ขอต้อนรับสู่พิธีรับตำแหน่งทำเนียบ Best Over A Billion ของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีผลประกอบการระดับสูงและมีรายได้ตั้งแต่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป เราจัดทำเนียบใหม่นี้เพื่อเสริมกับทำเนียบ Best Under A Billion ที่มีมานานแล้วสำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง 200 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีผลงานดีเยี่ยมแต่มีรายได้ไม่ถึง 1 พันล้านเหรียญ
ปัจจุบันทำเนียบทั้งสองรายการครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนในเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด และเราคัดเลือกบริษัท 400 แห่งตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดจนถึงใหญ่ที่สุด โดยใช้ยอดขาย 1 พันล้านเหรียญเป็นเส้นแบ่ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับทำเนียบใหม่จะคล้ายกับหลักเกณฑ์ที่เคยใช้ทำในครั้งก่อนๆ และในความเป็นจริง บริษัทที่โดดเด่นส่วนหนึ่งในทำเนียบ Best Over A Billion ก็คือ บริษัทที่มีรายได้เพิ่มสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญ และเลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่ในทำเนียบนี้ได้ เช่น Alibaba, Jollibee และ Tencent
ตัวชี้วัดอีกอย่างที่เห็นได้ชัดในทำเนียบนี้ คือ ความเกี่ยวโยงระหว่างบริษัทและสมาชิกในทำเนียบเศรษฐีในเอเชียแปซิฟิกของเรา มีหลายคนสังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกในเอเชียระหว่างผลประกอบการของบริษัทและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ เพราะอย่างไรเสีย ถ้าความมั่งคั่งของคุณขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของบริษัท คุณก็ย่อมมีแรงกระตุ้นในการทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีในระยะยาว ส่วนผลลัพธ์น่ะหรือ มีบริษัทประมาณเกือบ 2 ใน 3 ในทำเนียบนี้ที่ควบคุมโดยและมีความเกี่ยวโยงกับตระกูลหรือบุคคลผู้มีชื่อปรากฏในทำเนียบเศรษฐีของ Forbes Asia
วิธีคัดเลือก
การคัดเลือกเริ่มจากกลุ่มบริษัทจดทะเบียน 3,200 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีรายได้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไปในปีบัญชีล่าสุด จากนั้นตัดบริษัทที่ไม่ทำกำไรและยอดขายตกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาออก กลุ่มต่อมาที่จะหลุดจากทำเนียบคือ บริษัทที่มีหนี้ระยะยาวเท่ากับหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของทุน และบริษัทที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลหรือกฎหมายอย่างชัดเจน
สุดท้าย ผู้เข้าชิงตําแหน่งจะถูกจัดอันดับโดยใช้กลุ่มตัวชี้วัดเกินกว่า 1 โหล ซึ่งรวมถึงยอดขายเฉลี่ย 5 ปี การเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน และผลคาดการณ์การเติบโตในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จนได้บริษัทที่มีคะแนนรวมสูงสุดเข้ามาสู่กระบวนการขั้นสุดท้าย 200 อันดับ
เป้าหมายของเราคือ การค้นหาบริษัทในภูมิภาคที่มีการบริหารดีที่สุด และทําผลงานได้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่ดีในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องดีในหลายด้าน และแม้บริษัทจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในทําเนียบไปโดยธรรมชาติ เนื่องจากมีบริษัทที่เข้าชิงเป็นจำนวนมากกว่า แต่ก็มีหลายบริษัทที่มาจากตลาดเล็กกว่า อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ผลสรุปจึงออกมาเป็นทำเนียบซึ่งแสดงรายชื่อบริษัทใหญ่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเอเชียแปซิฟิก
และนี่คือ 8 บริษัทที่ Forbes Thailand คัดมานำเสนอ
Tongwei - จีน
แม้จีนหั่นเงินอุดหนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ไปเมื่อปีที่แล้ว แต่บริษัทผลิตเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ Tongwei ยังคงสามารถทำยอดขายเพิ่มได้ด้วยการคว้าสัญญาจากลูกค้าต่างชาติ รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านหยวน (4 พันล้านเหรียญ) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ Tongwei ซึ่งดําเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ด้วยนั้น วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อผลิตแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 20 กิกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 12 กิกะวัตต์ ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในจีน บริษัทเปิดเผยว่า ความต้องการอาหารปลายังคงแข็งแกร่งและช่วยกระตุ้นผลกำไรช่วงครึ่งแรกได้ 58% --YueWang
STO Express - จีน
การเติบโตขึ้นของธุรกิจออนไลน์ได้ช่วยหนุนอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุของจีน ในเดือนสิงหาคม บริษัทโลจิสติกส์ STO Express ลงนามข้อตกลงมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญกับ Alibaba ซึ่งทำให้บริษัทได้สิทธิในการซื้อหรือขายหุ้นตามราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าที่มีผลเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ Alibaba ซื้อหุ้นสัดส่วนปัจจุบันของบริษัทที่ 15% เป็นมูลค่า 693 ล้านเหรียญในเดือนมีนาคม เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ บริษัทให้บริการส่งสินค้ารายแรกของจีนแห่งนี้เข้าจดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2015 STO ครองส่วนแบ่งตลาด 10% ของตลาดส่งสินค้าด่วนของจีน ผลกำไรสุทธิของ STO เพิ่มขึ้น 38% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 2.1 พันล้านหยวน (310 ล้านเหรียญ) จากรายได้ที่พุ่งขึ้นมา 35% -- Pamela Ambler
Titan - อินเดีย
กำไรสุทธิของ Titan ผู้ค้าปลีกเครื่องประดับและนาฬิกา ทะยานขึ้น 26% ไปอยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านรูปี (201 ล้านเหรียญ) สำหรับปีงบที่สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม จากความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวอินเดีย แต่ราคาทองคำที่ทําสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง จะเป็นลมพัดโหมปะทะบริษัทในปีนี้ Titan ยังจะเผชิญการเปลี่ยนผ่านผู้ดูแลบริษัทในเดือนตุลาคมด้วย เมื่อ C.K. Venkataraman หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเครื่องประดับ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน Bhaskar Bhat ที่มีกำหนดเกษียณอายุ หลังกุมบังเหียนมานาน 17 ปี -- Anuradha Raghunathan
Advantest - ญี่ปุ่น
บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์จาก Tokyo แห่งนี้ กำลังได้รับอานิสงส์จากความต้องการชิปทดสอบที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ขับเคลื่อนสมาร์ทโฟน 5G และแอปพลิเคชัน AI โดย Advantest มีผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปีงบที่สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ไปอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านเยน (524 ล้านเหรียญ) เนื่องจากรายได้ไต่ขึ้นมา 36% ไปแตะระดับ 2.82 แสนล้านเยน นักลงทุนดูเหมือนมั่นใจมากในกระแส 5G จนเมินคาดการณ์ของบริษัทที่ระบุว่า คำสั่งซื้อจะชะลอตัวลงในปีนี้ ท่ามกลางสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หุ้นของ Advantest กำลังซื้อขายที่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี หลังพุ่งขึ้นมา 97% แล้วในปีนี้ -- James Simms
Recruit Holdings - ญี่ปุ่น
บริษัทด้านการค้นหาการจ้างงานและรับสมัครงานรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยวัดตามมูลค่าตลาด มีกำไรเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เนื่องจากผู้คนจำนวนมากขึ้นใช้เว็บไซต์ของ Recruit เพื่อมองหาทุกสิ่งอย่างตั้งแต่งานไปจนถึงอะพาร์ตเมนต์ และแม้กระทั่งบริการตัดผม กำไรสุทธิของบริษัทพุ่งขึ้นเกือบ 15% ในปีงบที่สิ้นสุดวันท่ี 31 มีนาคม ไปอยู่ที่ 1.74 แสนล้านเยน (1.6 พันล้านเหรียญ) จากรายได้ 2.3 ล้านล้านเยน Recruit คาดว่าปีงบการเงินปัจจุบันจะยิ่งดีขึ้นไปอีก โดยบริษัทได้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศด้วยการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ที่รวมถึงการซื้อ Glassdoor เว็บไซต์หางานและรีวิวนายจ้างในสหรัฐฯ มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญ ไปเมื่อปีที่แล้ว -- James Simms
Naver - เกาหลีใต้
บริษัทให้บริการการค้นหาและบริการอินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้ กำลังแสวงหาแหล่งการเติบโตแห่งใหม่ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ด้วยการขยับขยายเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ บริการด้านไอทีที่รวมถึงอี-เพย์เมนต์และบริการคลาวด์ นับเป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุด ซึ่งขยายตัวกว่า 60% และทำรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ไปอยู่ที่ 5.6 ล้านล้านวอน (5 พันล้านเหรียญ) ในปี 2018 Naver เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดนอกเกาหลีจาก LINE แอปพลิเคชันส่งข้อความที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น และ SNOW แอปคล้าย Snapchat ซึ่งในปี 2018 ได้รับเงินทุน 50 ล้านเหรียญจาก SoftBank และ Sequoia China -- Luke Kelly
Vietjet - เวียดนาม
สายการบินต้นทุนต่ำจาก Ho Chi Minh แห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งจนไม่อาจถูกมองข้ามได้ จากการกลายเป็นสายการบินรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในเวลาเพียง 8 ปี Vietjet Aviation (ชื่อเต็มของบริษัท) ขนส่งผู้โดยสาร 23 ล้านคน ในปี 2018 ซึ่งทำให้บริษัทครองสัดส่วน 46% ของตลาดการสัญจรทางอากาศที่กำลังเฟื่องฟูของเวียดนาม แซงหน้าสายการบินแห่งชาติ Vietnam Air กำไรสุทธิของ Vietjet เพิ่มขึ้น 5.3% ไปอยู่ที่ 5.3 ล้านล้านด่อง (232 ล้านเหรียญ) ในปี 2018 เนื่องจากรายได้พุ่งขึ้น 27% ไปอยู่ที่ 54 ล้านล้านด่อง Vietjet คาดว่าจะยิ่งขยายตัวเร็วขึ้นไปอีกในปีนี้ โดยคาดว่าจะขนส่งผู้โดยสาร 30 ล้านคน ขณะที่บริษัทเพิ่มจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศมากขึ้น --Lan Anh Nguyen
Vingroup - เวียดนาม
บริษัทกลุ่มธุรกิจตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงค้าปลีกยังกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หลังเผยโฉมรถยนต์รุ่นแรกในเดือนมิถุนายนจากโรงงานผลิต Vingroup ก็ตามด้วยสายการบิน เพื่อเข้าไปทำเงินจากตลาดการเดินทางที่กำลังเติบโต แต่การกระจายธุรกิจก็ฉุดกำไรลง โดยกำไรสุทธิของ Vingroup ร่วงลง 15% ไปอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านด่อง (164 ล้านเหรียญ) ในปี 2018 เนื่องจากบริษัทเพิ่มการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ ส่วนรายได้พุ่งขึ้น 36% ไปอยู่ที่ 122 ล้านล้านด่อง Pham Nhat Vuong มหาเศรษฐีพันล้านคนแรกของเวียดนาม ซึ่งสร้างทรัพย์สมบัติช่วงแรกจากการขายอาหารกึ่งสำเร็จรูปในยูเครน ก่อตั้ง Vingroup ขึ้นเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 2001 และเริ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -- Lan Anh Nguyen
อ่านเพิ่มเติม เรื่อง: Jonathan Burgos, เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง, ชูแอตต์คลิกอ่านฉบับเต็ม ทำเนียบ 200 Best Over a Billion ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine