Justin Kim เปิดตัวสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพจิต Ami รุกตลาดเอเชีย - Forbes Thailand

Justin Kim เปิดตัวสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพจิต Ami รุกตลาดเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Jan 2022 | 04:30 PM
READ 3672

Justin Kim หนึ่งใน “หนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งทำเนียบ  Forbes’ 30 Under 30 Asia ประจำปี 2020” เปิดตัวสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพจิต Ami ช่วยดูแลปัญหาทางใจให้กับผู้คนในทวีปเอเชีย 

Justin Kim
ภาพ: World Leaders for Mental Health
Justin Kim ร่วมกับ Beknazar Abdikamalov เปิดตัว Ami ในโหมดเบต้าในช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 หลังสั่งสมประสบการณ์จากสตาร์ทอัพมาหลายแห่ง โดย Kim ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีอีโอ เคยทำงานด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ฟินเทคระดับยูนิคอร์น Toss  ขณะที่ Abdikamalov ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีทีโอ เคยเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Amazon และนอกจากนี้ ทั้งสองยังเคยทำงานร่วมกันที่ Miso ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการดูแลบ้านในกรุงโซลที่ได้รับการสนับสนุนจาก Y Combinator (ซึ่งหล่อเลี้ยงสตาร์ทอัพเช่น Airbnb, Coinbase และ DoorDash) และได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 100 สตา์ทอัพในเอเชียที่น่าจับตามองเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด Ami เพิ่งระดมทุนมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Goodwater Capital (กองทุนซึ่งให้การสนับสนุน Kakao, Coupang และ Viva Republica), Strong Ventures (ผู้สนับสนุน Miso และ Korbit แพลตฟอร์มเทรดสกุลเงินดิจิทัลแห่งแรกของเกาหลีใต้), January Capital และ Collaborative Fund ร่วมกับนักลงทุนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก อาทิ Irene Au พาร์ตเนอร์จาก Khosla Ventures และสามีของเธอ หรือแม้แต่ Bradley Horowitz รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Google ด้าน Ami เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จับคู่พนักงานออฟฟิศกับโค้ชด้านสุขภาพจิต “พนักงานเพียงแค่เปิดโทรศัพท์ คลิกปุ่ม — พวกเขาไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้าหลายสัปดาห์— และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความเครียดในแต่ละวันมาเป็นอย่างดี” Kim กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอ “เป้าหมายของเรา คือ ทำให้การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องง่ายเหมือนการตรวจสอบสภาพอากาศ และสบายใจเหมือนพูดคุยกับเพื่อน” โดยปัจจุบันบริษัทมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของเอเชีย นอกจากอินโดนีเซีย “เรามุ่งเน้นไปที่สตาร์ทอัพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยค่าเฉลี่ยของพนักงานที่อายุน้อยกว่า และพวกเขาก็เปิดรับที่จะรักษาด้านสุขภาพจิตมากขึ้น”  ทั้งนี้ Kim เปิดตัว Ami ท่ามกลางความต้องการบริการสุขภาพจิตออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดใหญ่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 ชี้ว่ามีผู้เป็นโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้น 76.2 ล้านรายทั่วโลก  ในอีก 12 เดือนข้างหน้า Kim ตั้งเป้าที่จะขยาย Ami ไปยังหลายๆ ประเทศในเอเชีย อาทิ ฮ่องกงและเกาหลีใต้ “เราเริ่มต้นบริษัทนี้ด้วยความตั้งใจที่ชัดเจนในการสร้างสิ่งนี้สำหรับประเทศในเอเชีย” เขากล่าว เนื่องจากเอเชียเป็นที่ตั้งของประเทศที่ผู้คนทำงานหนักมากที่สุดในโลก ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปในเกาหลีใต้มักทำงานราว 1,908 ชั่วโมงในปี 2020 ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยการเปรียบเทียบกับคนทั่วไปในสหรัฐฯ ที่ทำงาน 1,767 ชั่วโมงในปีเดียวกัน ขณะที่ในญี่ปุ่น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานนั้นแพร่หลายมากจนกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิต ซึ่งเรียกว่า “karoshi” ในภาษาญี่ปุ่น และล่าสุดในประเทศจีน คนรุ่นมิลเลนเนียลเริ่มยอมรับว่ารู้สึกเบื่อหน่ายกับวัฒนธรรมของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานอย่างไร้ความปราณี เช่น ตารางการทำงาน “996” (9.00 น. ถึง 21.00 น. เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์) Kim ซึ่งเคยทำงานด้านการพัฒนาธุรกิจที่ Bloomberg ในฮ่องกง ตระหนักดีถึงความเสี่ยงของการทำงานมากเกินไป โดยในปี 2019 เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง “เขาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกรณีการใช้งานที่ดีและผู้ใช้บริการด้านสุขภาพจิต เช่น Ami” Jin Oh พาร์ตเนอร์จาก Goodwater Capital ซึ่งเป็นผู้นำการลงทุนใน Ami กล่าว “นั่นเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผมเป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจตลาดที่เขากำลังเผชิญอยู่จริงๆ” ด้าน Nahm ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจิต เช่น การทำสมาธิแบบพุทธ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวตะวันตกนั้นมีต้นกำเนิดมาจากเอเชีย “ผมคิดว่าเอเชียจะตามทันกระแสของตะวันตกในเร็วๆ นี้ เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพจิต” John Nahm ผู้ร่วมก่อตั้งและพาร์ตเนอร์จาก Strong Ventures แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Under 30 Asia Alum Launches Digital Mental Healthcare Startup Amid Lockdowns And Pandemic Stress เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: ไฮไลท์ 11 มหาเศรษฐี ‘ผู้ร่ำรวยที่สุดของจีน’ ประจำปี 2021 ตอนที่ 1