“ซิมโฟนี่” ผนึกความร่วมมือมาเลเซีย กัมพูชา และไทย แจ้งเกิดเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำภาคเอกชนรายแรกของประเทศ พร้อมก้าวสู่ผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงระดับภูมิภาค เล็งขับเคลื่อนไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน
เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: นัทธ์ชนัน เพชรดี ขณะที่องค์กรภาครัฐและวิสาหกิจต่างร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ ยอดฝีมือในสายธุรกิจโทรคมนาคมที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปีได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศด้วยการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเอกชนรายสำคัญที่มีส่วนเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศมายาวนานมากกว่าทศวรรษ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 ก่อนจะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชื่อย่อ SYMC ในปี 2553 ด้วยความมุ่งมั่นเป็นผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง โดยเน้นการใช้โครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเป็นโครงข่ายหลัก และให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงปลายทาง การบริการโครงข่ายและการติดตั้งอุปกรณ์ “เราไม่ใช่หน้าใหม่ ทีมผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นคนในวงการโทรคมนาคม ซึ่งในช่วงปลายสัมปทานที่เริ่มมีการปฏิรูปอุตสาหกรรมเปิดเสรีในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้เราเห็นโอกาสขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เน้นความเป็นกลาง และไม่แข่งขันกับลูกค้า เราเป็นรายเดียวที่ open access ให้ ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ที่ไม่มีโครงข่ายใช้บริการ” ธีรรัตน์ ปัณฑรสูตรกรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเริ่มต้นถึงความภาคภูมิใจในแต่ละย่างก้าวของบริษัท นับตั้งแต่การเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของประเทศที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเอง และเป็นรายแรกในไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Metro Ethernet Forum (MEF) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการในระดับชั้นนำของโลกร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Ethernet และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Ethernet ให้แพร่หลาย นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Circuit: IPLC) ใบอนุญาตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (International Internet Gateway: IIG) และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ต (National Internet Exchange: NIX) แบบที่สองและได้รับใบอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี WiFi เพิ่มจากโครงข่ายเดิมรวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง และใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติ พร้อมจัดตั้งบริษัทย่อยได้แก่ บริษัท ไดมอนด์ ไลน์ เซอร์วิสเซส จำกัด เพื่อบริการติดตั้ง ซ่อมบำรุง ดูแลรักษาโครงข่ายสายตอนนอก และอุปกรณ์โทรคมนาคม ขณะที่กลยุทธ์สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัทเอกชนที่กล้าชนกับบริษัทผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่อยู่ที่การให้บริการอย่างเป็นกลาง การรับประกันคุณภาพการบริการ ด้วย Service Level Agreement (SLA) ที่ 99.9% การรักษามาตรฐานในการให้บริการและให้ความสำคัญในเรื่องบริการหลังการขาย การให้คำปรึกษาและการวิเคราะห์เชิงลึก การสร้างความแข็งแกร่งในแบรนด์ รวมถึงพัฒนาบริการและแสวงหาโอกาสทางการตลาดที่มีศักยภาพ “เราโฟกัสกลุ่มลูกค้าองค์กรตั้งแต่แรกถึงปัจจุบัน และให้ความสำคัญกับคุณภาพทำให้เราสามารถยืนหยัดและทำกำไรได้ตลอดสิบปี เราได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้บริการที่มีคุณภาพดีที่สุด ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยใช้ไฟเบอร์แทนทองแดงตั้งแต่เริ่มต้น ปัจจุบันเรามีโครงข่ายเป็นไฟเบอร์หรือใยแก้วนำแสงทั้งหมดประมาณ 90%” ในปัจจุบัน การให้บริการโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงของบริษัทประกอบด้วย internet access เชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) และลูกค้าปลายทาง เช่น บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) บริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด บริการ private network เชื่อมต่อโครงข่ายส่วนบุคคล เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาธนาคารออมสิน บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมถึง บริการ digital broadcast service เชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และสถานีแพร่ภาพกระจายเสียง เช่น PSI อาร์เอสและจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นอกจากนั้น บริษัทยังให้บริการ international private leased circuit (IPLC) เชื่อมต่อระหว่างประเทศสำหรับลูกค้าองค์กรทั่วไปเช่น ธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น Singtel, Verizon, Hutchison, NTT และ KDDI บริการ local loop for international private leased circuit ซึ่งให้บริการโครงข่ายภายในประเทศแก่ผู้ประกอบการ IPLC ถึงสำนักงานลูกค้าในต่างประเทศ เช่น บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด และบริการ access network เชื่อมต่อสำนักงานของลูกค้ากับ server และ data center เช่นบริษัท ดาต้าโปร คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์จำกัด “เคเบิ้ลใต้น้ำ” แต้มต่อในอาเซียน เมื่อกระแสโลกกำลังผลักดันประเทศให้ก้าวสู่ยุค digital economy และเทคโนโลยี 4.0 พร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ผู้บริหารวัย55 ปีเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้ทัดเทียมนานาชาติ และการใช้ตำแหน่งยุทธศาสตร์ของประเทศสร้างความได้เปรียบในอาเซียน ด้วยความพยายามปั้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งการสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงสร้างพื้นฐานทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง “ประเทศไทยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อดึงดูดการลงทุน เช่น โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ ทำให้ค่าอินเทอร์เน็ต (ปรับลด) ต่ำลงและคุณภาพดี ซึ่งสนับสนุนให้ digital economy สตาร์ทอัพ และฟินเทค มีโอกาสเติบโตมากขึ้น เราไม่ใช่รายใหญ่แต่เรากล้าทำ เพื่อต่อยอดกลยุทธ์การเป็น regional telecom service provider” ก้าวสำคัญของซิมโฟนี่ เริ่มต้นจากการต่อยอดใบอนุญาตบริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศภาคพื้นน้ำที่ได้รับในปี 2557 สู่การลงทุนในสัญญาร่วมลงทุนโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำหรือ submarine cable (MCT) โดยเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการวางโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำ โครงข่ายกว่า 1,300 กิโลเมตรในน่านน้ำ 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (M) กัมพูชา (C) และไทย (T) พร้อมสร้างขึ้นฝั่งที่สถานีภาคพื้นดิน (landing station) ในแต่ละประเทศ “เราเป็นเอกชนรายแรกที่ให้บริการเคเบิ้ลใต้น้ำ ด้วยหลักคิดที่เปิดกว้างให้ operator ทุกรายสามารถเชื่อมโครงข่ายกับสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำของเราได้ ในราคาที่ถูกกว่าเดิมโดยออกแบบสถานีให้รองรับการเชื่อมต่อสายเคเบิ้ลใต้น้ำ 4 เส้น ใช้กับ MCT แล้ว 1 เส้น รองรับการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูล 100 Gpbs ต่อช่องสัญญาณและรองรับการขยายตัวถึง 30 Tpbs” ขณะเดียวกัน ธีรรัตน์ยังมีความมั่นใจในพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น Telcotech Ltd. ซึ่งดำเนินกิจการโทรคมนาคมในประเทศกัมพูชา Telekom Malaysia Berhad (TM) เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศ มาเลเซียซึ่งให้บริการทั้งบรอดแบนด์ ฐานข้อมูล (data) และบริการสื่อสารพื้นฐาน (fixed line) “เคเบิ้ลใต้น้ำเป็นระบบที่เสถียรมากโดยเป็นหนึ่งในหลักประกันโอกาสที่ไทยจะเป็นฮับหรือศูนย์กลางของอาเซียนจากการที่ operator ผู้ให้บริการเครือข่ายหรือผู้ให้บริการด้านข้อมูลมีทางเลือกและสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น รวมถึงอยู่ใกล้ผู้ใช้งาน โดยไทยติดอันดับ 3 การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมากที่สุดในโลก แต่การรับส่งข้อมูลยังต้องผ่านต่างประเทศ” ธีรรัตน์ย้ำชัดในความมุ่งมั่นด้านคุณภาพและการให้บริการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงการสร้างความแตกต่างด้านการบริการที่ครอบคลุมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงระดับภูมิภาค พร้อมนำประเทศก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลในอนาคต และรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ซึ่งขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการสื่อสารโทรคมนาคมในระดับภูมิภาค “ผมวาดฝันการเติบโตเชิงรายได้ 20% ทุกปี ซึ่งการให้บริการระหว่างประเทศและโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำจะช่วยให้เรามีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง และทำให้เราสามารถเดินตามเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงระดับภูมิภาคได้”คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "SYMC เดินเกมรุกอาเซียนพรมแดนการสื่อสารภูมิภาค" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine