10 อันดับ ‘มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย’ ปี 2018 : คลื่นความเปลี่ยนแปลงในดินแดนแห่งหมู่เกาะ - Forbes Thailand

10 อันดับ ‘มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย’ ปี 2018 : คลื่นความเปลี่ยนแปลงในดินแดนแห่งหมู่เกาะ

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Mar 2019 | 09:33 AM
READ 10804

ทรัพย์สินรวมของ มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย 50 อันดับแรกทำสถิติใหม่ 1.29 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ครึ่งหนึ่งในลิสต์มีทรัพย์สินลดลงจากภาวะเงินรูเปียอ่อนค่า

ภาพรวมอินโดนีเซียปีนี้มีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย หากมองผิวเผิน ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกแห่งนี้น่าจะดูคึกคัก และดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 4.4% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อดูลิสต์มหาเศรษฐีอินโดฯ 50 อันดับแรกก็จะเห็นว่ามีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ มหาเศรษฐี 6 อันดับในกลุ่ม 10 อันดับแรกรวยขึ้นกว่าปีที่แล้ว เช่น พี่น้อง Hartono ผู้อยู่ในอันดับ 1 มาเป็นปีที่ 10 แล้ว สองพี่น้องลอยลำอยู่ในลิสต์ด้วยความแข็งแกร่งของ Bank Central Asia ซึ่งคิดเป็น 70% จากทรัพย์สินรวม 3.5 หมื่นล้านเหรียญ Susilo Wonowidjojo ไต่จากเดิมหนึ่งอันดับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 เพราะหุ้นใน Gudang Garam กิจการผลิต kretek (บุหรี่) ของเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ทรัพย์สินสุทธิของมหาเศรษฐีอันดับ 1 และ 2 ต่างกัน 280% ซึ่งเป็นช่วงห่างมากที่สุดเมื่อเทียบกันกับลิสต์ด้านทรัพย์สินทุกลิสต์ของ Forbes  ในปีนี้ Sri Prakash Lohia ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ในปีนี้ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ก็มาจากหุ้นของเขาใน บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส บริษัทปิโตรเคมีที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อมองในภาพรวมถือว่านักธุรกิจใหญ่ของอินโดนีเซียร่ำรวยขึ้น ทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีอินโดฯ 50 อันดับแรกเพิ่มขึ้นเป็น 1.29 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่เหนือกว่า 1.26 แสนล้านเหรียญในปีที่แล้ว โดยเกณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้คัดเลือกมหาเศรษฐีเข้ามาในลิสต์เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งมาอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ โดดขึ้น 150 ล้านเหรียญจากปี 2017 และนับเป็นจุดตัดที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้าน มหาเศรษฐีครึ่งหนึ่งในลิสต์กลับรวยน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา เงินรูเปียอ่อนค่าลง 5% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ และหุ้นส่วนหนึ่งก็ราคาตก เมื่อดูกันเป็นเปอร์เซ็นต์ ผู้แพ้ที่เจ็บหนักที่สุดคือ Soegiarto Adikoesoemo (อันดับ 39) ซึ่งทรัพย์สินลดลง 42% เนื่องจากราคาหุ้นของ AKR Corporindo บริษัทค้าปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ของเขาลดลง 1 ใน 5 มหาเศรษฐีผู้หลุดจากลิสต์ไปในปีนี้คือ Purnomo Prawiro ซึ่งหุ้นในกิจการแท็กซี่ Blue Bird ของตระกูลตกไปมากกว่า 25% เนื่องจากต้องแข่งขันกับบริการเรียกยานพาหนะอย่าง Grab (คำนวณทรัพย์สินโดยอ้างอิงราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2018)  

อันดับ 1 R. Budi & Michael Hartono 3.5 หมื่นล้านเหรียญ Bank Central Asia ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย อายุ: 78, 79 ปี

Michael กับน้องชาย Rudi มีทรัพย์สินรวมกัน 3.5 หมื่นล้านเหรียญ และรวยเป็นอันดับ 1 ในบรรดามหาเศรษฐีของอินโดนีเซีย 10 ปีติดต่อกัน ทรัพย์สินของตระกูลนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัท Djaruam ซึ่งเป็นผู้ผลิตบุหรี่ kretek ที่พ่อของเขาเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ปัจจุบัน ทรัพย์สินมากกว่า 2 ใน 3 ของพวกเขามาจากการลงทุนใน Bank Central Asia ซึ่งสองพี่น้องชิงมาจากตระกูล Salim (อันดับ 5) ได้ในช่วงที่เอเชียเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1998 นอกจากนี้ บริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว Hartono ยังทำกิจการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบรนด์ Polytron และอสังหาริมทรัพย์ในกรุง Jakarta ด้วย งานอดิเรกของ Hartono มีส่วนในความสำเร็จของเขาด้วย เขาบอกกับ BBC ว่า “ถ้าอยากเป็นนักธุรกิจที่เก่ง คุณต้องเล่นไพ่บริดจ์ จะได้ฝึกเก็บข้อมูล วิเคราะห์กลยุทธ์ และกล้าเสี่ยงตัดสินใจเพื่อชัยชนะ” Michael ยังเป็นผู้ผลักดันให้ไพ่บริดจ์ถูกบรรจุในการแข่งขันเอเชียนเกมส์มาหลายปี และในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 รวมถึงเข้าแข่งขันเองพร้อมนำเหรียญทองแดงกลับบ้านกับเพื่อนร่วมทีมอีก 5 คน  

อันดับ 2 Susilo Wonowidjojo 9.2 พันล้านเหรียญ Gudang Garam ประเภทธุรกิจ: ยาสูบ อายุ: 62 ปี

Susilo และครอบครัวมีแหล่งความมั่งคั่งจากบุหรี่ kratek ผลิตภายใต้บริษัท Gudang Garam ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น และเป็นบริษัทที่ผลิตบุหรี่จำหน่ายถึง 7 หมื่นล้านมวนต่อปี โดย Suliso เป็นประธานกรรมการคนที่ 3 ของบริษัท นับจากที่พ่อของเขา Surya ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1958 หลังจากนั้น Rachman Halim พี่ชายของเขาได้รับสืบทอดธุรกิจต่อ ก่อนจะเป็น Suliso ที่รับไม้ต่อมาในปี 2009 หลังจากที่พี่ชายเสียชีวิตลง นอกจากกิจการยาสูบแล้ว ครอบครัว Wonowidjojo ยังลงทุนในธุรกิจน้ำมันปาล์มผ่านบริษัท Makin Group ด้วย  

อันดับ 3 Eka Tjipta Widjaja 8.6 พันล้านเหรียญ Sinar Mas ประเภทธุรกิจ: น้ำมันปาล์ม อายุ: 95 ปี

Self-made billionaire แห่งอินโดนีเซีย Widjaja หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีนและเริ่มทำธุรกิจจากการขายบิสกิตตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เขาสร้างเนื้อสร้างตัวจากการขายเสบียงอาหารให้กับกองทัพประเทศ จนถึงวันนี้เครือข่ายธุรกิจของเขาขยายไปสู่เกษตรกรรม น้ำมันปาล์ม กระดาษ อสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการการเงิน และโทรคมนาคม Widjaja ในวัย 95 ปี มีภรรยา 2 คนและลูกอีก 15 คน Franky ลูกชายของเขาคุมทัพบริษัทน้ำมันปาล์มยักษ์ของประเทศ Golden Agri-Resources ส่วน Oei Hong Leong ลูกชายอีกคนเลือกไปลงทุนด้วยตนเองในประเทศสิงคโปร์  

อันดับ 4 Sri Prakash Lohia 7.5 พันล้านเหรียญ Indorama ประเภทธุรกิจ: ปิโตรเคมี อายุ: 66

Sri Prakash ติดตามพ่อของเขาจากอินเดียมาลงทุนในอินโดนีเซียในช่วงทศวรรษ 1970s โดยยุคแรกพวกเขาลงทุนด้านเส้นใย ก่อนจะขยายมาสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเต็มรูปแบบ นอกจากเส้นใยสำหรับทำสิ่งทอแล้วยังมีถุงมือแพทย์และโพลีโอเลฟินส์ Sri Prakash ยังคงเป็นประธานบริษัทแต่เขาใช้ชีวิตอยู่ใน London โดยส่งไม้ต่อให้ทายาท Amit ลูกชายของเขาผู้เป็นรองประธาน บริหารจัดการธุรกิจในอินโดนีเซีย ส่วน Aloke น้องชายของ Amit อาศัยอยู่ในประเทศไทยและเป็นมหาเศรษฐีเช่นกัน จากการบริหารบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัทปิโตรเคมีผลิตผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเครือ Indorama พวกเขามีการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยแห่งที่สองในไนจีเรีย ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 บริษัท International Finance Corp. รายงานปริมาณหนี้สิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  

อันดับ 5 Anthoni Salim 5.3 พันล้านเหรียญ Salim ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย อายุ: 69 ปี

Anthoni เป็นแม่ทัพบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว Salim Group ซึ่งแตกแขนงออกไปลงทุนในหลากหลายธุรกิจ หลักๆ คือบริษัทอาหาร Indofood ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่ง Anthoni เป็นซีอีโอและครอบครัว Salim ถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้งอยู่ 50% ฟากน้องชาย Andree Salim เข้าถือหุ้น 50% ของบริษัทผลิตขนมปัง QAF ในสิงคโปร์ ส่วนน้องสาว Mira Salim ก่อตั้งบริษัทเทรดดิ้งและจัดจำหน่ายสินค้าของ Indofood ในประเทศจีน ช่วยขยายอาณาจักรของครอบครัวให้กว้างไกล ครอบครัวนี้ยังถือหุ้นในบริษัท First Pacific ราว 44% โดยเป็นบริษัทอสังหาฯ จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงที่ถือครองสินทรัพย์การลงทุนใน 6 ประเทศ มูลค่ารวมกว่า 1.72 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ กลุ่ม Salim เคยซวนเซในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ของเอเชียเมื่อปี 1997-98 ทำให้เสียการครอบครองธนาคาร Bank Central Asia ให้กลุ่ม Hartono ไป  

อันดับ 6 Tahir 4.5 พันล้านเหรียญ Mayapada ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย อายุ: 66 ปี

Tahir ผู้ใช้ชื่อแบบไม่มีนามสกุล เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Mayapada ซึ่งลงทุนธุรกิจหลายอย่าง เช่น ธนาคาร เชนโรงพยาบาล และที่โดดเด่นที่สุดขณะนี้คืออสังหาริมทรัพย์ Grace ลูกสาวของเขาเป็น President Commissioner ของบริษัทอสังหาฯ Propertindo Mulia Investama ซึ่งเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อปีก่อน และครอบครัวมีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทด้วย ทั้งนี้ Tahir มีภรรยาคือ Rosy ซึ่งเป็นลูกสาวของนักธุรกิจใหญ่อินโดฯ Mochtar Riady (อันดับ 12 ในลิสต์นี้)  

อันดับ 7 Chairul Tanjung 3.5 พันล้านเหรียญ CT Corp. ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย อายุ: 56 ปี

อาณาจักร CT Corp. ทำธุรกิจหลากหลายโดยที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือการเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และช่องโทรทัศน์ บริษัท Trans Retail ของเขาพัฒนาห้างสรรพสินค้าภายใต้แบรนด์ Carrefour และ Transmart ส่วนบริษัทอื่นๆ ในเครือยังเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหาร Wendy’s แบรนด์แฟชั่น Versace, Mango, Jimmy Choo ในอินโดนีเซีย ล่าสุดในปี 2017 กลุ่ม CT Corp. ยอมตัดขายหุ้น 49% ในธุรกิจกลุ่มประกันของตนเองให้กับ Prudential Finance ของสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุน ด้านกลุ่มธุรกิจโรงแรม CT Corp. มีการเซ็นสัญญากับ AccorHotels จากฝรั่งเศสเพื่อให้เข้ามาเปิดเชนโรงแรม 30 สาขาภายในอินโดนีเซีย  

อันดับ 8 Boenjamin Setiawan 3.2 พันล้านเหรียญ Kalbe Farma ประเภทธุรกิจ: ยา อายุ: 85 ปี

Boenjamin Setiawan หรือ “Dr.Boen” ผู้จบปริญญาเอกด้านเภสัชศาสตร์ ร่วมกับพี่น้องอีก 5 คนก่อตั้ง Kalbe Farma ในปี 1966 และปัจจุบันกลายเป็นบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย Kalbe Farma เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งพี่น้อง Setiawan ยังมีหุ้นรวมกัน 48% ในบริษัท นอกจากธุรกิจยาแล้ว Dr.Boen ยังถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท Mitra Keluarga บริษัทในตลาดหุ้นที่บริหารเครือโรงพยาบาล 12 สาขาในอินโดฯ  

อันดับ 9 Jogi Hendra Atmadja 3.1 พันล้านเหรียญ Mayora ประเภทธุรกิจ: สินค้าอุปโภคบริโภค อายุ: 72 ปี

Mayora Group คือหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของอินโดฯ พวกเขาผลิตสินค้า เช่น ซีเรียล ลูกอม บิสกิต กาแฟ ฯลฯ โดยมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เช่น Kopiko, Danisa, Roma ซึ่งส่งออกไป 90 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานในเครือถึง 30,000 คน Atmadja และครอบครัวเป็นผู้อพยพชาวจีนที่เริ่มธุรกิจจากการทำบิสกิตในครัวเรือนออกขายเมื่อปี 1948 ทำให้เขาเป็นหนึ่งในกลุ่ม มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเอง ต่อมาครอบครัวของเขาเปิดบริษัท Mayora ในปี 1977 ปัจจุบัน Atmadja และเหล่าพี่น้อง-ญาติ ยังคงถือหุ้น 75% ในบริษัท PT Mayorah Indah บริษัทเรือธงของเครือที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น  

อันดับ 10 Prajogo Pangestu 3 พันล้านเหรียญ Barito Pacific ประเภทธุรกิจ: ปิโตรเคมี อายุ: 74 ปี

ลูกชายของนักธุรกิจค้ายางพารา Pangestu หันสู่วงการค้าไม้ในยุค 1970s ในนามบริษัท PT Barito Pacific Timber ในปี 1993 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ต่อมาเขาตัดขายกิจการค้าไม้ออกและเปลี่ยนชื่อบริษัทเหลือเพียง Barito Pacific ในปี 2007 ก่อนที่จะเข้าซื้อหุ้น 70% ในบริษัทปิโตรเคมี Chandra Asri ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นเช่นกัน เขาขยายอาณาจักรด้วยการควบรวมกิจการอีกครั้งเมื่อบริษัท Chandra Asri เทกโอเวอร์บริษัท Tri Polyta Indonesia ในปี 2011 และกลายเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของประเทศ บริษัทของ Pangestu ยิ่งเติบโตเมื่อปี 2015 ได้จับมือกับบริษัทยางล้อ Michelin จากฝรั่งเศส เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตยางในอินโดนีเซีย
คลิกอ่านฉบับเต็ม "50 อันดับ มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ปี 2018 คลื่นความเปลี่ยนแปลงในดินแดนแห่งหมู่เกาะ" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine