"กองทุนนวัตกรรม" แนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคปฏิวัติเทคโนโลยี - Forbes Thailand

"กองทุนนวัตกรรม" แนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคปฏิวัติเทคโนโลยี

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Jul 2019 | 10:26 AM
READ 2676

การพัฒนาหลายโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ ล้วนนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ความสอดคล้องในการพัฒนากับความต้องการพื้นฐานของสังคมจะดีกว่านี้

หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนและทำงานร่วมกับรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะทำให้ความเข้าใจในปัญหาพื้นฐานและความต้องการได้รับการพิจารณาออกแบบและพัฒนาโครงการออกมาได้ตรงจุด แต่ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการต่างๆ ล้วนกำหนดมาจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยภาคเอกชนเป็นฝ่ายปฏิบัติตาม ซึ่งหลายโครงการอาจไม่เป็นดั่งความคาดหวังของรัฐบาล แต่หากปรับแนวทางการวางแผนเปิดให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น จะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการมีมากขึ้น การส่งเสริมนวัตกรรมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ปัจจุบันรัฐมีหลายหน่วยงานที่ดูแลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม แต่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐ ความคล่องตัวในการจะส่งเสริมและพัฒนาด้านนวัตกรรมค่อนข้างน้อยและเชื่องช้า กระทั่งล่าสุดภาคเอกชนมีแนวคิดที่จะตั้ง “กองทุนนวัตกรรม” ขึ้นมาเองเพื่อให้คล่องตัวในการสนับสนุน และเปิดกว้างให้เอกชนที่สนใจให้การสนับสนุนเงินทุน เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลให้สิทธิพิเศษส่วนลดภาษีเป็น 3 เท่า เช่นเดียวกับการสนับสนุนนวัตกรรมที่หน่วยงานภาครัฐดูแล เนื่องจากนวัตกรรมคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงของการปรับตัว เพื่อรับมือการแข่งขันจากทั่วโลก โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ไม่น่าห่วง เนื่องจากมีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่อุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีของไทยยังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะการ disruption ของเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนสถานการณ์เรื่องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่มี ผลกระทบมาก การว่างงานในแรงงานระดับล่างยังค่อนข้างต่ำ แต่ในอนาคตแรงงานระดับล่างจะโดน disrupt จากเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตามองให้ดี ทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ขนาดใหญ่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานมากพอสมควร ภาคอุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำการศึกษาสถานการณ์แรงงานพบว่าในระยะสั้น ไม่น่าห่วง แต่ระยะยาวการใช้แรงงานแบบซ้ำๆ น่าจะมีการทดแทนโดยเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ขณะที่หลายคนวิตกกังวลเรื่องปัญหาการว่างงาน ก็มีบางวิชาชีพที่ยังขาดแคลน เช่น แรงงานด้านไอที ไทยยังขาดแคลนอยู่มาก ส.อ.ท.จึงได้ดำเนินการโครงการ Up-skill ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เรียกว่าโครงการ “FTI Academy” (The Federation of Thai Industries Academy) โดยทำหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับภาครัฐเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเพิ่มทักษะด้านไอทีและวิศวกรรม ด้วยการจัดอบรมไม่เกิน 1 ปีเพื่อพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผน โดยประสานตรงกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยคาดว่าจะเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้นได้ราวไตรมาส 3 ปีนี้ นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ทำสมุดปกขาว (white paper) ส่งถึงทุกพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งและเตรียมส่งถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศให้มองความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 5 แนวทางหลัก ประกอบด้วย
  1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ และเร่งการพัฒนา Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน
  1. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยการตั้งกองทุน Innovation Fund สำหรับ SMEs และการตั้งศูนย์ Big Data ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร (Smart Agro)
  2. ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made in Thailand โดย SME Venture Program และยกระดับสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ SMEs ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุน E-Commerce และ ภาครัฐเพิ่มวงเงินจัดซื้อสินค้านวัตกรรม
  1. เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรัฐจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม
  1. ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) และ ปรับการศึกษาให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill)
สุพันธุ์ มงคลสุธี สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine