Hong Chichi ผู้ก่อตั้ง hey Maet - Forbes Thailand

Hong Chichi ผู้ก่อตั้ง hey Maet

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Oct 2021 | 09:00 AM
READ 2832

ขณะที่เอเชียเริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในสถานการณ์โควิด-19 เหล่านักเคลื่อนไหว ผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำอายุน้อย ในทำเนียบรายชื่อ Forbes 30 Under 30 Asia 2021 ก็กำลังทำงานหนักภายใต้กรอบวิถีใหม่ หลังจากปีที่หนักหน่วงที่สุดในช่วงอายุของพวกเขาผ่านพ้นไปเหล่า มิลเลนเนียลและเจน Z ทั้ง 300 คนนี้มุ่งมั่นเพื่อเอาชีวิตรอด หรือแม้กระทั่งไขว่คว้าความสำเร็จมาได้ แม้จะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์อันยาวนาน พบดาวเด่นแห่งหมวดศิลปะ

Hong Chichi อายุ: 26 ปี • ผู้ก่อตั้ง hey Maet • จีน หมวด: ศิลปะ เนื้อหมูเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารจีนมานาน แต่ Hong Chichi มองว่าเรื่องนี้ถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว หลังจาก Hey Maet เปิดตัวใน Shanghai ได้ไม่ถึงปี สตาร์ทอัพผลิตเนื้อเทียมจากพืชรายนี้ก็จับตลาดเฉพาะกลุ่มคือ ผู้บริโภคหนุ่มสาวชาวเมืองที่รักสุขภาพได้ด้วยผลิตภัณฑ์อย่างเกี๊ยวและซาลาเปาที่มีโปรตีน จากข้าวและถั่วเหลือง Hong วัย 26 ปีไม่เปิดเผยยอดขาย แต่คาดการณ์ว่ารายได้จะโต 500% ในปีนี้ “จีนน่าจะยอมรับเนื้อเทียมจากพืชได้เร็วกว่าชาติตะวันตก” เธอกล่าว “ฉันอยากผลักดันผลิตภัณฑ์พวกนี้เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคกระแสหลักด้วยในช่วง 3 ปีข้างหน้า” Hong มีเหตุผลมากพอให้คาดการณ์ในแง่ดีได้ Jason Yu ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทที่ปรึกษา Kantar Worldpanel ใน Shanghai ให้ข้อมูลว่า ไข้หวัดหมูแอฟริกาได้ทำลายประชากรหมูในจีนไปประมาณครึ่งหนึ่งแล้วนับตั้งแต่โรคนี้เริ่มระบาดขึ้นเมื่อปี 2018 จนทำให้อุปทานขาดแคลน และเริ่มเกิดความวิตกเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และในขณะเดียวกันผู้บริโภคในเมืองใหญ่อย่าง Beijing และ Shanghai ก็พร้อมจ่ายแพงขึ้นเพื่ออาหารโปรตีนสูงที่ผลิตด้วยวิธีการซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ในจีนมีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 35% จาก 8 พันล้านเหรียญในปี 2015 และบริษัทที่ปรึกษา Euromonitor International คาดว่าตลาดนี้จะโตอีก 30% ภายในปี 2025 เป็นมูลค่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญ Hey Maet ไม่ใช่การลงทุนครั้งแรกของ Hong หลังจากเธอจบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จาก Simon Fraser University ในแคนาดา Hong ได้งานเป็นนักลงทุนอยู่ที่สำนักงานใน Silicon Valley ของบริษัทร่วมลงทุนจากฮ่องกง Ausvic Capital เธอใช้เวลา 2 ปีลงทุนในเหล่าสตาร์ทอัพที่พัฒนาทุกอย่างตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์จนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ความอยากเริ่มทำธุรกิจของตัวเองก็ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ ในปี 2019 Hong ผู้ทานมังสวิรัติมา 10 ปีแล้วจึงตั้งเป้าจะพัฒนาอาหารที่ทำจากพืช ในขณะนั้นตลาดจีนยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคหัวก้าวหน้ากลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อ Beyond Meat ประสบความสำเร็จจากการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนในจีน จึงเริ่มออกล่าบริษัทอาหารทางเลือกในประเทศมาเข้าพอร์ตกันมากขึ้น Hong เริ่มต้นความพยายามครั้งแรกกับ Zhen Meat บริษัทที่เธอร่วมก่อตั้งใน Beijing เมื่อปี 2019 แต่เธอลาออกเพราะมีความเห็นแตกต่างจากผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ในเรื่องการวิจัยและพัฒนาและกลยุทธ์หลังจากนั้นเธอก็ใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ที่เธอมีรวมทีมนักวิทยาศาสตร์อาหาร และเปิดตัว Hey Maet ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว (คำว่า Maet ตั้งใจให้สะกดผิดจากคำ “meat” เพื่อเป็นการย้ำถึงบริษัทว่า กำลังช่วยเปลี่ยนนิยามของอาหาร) บริษัทของ Hong ไม่ใช่บริษัทเดียวที่เล็งเข้าหาตลาดจากการที่จีนนิยมผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ร้าน Starbucks ในจีนขายพาสต้าใส่เนื้อเทียมที่ผลิตจากบริษัทจดทะเบียนในตลาด Nasdaq ชื่อ Beyond Meat ส่วน Hey Maet เล็งจับตลาดด้วยรสชาติท้องถิ่น สินค้าขายดีตัวหนึ่งของบริษัทคือ บ๊ะจ่างมังสวิรัติ (ข้าวเหนียวห่อไส้) ที่ผลิตร่วมกับบริษัทของว่างชื่อ Bai Cao Wei โดยใช้เนื้อหมูเทียมของ Hey Maet ทำไส้ และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทก็จับมือกับ 7 HongKong Style Cuisine เครือร้านอาหารที่ Jordan Chan นักร้องชาวฮ่องกงเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อให้ร้านนี้ขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ใส่เนื้อวัวเทียมของ Hey Maet ด้วย เมื่อเหล่านักลงทุนได้ลิ้มรสศักยภาพของบริษัทนี้ จึงช่วยให้ Hong ระดมทุนในจำนวนที่ไม่เปิดเผยได้จาก Tiantu Capital, Guo Wei ผู้ก่อตั้ง UpHonest Capital, Shuangta Food บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ Shanghai รวมทั้งนักลงทุนรายอื่นๆ ซึ่งเธอก็นำเงินก้อนใหญ่ไปใช้กับการวิจัยและพัฒนา เพราะ Hong อยากปรับปรุงเนื้อสัมผัสและรสชาติของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ Daisy Li รองผู้อำานวยการจากบริษัทที่ปรึกษา Mintel ใน Shanghai กล่าวว่า Hey Maet และบริษัทอื่นในธุรกิจนี้ยังต้องเผชิญปัญหาในการขยายธุรกิจ ปัญหาแรกคือ เนื้อเทียมที่ผลิตจากพืชมักขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในจีน ทำให้เนื้อเทียมถูกตัดออกจากเมนูของร้านอาหารเล็กๆ ที่ต้องคำนึงถึงต้นทุน แต่ Hong กล่าวว่า เธอกำลังคิดค้นผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดกระแสหลัก ซึ่งอาจจะเป็นของว่าง “เรากำลังทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ทีละขั้น” เธอกล่าว “การสร้างพฤติกรรมการบริโภคแบบใหม่ต้องใช้เวลา แต่เราจะจับมือกับบริษัทอื่นเพิ่มอีก และสำรวจโอกาสไปเรื่อยๆ” -- Yue Wang รายงาน เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง, เอมวลี อัศวเปรม และ บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine