ค่อนข้างดีสำหรับการทำธุรกิจแบบ B2B ข้อด้อยคือ ต้องใช้คนทำงานจำนวนมาก และมีข้อจำกัดในการมองเห็นความเคลื่อนที่ของสินค้าแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจก้าวทันการเปลี่ยนแปลงด้านซัพพลายเชนที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน และหากพิจารณาถึงตลาดอี-คอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ผู้ประกอบการด้านคลังสินค้าจำเป็นต้องตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยี และอัพเกรดระบบเพื่ออนาคตไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การอัพเกรดที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มด้วยการย้ายระบบ ERP และโซลูชันระบบบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) ไปทำงานบนคลาวด์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับขยายการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาในการติดตั้งน้อยลงมาก และสิ่งสำคัญ คือ ระบบคลาวด์ช่วยให้ทีมไอทีขององค์กรมีส่วนร่วมในการดูแลการทำงานและการบำรุงรักษาระบบที่ทำงานอยู่บนระบบคลาวด์นั้นได้ เมื่อมีการใช้ระบบใหม่บนคลาวด์แล้วแนวทางการทำงานจะมีความชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนการการทำงานที่พนักงานต้องลงมือทำเอง เช่น การสำรวจสินค้าในสต็อก หรือการประหยัดพื้นที่ใช้สอยและความต้องการเรื่องแรงงาน ทั้งนี้ ความคล่องตัวในเรื่องแรงงานมีความสำคัญมากต่อการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในสถานที่ทำงาน และมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ยังต้องบังคับใช้เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19  
  • ทลายอุปสรรค
ความกังวลสูงสุดเกี่ยวกับปรับเปลี่ยนให้คลังสินค้าเป็นระบบดิจิทัล หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับทักษะของพนักงานที่ต้องเพียงพอที่จะบริหารจัดการระบบใหม่ๆ แม้ว่าพนักงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวะจะมีทักษะที่สามารถจัดการกับความซับซ้อนของระบบคลังสินค้าสมัยใหม่ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของพนักงานคลังสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังต่ำกว่าในพื้นที่อื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ช่องว่างด้านทักษะเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับแต่งระบบ ERP ให้เหมาะสมตามความต้องการใช้งานด้วยระบบอัตโนมัติแต่ละขั้น องค์กรที่เพิ่งเริ่มใช้ระบบดิจิทัลสามารถเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกฟีเจอร์จำนวนหนึ่งให้ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ ระบบดิจิทัล ERP และ WMS สมัยใหม่นั้นใช้งานได้ง่ายมาก และแทบจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนเลย ระบบคลาวด์ยังช่วยให้การเริ่มต้นใช้งานและการผสานรวมระบบใหม่ๆ เข้าด้วยกันทำได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลกับการจัดหาระบบเซิร์ฟเวอร์ใหม่ หรือการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ใช้เวลาในการติดตั้งไม่มากเนื่องจากโซลูชันต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจงให้กับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท โดยปรับแต่งกระบวนการเฉพาะของแต่ละบริษัทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดธุรกิจต่างๆ ควรย้ายระบบที่ติดตั้งอยู่ในองค์กรไปยังกรอบการทำางานมาตรฐานตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมนั้นๆ ในสถานการณ์จริงของระบบซัพพลายเชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักจะซับซ้อนกว่าที่กล่าวมา เช่น ความท้าทายที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัดในย่านใจกลางกรุงเทพฯ การที่ต้องใช้เวลาหลายวันในการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลในชนบทของประเทศเมียนมา สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความกังวลด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าปลายทาง แต่เมื่อนำระบบ ERP และระบบสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสมมาใช้ จะช่วยให้นำความสามารถที่ทันสมัยต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), IoT และหุ่นยนต์ ไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยไม่ยุ่งยากและมีประสิทธิภาพ   Fabio Tiviti Fabio Tiviti Vice President, ASEAN, Infor     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine