CPT โชว์แกร่งผู้นำผู้ผลิตตู้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักร บุกอาเซียน - Forbes Thailand

CPT โชว์แกร่งผู้นำผู้ผลิตตู้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักร บุกอาเซียน

ทีมวิศวกรผนึกกำลังสร้างชื่อบริษัทสัญชาติไทยชูประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และผลงานเรียกความเชื่อมั่นครองตลาดเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

เบื้องหลังอาณาจักรอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลมากกว่า 95% ได้รับการพัฒนาและควบคุมเครื่องจักรการผลิต โดยกลุ่มวิศวกรสามทหารเสือจับมือกันนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมก่อตั้งบริษัทสัญชาติไทยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตการทำงานของเครื่องจักรเพื่อผู้ประกอบการไทย “ผมศึกษาทางด้านนี้มาโดยตรง และเริ่มทำงานเป็นวิศวกรเดินเครื่องจักรหลายปี ก่อนจะเลื่อนเป็นผู้บริหารและมีโอกาสดูงานที่ต่างประเทศ จนมีลูกค้าหลายรายถามว่า ทำไมยังเป็นพนักงานในบริษัทต่างชาติหรือไม่เปิดบริษัทเอง ซึ่งธนาคารต่างๆ ก็ยินดีสนับสนุนด้านสินเชื่อ ในเวลานั้นถือว่ามีความพร้อมทุกอย่างทั้งสินค้า ลูกค้า และการเงิน” สมศักดิ์ หลิมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ยังระลึกถึงช่วงเวลาที่ชักชวน อภิชาติ ปีปทุม และนพดล วิเชียรเกื้อ วิศวกรในบริษัทร่วมกันสร้างธุรกิจในปี 2537 จากวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการขายอุปกรณ์ไฟฟ้าควบคุมความเร็วหรือการทำงานของมอเตอร์และระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ในการควบคุมเครื่องจักรเพื่อให้สอดคล้องกับการผลิต ภายใต้ชื่อ บริษัท ซี.พี.ที. (ไทยแลนด์) จำกัด สู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็น บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งย่อมาจาก Control Power and Transmission หรือระบบไฟฟ้ากำลังสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในปี 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยมีครอบครัวหลิมประเสริฐ ครอบครัวปีปทุม และครอบครัววิเชียรเกื้อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “แม้เราจะเป็นบริษัทไทยรายแรกที่เริ่มต้นธุรกิจนี้แต่เราก็มั่นใจจากฐานลูกค้าที่มีในมือปีแรกประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเขาเชื่อมั่นในประสบการณ์ทำงานและความสามารถในการตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า โดยในช่วงแรกเราเริ่มต้นจากการดัดแปลงเครื่องจักรเก่า ปรับปรุงระบบควบคุมทั้งหมด และเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ทันสมัยขึ้น รวมถึงควบคุมระบบฐานข้อมูล ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิต” หลังการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเป็น CPT บริษัทพร้อมดำเนินการผลิตและประกอบตู้ไฟฟ้าที่ใช้กับระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการป้อนข้อมูล ได้แก่ ระบบการควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้าและส่งกำลังอัตโนมัติ (Automatic Drives and Power) และระบบตู้ไฟฟ้ากำลัง (Power Distribution Panel) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล รวมถึงการเก็บสำรองอะไหล่ และการให้บริการหลังการขาย ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายตลาดด้วยการเพิ่มประเภทของสินค้าไปยังอุตสาหกรรมอื่นเพื่อลดความเสี่ยงการพึ่งพาโรงงานน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การเพิ่มสินค้าประเภท Medium Voltage Inverter หรืออุปกรณ์ที่ควบคุมความเร็วของมอเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขับพัดลมและปั๊มน้ำเพื่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการจัดจำหน่ายและติดตั้งระบบให้โรงงานปูนซีเมนต์และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เหมืองแม่เมาะ รวมถึงลูกค้าขนาดใหญ่จำนวนมาก นอกจากนั้น บริษัทยังเพิ่มสินค้าประเภท Medium Voltage Soft Starter หรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการสตาร์ทมอเตอร์ขนาดใหญ่ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวตั้งเป้าในการนำเสนองานในโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ซึ่งทำให้บริษัทขยายงานเข้าสู่โครงการของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจมากขึ้น ทั้งยังขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น การจัดจำหน่ายและติดตั้งระบบการควบคุมเครื่องจักรพร้อมมอเตอร์ขนาดใหญ่ หม้อปั่น และตู้ควบคุมหม้อปั่น ซึ่งขายให้โรงงานน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พร้อมแผนร่วมทุนขยายฐานธุรกิจ ด้วยการจัดตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศ “การต่อยอดธุรกิจของเรามาจากความต้องการของลูกค้า ซึ่งพอใจในผลงานของเราไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของสินค้า ระบบที่เราออกแบบ และการบริการต่างๆ เมื่อเราทำเครื่องจักรให้ลูกค้าเรียบร้อย เขาต้องการให้เราทำงานต่อ หรือดูแลโรงงานครบวงจรครอบคลุมถึงสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความไว้วางใจของลูกค้า” ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้บริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยรวมรายได้ทั้งหมด 1.23 พันล้านบาทและกำไรสุทธิ 113.01 ล้านบาทในปี 2559 พร้อมทั้งกลุ่มลูกค้าหลักแบ่งเป็น โรงงานอุตสาหกรรม ผู้จัดจำหน่าย OEM และ งานก่อสร้างอาคารสูง เป็นต้นซึ่งมีสัดส่วนการจัดจำหน่ายในประเทศ 91% และต่างประเทศ 9% สำหรับสัดส่วนของรายได้หลักมาจากการขายตู้ไฟฟ้า (Panel) จำนวนประมาณ 55% ทั้งตู้ไฟฟ้าระบบควบคุมเครื่องจักรและตู้ไฟฟ้าระดับแรงดันต่ำ (220-690 V.) และแรงดันปานกลาง (3.3-36 kV.) จ่ายกระแสไฟฟ้าให้โรงงานและเชื่อมต่อระบบกระแสไฟฟ้ากลับไปยังสายส่ง (Synchronize) เพื่อขายไฟให้แก่ภาครัฐ และการขายสินค้าสำเร็จรูปประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุม (Unit) ประมาณ 17% ส่วนรายได้การให้บริการรับเหมาและติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 25% โดยออกแบบและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงตู้ควบคุมในการทำงานรวมและระบบการป้องกันความผิดพลาด (Protective Relays) พร้อมระบบแสดงผล/ควบคุมและการวิเคราะห์ (SCADA) ผ่านระบบเส้นใยนำแสง ทั้งยังให้บริการวางรากฐานและการติดตั้งสายเคเบิลสำหรับการเชื่อมต่องานตู้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น โรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปและสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงรายได้การให้บริการราว 3% โดยเฉพาะการซ่อมและจัดจำหน่ายอะไหล่สำหรับอุปกรณ์ที่บริษัทจำหน่ายไปแล้ว ตลอดจนการให้บริการตรวจสอบสภาพอุปกรณ์และระบบไฟฟ้าที่โรงงานเพื่อให้อุปกรณ์และระบบอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน “โรงงานส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเราอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ไทย โรงงานยางรถยนต์โอตานิ โรงผลิตกระดาษ โรงเหล็ก หรือโรงงานน้ำตาล เกือบทั้งหมด ซึ่งเคสน้ำตาลจะมีครบทุกรูปแบบทั้งมอเตอร์ขนาดใหญ่ ระบบการควบคุมเครื่องจักรที่ต้องมีศูนย์กลางที่ดี นอกจากนั้นยังมีการผลิตไบโอแมสจำหน่ายไฟเราอยู่ในทุกส่วนของธุรกิจ” โชว์ “พอร์ต” เปิดทางต่างแดน ในน่านน้ำการแข่งขันที่ CPT สามารถยึดหัวหาดอุตสาหกรรมหนักรายใหญ่มากที่สุดในประเทศ สมศักดิ์ยังเล็งเห็นโอกาสนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและผลงานที่สั่งสมมากกว่า 2 ทศวรรษเดินหน้าขยายน่านน้ำไปยังตลาดต่างประเทศ พร้อมเพิ่มกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่น โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว “เราเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาระยะหนึ่งเพื่อความยั่งยืนของบริษัท เพราะการเข้าตลาดมีกฎเกณฑ์และการควบคุมระเบียบวินัยที่ดี รวมถึงการระดมทุนที่ช่วยให้บริษัทมีความมั่นคงทางด้านการเงิน ซึ่งทำให้ผมมั่นใจว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีผม บริษัทนี้จะไม่ล่มสลาย และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปในหลายรุ่นเช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี” สมศักดิ์กล่าวถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งขยายกลุ่มลูกค้าไปยังภาครัฐบาลและตลาดต่างประเทศหลังจากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยลงทุนก่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรประมาณ 200 ล้านบาทในโครงการผลิตตู้ไฟชนิดไม่มีโครงสร้างแบบ Metal Clad Switchgear (MCSG) ซึ่งผ่านมาตรฐาน Typetest ระดับนานาชาติและมาตรฐานของไทย รวมถึงการซื้อเทคโนโลยีการผลิตตู้ (know how) จาก ABB (อิตาลี) เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจในกรณีผู้จัดจำหน่ายหรือซัพพลายเออร์ที่เป็นคู่แข่ง เช่น LS, ABB, SEIMENS ไม่จำหน่ายสินค้าให้ทำให้บริษัทไม่สามารถควบคุมต้นทุนสินค้าได้ สำหรับการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทสามารถเข้าประมูลงานของหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทเอกชนได้รวมถึงลูกค้าต่างประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรมหนัก โรงไฟฟ้า (Power Plant)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าภูมิภาค (PEA) เป็นต้น นอกจากนั้น บริษัทยังลงทุนซื้อเทคโนโลยีและอุปกรณ์บางส่วนจากบริษัท CEE Power ประเทศจีน, จัดทำความร่วมมือกับบริษัท Danfoss จากประเทศเดนมาร์กในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการประกอบและจัดจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานหรือ Energy Storage System นอกเหนือจากการลงทุนซื้อที่ดิน ก่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักร สมศักดิ์ยังวางงบลงทุนราว 70 ล้านบาทสำหรับขยายตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา จากแนวโน้มการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ในประเทศ เช่น โรงงานผลิตกระดาษ และโรงงานผลิตเหล็กเส้น เป็นต้น “แนวทางการขยายธุรกิจของเราจะจริงจังมากขึ้น ด้วยการตั้งสาขาหรือสำนักงานสร้างการเติบโต โดยเฉพาะในประเทศที่มีพัฒนาการและความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมคล้ายบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเราสามารถนำผลงานในอดีตไปขายให้ลูกค้าเหล่านี้ได้ เนื่องจากการผลิตสินค้าในแต่ละประเทศไม่ค่อยต่างกัน เราสามารถพัฒนาโมเดลและปรับใช้ในต่างประเทศได้” สำหรับกลยุทธ์การสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศจะดำเนินการในลักษณะแผนร่วมทุนตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศหรือ Representative Office และจ้างพนักงานประจำ ประมาณ 2-3 คน เพื่อดูแลเรื่องการจำหน่ายและให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าในประเทศนั้นๆ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ทั้งการติดต่อและบริการเพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นกว่าเดิม “ทุกวันนี้เรามีลูกค้าต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% แต่เราต้องการเพิ่มเป็น 30% ซึ่งน่าจะได้เห็นรายได้ 500 ล้านบาทภายใน 3 ปี โดยการสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศของเราเหมือนต่างชาติที่มีความพร้อมขยายธุรกิจในไทย เราก็มีความพร้อมขยายไปยังต่างประเทศ” สมศักดิ์มั่นใจในศักยภาพและจุดเด่นในการแข่งขันของบริษัท ได้แก่ การเป็นบริษัทของคนไทยที่สามารถประกอบตู้ไฟฟ้าแบบครบวงจรเพื่อการควบคุมเครื่องจักรและระบบไฟฟ้ารวมถึงมอเตอร์และอุปกรณ์ควบคุมทุกประเภทที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังมีการให้บริการหลังการขายที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลักภายใต้ผู้บริหารและทีมงานที่มีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี พร้อมด้วยโรงงานผลิตของบริษัทที่สามารถควบคุมต้นทุน คุณภาพและระยะเวลาในการผลิตได้เป็นอย่างดี ขณะที่บุคลากรของบริษัทจำนวนกว่า 170 คนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการผลักดันให้ธุรกิจสามารถสร้างผลงานนวัตกรรมและการบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งสมศักดิ์ให้ความสำคัญในการดูแลทีมงานทุกคนเหมือนครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศการทำงาน ผลตอบแทนสวัสดิการ และการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องบนหลักการบริหารธุรกิจและทรัพยากรบุคคลของบริษัท สมศักดิ์เชื่อมั่นในการเติบโตสู่ระดับ 2.5 พันล้านบาทภายใน 3 ปี พร้อมพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงระดับโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว “ทิศทางองค์กรมีความชัดเจน ในการร่วมมือกันทำงาน ทุกฝ่ายต้องทำงานเพื่อสนับสนุนลูกค้า การส่งมอบงานตรงเวลา ฝ่ายบริการวิ่งงานเกือบ 24 ชั่วโมง โดยอิงผลประโยชน์ของลูกค้าและการสร้างความพึงพอพอใจให้ลูกค้ามากที่สุด ทำให้ลูกค้าใช้บริการเราอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้” ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น
คลิกอ่าน "CPT ติดอาวุธพอร์ตคุมเครื่องจักรอาเซียน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine