การชุมนุมทางการเมืองใน Hong Kong ที่รู้จักกันในชื่อ Umbrella Revolution กำลังลดความตึงเครียดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้ลดหายไปด้วย
ขณะที่ทั่วโลกเพ่งความสนใจไปยังการเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อให้ได้ระบอบการเลือกตั้งที่เป็นสากล แต่สิ่งหนึ่งที่การประท้วงมุ่งเน้น นั่นคือประเด็นว่าด้วยช่องว่างทางเศรษฐกิจของเมืองที่มีประชากร 7 ล้านคนแห่งนี้ กำลังถ่างขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าวิกฤติการเมืองกำลังคลี่คลาย ผู้ปกครองกับผู้ประท้วงเริ่มหันหน้ามาพูดคุยกันบ้างแล้ว แต่ว่าความแตกต่างทางรายได้ไปจนถึงราคาค่าที่พักอาศัยกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เกาะแห่งนี้กำลังเผชิญหน้าความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ต่างไปจากแรงกดดันทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นเลย 1) ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เพิ่มมากขึ้น ดัชนีวัดความแตกต่างทางรายได้ครัวเรือน (Gini coefficient) ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างทางรายได้ของ Hong Kong เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติและสำมโนประชากร แสดงให้เห็นว่า ดัชนีดังกล่าวสูงถึง 0.537 ในปี 2011 เพิ่มขึ้นจาก 0.43 ในปี 1971 ถึง 25% จนใกล้ค่าดัชนีของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ 0.55 ตามการประเมินของ University of Michigan 2) ราคาบ้านพักอาศัยพุ่งสูง ในเวลานี้ ราคาที่พักอาศัยใน Hong Kong นั้น แพงที่สุดในบรรดาเมืองที่เป็นฮับทางการเงินด้วยกัน ข้อมูลจาก Demographia International Housing Affordability Survey ระบุว่าในปี 2013 ราคาเฉลี่ยบ้านพักอยู่ที่ 4,024,000 เหรียญ หรือเกือบ 10 เท่าของราคาบ้านพักใน New York (405,400 เหรียญ) อัตราส่วนระหว่างราคาเฉลี่ยค่าบ้านต่อรายได้เฉลี่ยครัวเรือนสูงถึง 14.9 หรือ 3 เท่าตัวของ Tokyo หนึ่งในเมืองที่ราคาบ้านพักแพงที่สุดในโลก ในสถานการณ์ที่ราคาบ้านยังทะยานขึ้นไม่หยุดเวลานี้ คนฮ่องกงจำนวนมากกล่าวโทษการหว่านเงินซื้อของเศรษฐีจากจีนแผ่นดินใหญ่ 3) คุณภาพชีวิตตกต่ำ คุณภาพชีวิตของคนใน Hong Kong เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่ปี 2007 อ้างอิงจากดัชนีชี้วัดที่ Chinese University of Hong Kong รวบรวมขึ้น จากตัวชี้วัด 21 รายการ ครอบคลุมตั้งแต่คุณภาพอากาศไปจนถึงอายุขัยของชีวิต พร้อมกับดัชนีย่อยอีก 7 รายการเพื่อใช้ชี้วัดในเชิงเศรษฐกิจ พบว่ามีคะแนนต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2002 อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความสามารถในการซื้อหาที่อยู่อาศัยซึ่งลดลงอย่างฮวบฮาบ จนทำให้ดัชนีการเช่าซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่ำแย่มาเป็นเวลาหลายปี 4) ประชากรเพียง 1% ร่ำรวยขึ้น ขณะที่คนฮ่องกง 1.3 ล้านคนมีชีวิตอยู่ใต้เส้นบ่งชี้ความยากจน กลับมีคนเพียง 1% ของประชากรเท่านั้น ที่ร่ำรวยมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทุกวันๆ เมืองแห่งนี้ได้รับการบันทึกว่ามีมหาเศรษฐีระดับพันล้านถึง 45 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินถึง 2.14 แสนล้านเหรียญ (ตามทำเนียบ Forbes 2014 Billionaire) คิดเป็น 80% ของมูลค่า GDP ของ Hong Kong ในปี 2013 5) เสียสละเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของจีน
นับตั้งแต่ Hong Kong กลายมาเป็นเขตปกครองพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1997 เมืองแห่งนี้ได้ดำเนินมาตรการหลากหลายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ให้แน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติหุ้นส่วนทางการค้า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นแหล่งระบายสินค้าจาก Hong Kong มูลค่า 2.48 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกงในปี 2013 จนเกาะแห่งนี้กลายเป็นคู่ค้าของจีนเป็นลำดับสองรองจากสหรัฐฯ ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นคู่ค้าที่ใหญ่สุดของเกาะตั้งแต่ปี 1985
เรียบเรียงจาก Beyond The Umbrella Movement: Hong Kong's Struggle With Inequality In 8 Charts โดย Liyan Chen
เรียบเรียงจาก Beyond The Umbrella Movement: Hong Kong's Struggle With Inequality In 8 Charts โดย Liyan Chen