Hiroshi Mikitani แห่ง Rakuten ปฏิวัติเครือข่ายมือถือใหม่บนคลาวด์ - Forbes Thailand

Hiroshi Mikitani แห่ง Rakuten ปฏิวัติเครือข่ายมือถือใหม่บนคลาวด์

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Sep 2019 | 10:23 AM
READ 3137

Hiroshi Mikitani กำลังมุ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในญี่ปุ่นด้วย Rakuten Mobile

Hiroshi Mikitani ซีอีโอแห่ง Rakuten ไม่ใช่พวกที่วิ่งหนีความเสี่ยง และการเดิมพัน 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขาในวันนี้ก็เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยทํามากับสตาร์ทอัพเทคโนโลยีใหม่เพื่อเขย่าตลาดโทรศัพท์มือถือซึ่งผูกขาดอยู่เพียง 3 รายใหญ่และยากที่ใครจะเจาะเข้าไปได้ Rakuten ต้องการสร้างเครือข่ายโทรคมนาคมรูปแบบใหม่ในญี่ปุ่นโดยใช้เวลาน้อยสุดเพียงครึ่งหนึ่งและในต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยการลงทุนที่อาจใช้น้อยกว่าถึง 40% เมื่อเทียบกับการสร้างระบบโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม บริการใหม่ที่มีชื่อว่า Rakuten Mobile ตั้งเป้าหมายดึงดูดผู้ใช้งานราว 10 ล้านคนภายในระยะ 9 ปีข้างหน้า และขยายไปเป็น 15 ล้านคนในระยะถัดไป ด้วยการให้บริการที่บริษัทอ้างว่าจะถูกกว่า เร็วกว่า มีความเสถียรมากกว่าโครงข่ายแบบเดิม ขณะที่เงินลงทุน 5.5 พันล้านเหรียญ ก็ประมาณเท่ากับงบที่ 2 ยักษ์โทรคมนาคมอย่าง NTT Docomo และ KDDI ใช้ลงทุนต่อปีกันเท่านั้น “นั่นล่ะคือประเด็นสําคัญเลย” Mikitani วัย 54 ปี ซึ่งอยู่ใน อันดับ 5 มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นในปีนี้ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6 พันล้านเหรียญ กล่าว
Hiroshi Mikitani ซีอีโอแห่ง Rakuten ในวัย 54 ปี
Hiroshi Mikitani ซีอีโอแห่ง Rakuten ในวัย 54 ปี
Mikitani วางแผนที่จะดึงฐานลูกค้าเดิมของ Rakuten ราว 100 ล้านคนในญี่ปุ่น ทั้งในส่วนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ บัตรเครดิต อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เทรดดิ้งออนไลน์ และคอนเทนต์ ให้มาลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์ใหม่นี้ด้วย โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตามเมืองใหญ่ก่อนในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจึงค่อยขยายไปทั่วประเทศ “การใช้ระบบนิเวศของเราเองจะทําให้ได้ลูกค้ามาในต้นทุนที่ถูกกว่ามาก การดําเนินงานของเราก็คล่องตัวกว่าบรรดาคู่แข่ง นอกจากนี้ เรายังสามารถเสริมบริการใหม่ให้เข้มข้นขึ้น โดยใช้ระบบนิเวศของ Rakuten ที่มีอยู่ ผมคิดว่าคนทั่วไปไม่มานั่งสนใจหรอกว่าจะเป็น NTT เป็น SoftBank หรือว่า เป็น Rakuten เพราะหัวใจหลักอยู่ที่การเชื่อมต่อ ความเร็ว ราคา และบริการพิเศษที่คุณมอบให้พวกเขามากกว่า” Mikitani กล่าว ในขณะที่ Rakuten เริ่มให้บริการนั้น KDDI ก็จะเป็นผู้ให้บริการไปยังพื้นที่ที่ Rakuten ยังไม่ได้เข้าถึง โดยปัจจุบัน บริษัทมีบริการระบบโทรศัพท์มือถือเสมือนที่เช่าสายสัญญาณมาจากธุรกิจเดิมอย่าง NTT Docomo และ KDDI หนึ่งในเทคโนโลยีสําคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังเครือข่ายนี้ชื่อว่า เครือข่ายวิทยุเสมือน (VRAN) ซึ่งทําให้การทํางานของบรรดาสถานีข่ายที่เชื่อมโทรศัพท์มือถือเข้ากับเครือข่ายมีความง่ายขึ้น Tareq Annin ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Rakuten กล่าวว่า การใช้เครือข่ายดังกล่าวบนระบบคลาวด์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีโนว์ฮาวอื่นๆ สามารถช่วยลดต้นทุน ด้านการดําเนินงานและการซ่อมบํารุงได้อย่างน้อยถึง 30% โดย Rakuten กําลังสร้างบริการเครือข่าย 4G ที่สามารถ เปลี่ยนไปเป็น 5G ได้ง่ายๆ ราวกับการอัปเดตซอฟต์แวร์ แทนที่จะเป็นการลงทุนฮาร์ดแวร์ใหม่ราคาแพงลิ่ว
Rakuten Mobile
สถานีเครือข่ายของ Rakuten Mobile
Mikitani ไม่ใช่มหาเศรษฐีรายแรกที่เข้ามาเขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในญี่ปุ่น มหาเศรษฐีอย่าง Masayoshi Son ก็เคยเดิมพันคล้ายกันมาแล้ว แต่แทนที่จะเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนที่ Mikitani กําลังทําอยู่ Son ก้าวเข้ามาด้วยการซื้อธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วของบริษัท Vodafone ในญี่ปุ่น เป็นเงินเกือบ 1.8 ล้านล้านเยน (ราว 1.5 หมื่น ล้านเหรียญ) ในปี 2006 ซึ่งกลายมาเป็น SoftBank ในปัจจุบัน แม้ Rakuten เองเชื่อมั่นว่า จะสามารถส่งมอบบริการในเชิงพาณิชย์ได้ตามกําหนดในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่นักลงทุนบางส่วนกลับไม่เชื่ออย่างนั้น ทั้งนี้ CLSA คาดการณ์ว่าผลกําไรสุทธิของ Rakuten ในปี 2017 จะลดลง 5% มาอยู่ที่ 5.87 หมื่นล้านเหรียญ และลดลงอีก 38% มาอยู่ที่ 3.64 หมื่นล้านในปีถัดไป เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจสื่อสารและยังมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของอี-คอมเมิร์ซ และ Rakuten จะเผชิญภาวะขาดทุนไปอีก 3 ปีหลังจากนั้นเป็นอย่างน้อย ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีบริษัทสื่อสารรายใดที่จะสร้างเครือข่าย VRAN บนระบบคลาวด์ตั้งแต่ต้นจนจบโดยเริ่มจากศูนย์เหมือนที่ Rakuten พยายามทําอยู่ ซึ่งแม้แต่ Rakuten เองก็ยอมรับความท้าทายนี้ ในการเปิดตัวระบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ “พวกเขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เรากล้าที่จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้” Rakuten เปิดเผยในเดือนเดียวกันว่า ต้องการลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์กับ Altiostar Networks บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมสร้างระบบด้วยกัน แต่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเงินลงทุน ถึงอย่างนั้นก็ตาม บางส่วนยังเชื่อว่าธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ Rakuten จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้บริษัทเฉือนเอาชนะคู่แข่งหลายรายในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้ โดยเฉพาะ Amazon หลังจาก Amazon กวาดส่วนแบ่งการตลาดอี-คอมเมิร์ซในญี่ปุ่นไปได้ถึง 25% เมื่อปีที่แล้ว จากตลาดที่มีมูลค่า 8.7 หมื่นล้านเหรียญ แซงหน้า Rakuten ที่ได้ไปเพียง 17% ตามที่ข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด Euromonitor ที่ได้บันทึกไว้ นอกจากการแข่งขันกับ Amazon แล้ว Rakuten ยังต้องแข่งขันกับบรรดายักษ์สื่อสารรายอื่น ๆ ที่ทั้งทุนหนาและแข็งแกร่งในตลาดญี่ปุ่น NTT Docomo เป็นผู้นําด้วยส่วนแบ่งการตลาด 30% จากยอดผู้ลงทะเบียนใช้งานทั้งหมด 178 ล้านคน ตามมาด้วย KDDI ในสัดส่วน 28% และ SoftBank 23% ที่เหลือเป็นของบริษัทที่เช่าคู่สายจาก 3 บริษัทดังกล่าวเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือราคาถูก  

จากวัยรุ่นมีปัญหาสู่มหาเศรษฐีพันล้าน

ย้อนกลับไปในช่วงวัยรุ่นของ Hiroshi Mikitani เขาทั้งโดดเรียน สูบบุหรี่ เล่นปาจิงโกะ และพนันม้าแข่ง ก่อนจะกลับตัวได้ในช่วงท้ายของมัธยมปลาย เขาจบจากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi ถึงช่วงทำงานก็เป็นนายแบงก์ที่ Industrial Bank of Japan (IBJ) ซึ่งเป็นธนาคารสายอนุรักษ์นิยม เขาเป็นคนแรกในรุ่นที่ได้ทุนจากธนาคารไปต่อ MBA ที่ Harvard Business School ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ Kobe บ้านเกิดของเขาเมื่อปี 1995 ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 6,000 คน รวมถึงญาติและเพื่อนๆ ของเขาด้วย แรงกระตุ้นนี้ทำให้เขาหันมาสนใจศาสนาพุทธและลาออกจาก IBJ
Hiroshi Mikitani
Mikitani เมื่อปี 2006
ในปี 1997 เมื่อไม่รู้จะทำอะไรในญี่ปุ่นซึ่งนิยมรับเด็กจบใหม่มากกว่าพนักงานที่ย้ายงาน Mikitani ร่วมกับเพื่อน Shinnosuke Honjo ใช้เงินลงทุนกว่าครึ่งล้านเหรียญก่อตั้ง Rakuten เป็นตลาดออนไลน์ที่มีความเป็นลูกผสมระหว่าง Amazon กับ eBay ซึ่งสร้างรายได้ต่อปีเกือบ 30 ล้านเหรียญในปี 2000 ปีที่ Rakuten เปิดไอพีโอ Mikitani นับเป็นหนึ่งในหัวแถวของผู้ปฏิวัติอินเทอร์เน็ตในญี่ปุ่นเคียงคู่กับ Masayoshi Son แห่ง Softbank และเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น โดยประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ทั้งยังยื่นเสนอซื้อสถานีโทรทัศน์ Tokyo Broadcasting System แบบไม่เป็นมิตร (ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในญี่ปุ่นแม้ในปัจจุบัน) เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง Japan Association of the New Economy หรือ JANE ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตและไอที มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนโยบายการปฏิรูปต่างๆ เช่น การผ่อนปรนกฎหมายผู้อพยพในญี่ปุ่น การอนุญาตให้มีธุรกิจไรด์แชร์ริ่ง การลดภาษีต่างๆ เป็นต้น   เรื่อง: James Simms เรียบเรียง: นันทิยา วรเพชรายุทธ  
คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็ม “ปฏิวัติเครือข่ายมือถือใหม่บน "คลาวด์” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine