บรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยอันดับ 1 ในอาเซียน พร้อมเสริมทัพธุรกิจครบวงจรรับเทรนด์รีไซเคิลแรง ส่งบรรจุภัณฑ์กระดาษ พลาสติกชีวภาพ ขยายอาณาจักรสร้างยอดขายทะยานหมื่นล้านบาทใน 5 ปี
เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: นัทธ์ชนัน เพชรดี กระดานหุ้นที่แสดงระดับราคาการซื้อขายวันแรก 14 บาท เหนือกว่าราคาจองซื้อที่ 10.80 บาท คิดเป็น 29.63% และปิดราคาในช่วงสิ้นวันจำนวน 14.30 บาท สูงกว่าราคาจองซื้อ 32.41% ไม่เพียงสร้างความยินดีให้กับครอบครัวบริสุทธนะกุล แต่ยังเป็นเสมือนเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของความเพียรพยายามก่อร่างสร้างธุรกิจของสามพี่น้องที่เริ่มต้นธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกครบวงจร ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 200,000 บาท พลิกปฏิทินถอยหลังไปยังปี 2524 สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI ยังคงระลึกถึงวันแรกของห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองเทียนพลาสติค ที่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจนำเข้าเศษถุงพลาสติก และหลอมทำเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจำหน่ายให้โรงงานผลิตถุงพลาสติกในประเทศ ก่อนจะเล็งเห็นโอกาสขยับขยายธุรกิจสู่การผลิตถุงพลาสติก เพื่อส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์และประเทศในแถบตะวันออกกลาง ภายใต้ชื่อบริษัท ทองสินเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ในปี 2526 “ผมมีพี่น้อง 3 คน ผมเป็นคนกลาง โดยคุณสมชัย ซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องเริ่มต้นธุรกิจในช่วงถุงพลาสติกเริ่มเข้าเมืองไทย ขณะนั้นเขาทำงานอยู่ในโรงงานผลิตถุงพลาสติกในประเทศและรู้จักกับชาวสิงคโปร์ผู้ผลิตถุงพลาสติกเพื่อส่งออกรายใหญ่ บริษัทเราเริ่มต้นจากศูนย์ มีพนักงานเพียง 4-5 คน จนถึงปี 2526 ชาวสิงคโปร์ที่รู้จักกันต้องการขายโรงงานและเครื่องจักร ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นผู้ผลิตถุงรายใหญ่เพื่อส่งออกติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก เราจึงตัดสินใจซื้อโรงงานและเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตประมาณ 200-300 ตันต่อเดือน” กว่าจะเติบโตเป็นบริษัทที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน สามพี่น้องบริสุทธนะกุลก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการทองเทียนพลาสติคและทองสินเอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งดำเนินกิจการบนพื้นที่เช่า โดยย้ายเครื่องจักรทั้งหมดไว้ที่โรงงานแห่งใหม่แถวสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อเดินหน้าการผลิตเต็มกำลัง 700 ตันต่อเดือน พร้อมขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศในแถบยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ภายใต้ชื่อบริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติคไทย จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2530 สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่ ถุงพลาสติกประเภทหูหิ้วที่บรรจุสิ่งของอุปโภคและบริโภคในการจับจ่าย ถุงขยะที่ใช้ในครัวเรือนทั้งแบบชนิดม้วนและแบบพับ รวมถึงถุงพลาสติกชีวภาพที่วางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ของลูกค้า พร้อมทั้งฟิล์มประเภท multilayer blown film ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ แบ่งตามลักษณะการใช้งาน รวมทั้ง บริษัทยังผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าบริโภคและอุปโภคเพื่อใช้ถนอมและยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “เรามองว่า นอกจากกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนและกลุ่มผลิตภัณฑ์ฟิล์มลามิเนตและฟิล์มแบริเออร์ที่เหมาะสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปจะมีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวขึ้นแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นเทรนด์ของผลิตภัณฑ์ที่ TPBI ให้ความสำคัญพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายธุรกิจผ่านการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งจากไทยและต่างประเทศ อาทิ ประเทศไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ จัดตั้งบริษัทรองเพื่อมุ่งต่อยอดการผลิตและแตกไลน์ผลิตภัณฑ์และธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยทำ “เรามี 5 บริษัท ได้แก่ TPBI เป็นบริษัทใหญ่ รองลงมาคือ TAK และ TGRT ที่เติบโตตามลำดับ ส่วน Minima และ TMP เป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคต โดย TMP ถือเป็นไลน์ธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยทำ เพื่อเสริมการเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจร เราเน้นขายในประเทศเป็นหลักในลักษณะ OEM รับจ้างผลิต ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันพอสมควร ต้องใช้เวลาในการสร้างตลาด ทีมงาน และด้านการผลิต” สำหรับกำลังการผลิตในปัจจุบัน TPBI นับเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตจำนวน 64,920 ตัน/ปี จากฐานการผลิต 2 แห่ง ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และโรงงานที่จังหวัดระยอง ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้รับการจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์ของ TPBI เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อธุรกิจครอบครัวอายุมากกว่า 30 ปีปรับทิศทางสู่การเป็นบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพ ด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวจาก 98.55% เหลือ 73.91% พร้อมระดมทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนกิจการ รวมถึงเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต เพื่อเดินหน้าธุรกิจสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครบวงจรระดับโลก “เราเห็นตรงกันว่า ทิศทางต่อไปของธุรกิจควรเป็นบริษัทมืออาชีพ ด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีด้านการบริหารจัดการ เรายังสามารถระดมทุน เพื่อขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ flexible packaging ซึ่งทุกปีเรามีการขยายธุรกิจตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การนำเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเก่า การเพิ่มเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต รวมทั้ง การมองหาพันธมิตรร่วมทุนและควบรวม เพื่อเสริมฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งและสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด” ท่ามกลางความท้าทายและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น TPBI ขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งพร้อมส่งมอบอาณาจักรให้ทายาทรุ่นต่อไปที่เริ่มต้นเรียนรู้ธุรกิจนับตั้งแต่ 10 ปีก่อน ได้แก่ กมล บริสุทธนะกุล ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) สิทธิชัย บริสุทธนะกุล ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ General Products และศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ High Value Added Products “เราต้องมี succession plan เตรียมการแต่ละแถวให้พร้อม เราให้โอกาสคนเก่าก่อน ถ้าไม่ได้จึงนำคนใหม่เข้ามา ส่วนทายาทเราให้เขาเรียนรู้งานทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้น และประเมินหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่เหมาะสม พร้อมวางเป้าหมายการเติบโต 10,000 ล้านบาทใน 5 ปี และกำไรเติบโตเท่าตัวเป็น 700-800 ล้านบาท รวมถึงการขยับจากผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกสู่ 1 ใน 5 ภายใน 5 ปีหรือรุ่นทายาทที่จะมาแทนรุ่นผม” ซีอีโอแห่ง TPBI ปิดท้ายหลักการบริหารพนักงานจำนวนกว่า 1,500 คนว่า “เรานึกถึงใจเขาใจเรา ทั้งการดูแลคนและการทำธุรกิจที่ไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก รวมทั้ง การสร้างความเข้าใจในแผนธุรกิจและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือเดินหน้าธุรกิจให้เติบโตในระดับโลก”คลิ๊กอ่าน "TPBI ติดอาวุธธุรกิจ ถุงพลาสติกไทยระดับโลก" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine