Sam Goi ในวัย 70 ปี “ราชาปอเปี๊ยะ” แห่งสิงคโปร์ หรือ Sam Goi ยังคงตั้งเป้าหมายขยายอาณาจักรอาหารและอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง หลังได้ชื่อเล่นแบบเจ้าและครอบครองความมั่งคั่ง 2 พันล้านเหรียญจากการทำแผ่นแป้งบางเท่ากระดาษ ที่ใช้สำหรับห่ออาหารที่ชื่อปอเปี๊ยะ
ตอนนี้เขากำลังแตกแขนงธุรกิจออกไป เขาต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารช่วยควบคุมน้ำหนักแบบพิเศษ อีกทั้งยังเป็นนักลงทุนใจดี (angel investor) ในสตาร์ทอัพอาหารอย่าง Tee Yih Jia Food ที่เขาเริ่มตั้งในปี 1977 Goi รู้เรื่องการสร้างแบรนด์ ทุกวันนี้ บริษัทเอกชน Tee Yih Jia (TYJ) ได้ส่งออกอาหารเอเชีย เช่น ปอเปี๊ยะ บัวลอย และซาโมซ่าไปยังกว่า 80 ประเทศ ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกเท่าตัว โดยอาศัยโรงงานแห่งใหม่ที่มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2021 อย่างไรก็ดี GSH บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ Goi ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ ได้เผชิญกับภาวะชะงักงัน หลังได้ลาภลอยมูลค่า 75 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2017 จากการขาย Plaza Ventures หน่วยธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาด กำไรสุทธิของบริษัทฮวบลง 93% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จากรายได้ที่ลดลง 9% นั่นฉุดให้หุ้นของ GSH ร่วงลง 13% ในปีที่แล้ว ทำให้ทรัพย์สมบัติของ Goi ลดลงมา 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Goi มาอยู่สิงคโปร์ในปี 1955 ตอนเขาอายุได้ 6 ปี พร้อมข้าวของน้อยนิดนอกเหนือจากเสื้อที่ใส่อยู่ หลังครอบครัวของเขาอพยพออกมาจากมณฑล Fujian ของจีนด้วยเรือลำเล็กๆ Goi เรียนไม่จบมัธยมปลาย แต่ได้ใช้การฝึกฝนที่ร้านซ่อมของ แล้วค่อยๆ เข้าสร้างฐานที่มั่นในอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเงิน 450,000 เหรียญสิงคโปร์ที่ไปกู้ยืมมาจากธนาคารและบิดา เขาซื้อบริษัทอาหารที่มีการดำเนินงานย่ำแย่กว่าที่ควรจะเป็น แล้วยกเครื่องกิจการใหม่ เพิ่มการผลิตแผ่นปอเปี๊ยะจาก 3,200 แผ่น ไปเป็น 25,000 แผ่น ในปี 1980 เขารับช่างเทคนิคเข้ามาเพื่อให้ออกแบบระบบอัตโนมัติสำหรับผลิตแผ่นปอเปี๊ยะแห่งแรกของโลก โดยมีอัตราการผลิตเร็วถึง 30 ล้านแผ่นต่อวัน จากนั้นเขาก็ขยายธุรกิจไปสู่การผลิตสินค้าใหม่ๆ นั่นคือ คุกกี้เสี่ยงทาย ขนมปังแผ่นแบน และซาโมซ่า Goi กลับมาบ้านเกิดใน Fujian ปี 1985 และสร้างโรงงานแห่งแรกในจีนขึ้นที่นั่น จากนั้นได้สร้างโรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง โรงเบียร์และโรงงานน้ำส้มสายชูเพิ่มในพื้นที่อื่นๆ ของจีน Goi ยังไปคว้าที่ดินในเมืองรองระดับ 2 ของจีนมาด้วย นานมาแล้วก่อนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนจะเติบโตแรง โดยการเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่นั้นดำเนินการผ่าน GSH ซึ่งขณะนี้เขาถือหุ้นอยู่เกือบ 60% TYJ ยังมีบริษัทลูกใน Yangzhou ด้วย มุ่งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ในพื้นที่รอบมณฑล Jiangsu แต่แผนธุรกิจของ Goi สำหรับ TYJ นั้นเกี่ยวข้องกับด้านอาหารมากกว่า Ben ลูกชายคนสุดท้องของ Goi และอดีตซีโอโอของ TYJ กำลังลงมือสร้างโรงงานผลิตอาหารล้ำสมัยในสิงคโปร์ แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เขาเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดอันตรายถึงชีวิต จึงต้องระงับแผนการนั้นไป ตอนนี้ TYJ กำลังย้ายฐานผลิตไปยังโรงงานแห่งใหม่ที่สิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบ 4 เท่า และใช้ระบบอัตโนมัติล่าสุด ที่รวมถึงรถไร้คนขับ โรงงานแห่งใหม่นี้จะมีห้องปฏิบัติการสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วย และ TYJ อาจลงทุนและบ่มเพาะธุรกิจอาหารดาวรุ่งหลายแห่ง ซึ่งจะยิ่งสานต่อมรดกของ Goi ในฐานะนวัตกรอาหาร -- รายงานโดย Pamela Amblerคลิกอ่านฉบับเต็ม “การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ประจำปี 2019” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine