Ramon Ang มหาเศรษฐีพันล้าน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ San Miguel Corp. อายุครบ 65 ปีไปเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งหลายคนที่อายุเท่าเขาอาจเริ่มเพลามือเรื่องงาน แต่ Ang ยังวุ่นกับการจัดการแผนขยายธุรกิจครั้งมโหฬาร ซึ่งถือเป็นการขยายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่กลุ่มธุรกิจสัญชาติฟิลิปปินส์กลุ่มนี้ก่อตั้งมา 129 ปี
เขาเล็งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีกลุ่มจะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากอีกหนึ่งเท่าตัว ซึ่งในปี 2017 ทางกลุ่มมีกำลังการผลิตเบียร์ 19 ล้านเฮกโตลิตรและอาหารสัตว์ 2.6 ล้านตัน
“เป้าหมายของเราคือ ตั้งโรงงานเบียร์ใหม่ 10 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตเบื้องต้น 2 ล้านเฮกโตลิตรต่อโรง” Ang กล่าวในสัมภาษณ์กับสื่อ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เห็นบ่อยนัก “สำหรับการขยายธุรกิจอาหาร เรากำลังสร้างโรงงานอาหารสัตว์ใหม่ 12 โรงตามแผน ซึ่งมีกำลังการผลิต 5 แสนตันต่อโรงต่อปี และจะเสร็จภายในปี 2023”
รายละเอียดของแผนงานใหม่ถูกประกาศในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งตามหลังการปรับโครงสร้างที่ Ang เป็นผู้เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2018 มาติดๆ โดยการรวมธุรกิจเบียร์และสุราของ San Miguel เข้ามาอยู่กับหน่วยธุรกิจอาหาร ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเปลี่ยนชื่อบริษัทรวมแห่งนี้เป็น San Miguel Food and Beverage หรือ SMFB
มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของบริษัทโดดขึ้นจาก 2 พันล้านเหรียญเป็น 7 พันล้านเหรียญและเมื่อเดือนพฤศจิกายน บริษัทขายหุ้นเกือบ 7% ในข้อตกลง ซึ่งประเมินมูลค่ากิจการของ SMFB ไว้ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าเมื่อประกาศควบรวมกิจการ 35% จนถึงปีนี้หุ้น SMFB มีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยอยู่ที่ประมาณ 100 เปโซฟิลิปปินส์ หลังจากแน่นิ่งอยู่ต่ำกว่า 50 เปโซมาเกือบตลอดทศวรรษ
ถ้าจะให้แผนงานสำเร็จ Ang ต้องหาเงินทุนประมาณ 2 แสนล้านเปโซ (3.8 พันล้านเหรียญ) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินสด บางส่วนจะมาจากเงินกู้ และส่วนที่เหลือจะมาจากการขายหุ้น จุดนี้เองที่ช่วยให้การรวมธุรกิจ ซึ่งน่าจะเป็นแค่การยำเละจนทำให้บริษัทมูลค่าตกกลับกลายเป็นการเดินหมากอันยอดเยี่ยม และพลิกให้บริษัท ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่ตัวรองในอุตสาหกรรมเบียร์ระดับโลกที่ครอบครองโดยบริษัทข้ามชาติอย่าง Anheuser-Busch InBev และ Heineken กลายเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาคที่เหล่าผู้จัดการกองทุนนานาชาติต้องมีไว้ในพอร์ต
SMFB ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทแม่ San Miguel Corp อย่างเข้มงวด ซึ่ง Ang เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เช่นกัน บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ถือหุ้น SMFB อยู่ 89% ชื่อ San Miguel ของทั้งสองบริษัทสืบย้อนไปได้ถึงโรงงานเบียร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1890 ในยุคที่ฟิลิปปินส์ยังเป็นอาณานิคมของสเปน และตลอดช่วง 100 ปีต่อมา
SMFB ก็ได้สร้างกลุ่มบริษัทอาหารซึ่งทุกวันนี้ทำรายได้เกือบครึ่งให้แก่บริษัท โดยรายได้จากเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์คิดเป็น 45% ส่วนรายได้จากสุราคิดเป็น 8% เพื่อความแน่นอนการปรับโครงสร้างบริษัทเก่าแก่อย่าง San Miguel ครั้งนี้ควรช่วยให้ Ang ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง
เขาติดกลุ่มมหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ 10 อันดับแรกอยู่แล้วด้วยทรัพย์สินสุทธิประมาณ 2.85 พันล้านเหรียญ โดยทรัพย์สินของเขาผูกติดอยู่กับมูลค่าของ San Miguel Corp. อย่างแนบแน่น ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด
Ramon Ang เข้ามาทำงานกับบริษัทในฐานะรองประธานกรรมการเมื่อ ปี 1999 หลังจากเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ Cojuangco เป็นเจ้าของ Ang เล่าว่า ยอดขายเบียร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ต่ำมากจนผู้จัดการส่วนหนึ่งเริ่มคิดจะเปลี่ยนจากผลิตเบียร์ไปทำไวน์แทน “เราเคยคุยเรื่องนี้กันในคณะกรรมการบริษัท” เขาเล่า
เนื่องจาก Ang เป็นนักดื่มเบียร์คนหนึ่ง เขาจึงผลักดันการพัฒนาเบียร์แคลอรี่ต่ำ เบียร์แต่งรสชาติ และเบียร์พรีเมียม ซึ่งช่วยปลุกความน่าสนใจของ San Miguel ในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อย
สำหรับธุรกิจเนื้อสัตว์ของ San Miguel ซึ่งประสบภาวะซบเซาคล้ายกัน Ang แก้ปัญหาโดยเพิ่มนักเก็ตไก่ ซึ่งเป็นสินค้าให้กำไรสูงรวมถึงเนื้อสัตว์หมักแล่บางเข้ามาในกลุ่มสินค้าเนื้อสดของบริษัท
“จุดสำคัญคือ การขายสินค้าเพิ่มมูลค่าที่ต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูงให้ผู้บริโภคโดยตรง” Ang กล่าว
แต่รายได้ส่วนที่ SMFB สร้างให้บริษัทแม่ San Miguel Corp. ก็ไม่น่าจะดีกว่ากิจการอื่นๆ ของ San Miguel ที่กำลังขยายอย่างรวดเร็วได้ตัวอย่างเช่น กิจการเชื้อเพลิงของบริษัทแม่ San Miguel ในปีที่แล้วมียอดขายเพิ่มขึ้น 28% ในขณะที่รายได้ของกิจการพลังงานเพิ่มขึ้น 45% และ San Miguel ก็สร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบาความยาว 23 กิโลเมตรเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่ง Ang กล่าวว่า เมื่อสร้างเสร็จทั้งหมด ในปี 2022 ก็จะสร้างรายได้ 5% ให้กลุ่ม
คลิกอ่านฉบับเต็ม “Ramon Ang สร้าง San Miguel กลับมายิ่งใหญ่” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine
Ramon Ang สร้าง San Miguel กลับมายิ่งใหญ่
TAGGED ON