เศรษฐีพันล้านแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังไล่ล่าหาความเติบโตในต่างแดน ก้าวแรกของเขาคือ พา NIO เข้าสู่ตลาดยุโรปผ่านประเทศนอร์เวย์
ในต้นเดือนพฤษภาคม William Li ก้าวเท้ายาวๆ ขึ้นบนเวทีที่ Shanghai ในชุดเสื้อยืดสีกรมท่าตกแต่งด้วย 2 คำคือ Norway 2021 ชายผู้ก่อตั้ง NIO คนนี้ กล่าวต้อนรับทีมงานใหม่ของเขาใน Oslo ระหว่างงานพบปะแบบเสมือนจริงก่อนจะเริ่มเข้าสู่รายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถไฟฟ้าสัญชาติจีนในการบุกตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก นอร์เวย์ได้รับเลือกเพราะเป็นประเทศแรกในโลกที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มียอดขายแซงหน้ายานพาหนะที่ขับเคลื่อนแบบดั้งเดิม คือเกือบร้อยละ 55 ของยอดขายรถยนต์ในปี 2020 จากข้อมูลของสหพันธ์ Road Federation ของนอร์เวย์ที่ได้ระบุไว้ นอกจากนี้ ที่นี่ยังจะเป็นการกรุยทางให้ NIO เข้าสู่ตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่แซงหน้าจีนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อปีที่แล้วในการรั้งตำแหน่งตลาดรถอีวีใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากรัฐบาลของประเทศในยุโรปออกมาตรการเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการซื้อในช่วงเกิดโรคระบาด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป NIO จะรุกเข้าสู่อีก 5 ประเทศในยุโรป แต่ Li ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อประเทศ
เปลี่ยนเลนสู่ระดับโลก
บริษัทวิจัยตลาด Canalys ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดยานยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 50 เป็น 1.9 ล้านคันในปีนี้ แต่ Li มองเป้าหมายไปในระดับโลก ในการให้สัมภาษณ์หลังงานมอเตอร์โชว์ที่ Shanghai เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาได้พูดถึงเป้าหมายในระดับโลกของเขาอย่างคร่าวๆ เป็นครั้งแรก “ยานยนต์อีวียังมีส่วนแบ่งตลาดที่ต่ำมากในตลาดยานยนต์ทั้งหมด และยังมีช่องว่างสำหรับการเติบโตอีกมากทั่วโลก” เขากล่าว (ตัวเลขจาก International Energy Agency ระบุว่า รถยนต์อีวีคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของรถยนต์ทั้งหมดที่ขายได้เมื่อปีที่แล้ว) “ในระยะยาวแล้ว บางทีศตวรรษหน้าหรือมากกว่านั้น จำนวนส่งมอบรถมากกว่าครึ่งของนิโน่น่าจะมาจากตลาดต่างประเทศ” เพื่อให้ก้าวทันกับนวัตกรรมรถใหม่ๆ Li ได้ใช้วิธีการใหม่ในการขายรถที่นอร์เวย์ เขาปฏิเสธใช้ผู้จัดจำหน่ายของท้องถิ่น และจัดการการขายด้วยตัวเอง NIO House คือ รูปแบบโชว์รูมของบริษัทที่ออกแบบโดยมีห้องสมุดและร้านกาแฟสำหรับลูกค้าที่มาชมรถ มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกันยายนที่ Karl Johans Gate ตั้งบนถนนช็อปปิ้งหลักของ Oslo โชว์รูมแห่งนี้จะแสดงเอสยูวี ES8 ซึ่งเป็นรถเรือธงของบริษัทรถอีวีสัญชาติจีนนี้ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 468,000 หยวน (73,000 เหรียญ) ในจีน แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยราคาขายปลีกที่นอร์เวย์

ล้มลุก คลุกคลาน
แม้จะเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานไปในระดับโลกแต่ Li ก็มาจากครอบครัวที่มีสถานภาพไม่ดีนัก เขาเกิดในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำในชนบทของมณฑล Anhui ทางตะวันออกของจีน Li อาศัยอยู่บนเทือกเขากับปู่ย่าและคอยไล่ต้อนวัวตอนยังเป็นเด็ก เขาขยันเรียน ทำคะแนนได้ดีเลิศในการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยของจีนที่ถือว่าสุดโหด และสามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Peking University ได้ เขาทำงานพาร์ตไทม์หลายงานเพื่อจุนเจือตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ ขายอุปกรณ์สำนักงานให้กับ Apple หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยา (เขาได้ลงเรียนวิชาคอมพิวเตอร์บ้างเหมือนกัน) Li พบว่าตัวเองอยากทำงานในด้านไอทีและได้เปิดบริษัทเล็กๆ หลายแห่ง ความพยายามของเขาประสบความสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในปี 2000 เมื่อเขาเปิดตัวเว็บไซต์ Bitauto ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์แก่ผู้บริโภคชาวจีน อีก 1 ทศวรรษต่อมาเขานำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เพื่อระดมทุนจำนวน 108 ล้านเหรียญ (ในปี 2020 Bitauto ตกลงที่จะออกจากการเป็นบริษัทมหาชนในข้อตกลงมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญที่มี Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเว็บไซต์ของจีนเป็นผู้หนุนหลัง ปัจจุบัน Li ไม่มีบทบาทใดๆ ที่นั่นแล้ว) ขณะที่ Li มองเห็นเค้าลางของโอกาสในภาคยานยนต์อีวี เขาค่อยๆ หันเหความสนใจไปทางนั้นและได้ก่อตั้ง NIO ซึ่งในเวลานั้นใช้ชื่อว่า NextEV ขึ้นในปี 2014 เขาบอกว่า เขาต้องการสร้างสตาร์ทอัพระดับโลกตั้งแต่เริ่มต้น และภายใน 1 ปีก็ได้จ้างนักออกแบบและวิศวกรใน London และ California Tencent ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 10 ใน NIO และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Li เป็นนักลงทุนรายสำคัญที่ได้สะสมหุ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของบริษัท (ธุรกิจเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่รายนี้ใช้เงิน 1.8 พันล้านเหรียญซื้อหุ้นร้อยละ 5 ของ Tesla ในปี 2017 แต่ 1 ปีต่อมาได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง) นอกเหนือจาก Tencent แล้ว Li ยังระดมทุนได้อีกหลายพันล้านเหรียญจาก Baillie Gifford, BlackRock, Sequoia China และ Temasek NIO เริ่มได้รับคำสั่งซื้อเพื่อผลิตเป็นจำนวนมากสำหรับรถรุ่น ES8 ในปี 2017 และเริ่มส่งมอบรถยนต์แก่ลูกค้าภายใน 1 ปี Li พาบริษัทผลิตรถยนต์ที่ประสบภาวะขาดทุนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NSYE ในปี 2018 ระดมทุนได้ 1 พันล้านเหรียญ แต่แล้วแผนการนั้นก็บิดเบี้ยวไม่เป็นดั่งที่คิด
เส้นทางที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง
Teng Yong หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษา Oliver Wyman จาก Shanghai บอกว่า การลงทุนที่ต่อเนื่องในทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาดน่าจะหมายถึงว่าบริษัทของ Li จะยังขาดทุนต่อไปอีก 3 ปี นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมมีรายงานว่า NIO พร้อมด้วยผู้ผลิตรถอีวีรายอื่นๆ ของจีน ได้แก่ Xpeng และ Li Auto กำลังพิจารณานำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเป็นตลาดแห่งที่ 2 แต่ Li ไม่มองข้ามในสิ่งนี้ แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงรายละเอียด “พวกเราผ่านวิกฤตมาด้วยความมั่นใจที่มากขึ้น” เขากล่าวถึงการดิ้นรนต่อสู้ของเขาในปี 2019 “และพวกเราก็แน่วแน่ที่จะเดินตามเส้นทางของพวกเรา” อย่างไรก็ตามบริษัทไม่น่าจะรักษายอดการผลิตรายเดือนที่ 7,500 คันไว้ได้เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นในอีก 2-3 เดือน Li กล่าวว่า เขาได้ก่อตั้งทีมขึ้นในบริษัทเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยทีมนี้ติดต่อกับโรงงานทั่วโลกในแต่ละวัน การแข่งขันรุนแรงที่บ้านเกิดอาจเป็นการต้อนบริษัทให้จนมุม อีกทั้ง Tesla ก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว Yale Zhang กรรมการผู้จัดการของ Automotive Foresight บริษัทที่ปรึกษาจาก Shanghai เผยว่า ภายในสิ้นปีคาดว่าผู้ผลิตรถจากสหรัฐฯ รายนี้จะส่งมอบยานยนต์ 500,000 คันในจีน ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์โดยสารของจีนระบุว่าปีที่แล้ว Tesla ส่งมอบรถอีวี 138,505 คันในจีน เป็นรองเพียง SGMW ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีสำนักงานใหญ่ใน Shanghai ซึ่งมียอดการส่งมอบ 163,594 ส่วน NIO ส่งมอบรถอีวีอย่างน้อย 43,369 คัน ยิ่งไปกว่านั้นทั้งผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมและบริษัทเทคโนโลยีต่างก็พยายามเข้ามาเดิมพันในตลาดนี้ เมื่อเดือนมีนาคมบริษัทรถยนต์ Geely ของ Li Shufu เศรษฐีพันล้านชาวจีนได้เปิดตัวรถอีวีแบรนด์ Zeekr ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ซื้อที่มีอันจะกินกลุ่มเดียวกันที่อาจจะพิจารณาซื้อ NIO ด้าน Lei Jun แห่ง Xiaomi ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือก็ประกาศในเดือนเดียวกัน เกี่ยวกับแผนการที่จะทุ่มทุน 1 หมื่นล้านเหรียญเพื่อผลิตรถอีวีของตัวเองในทศวรรษหน้า ตามติดด้วย Ren Zhengfei เศรษฐีพันล้านแห่ง Huawei ผู้ที่ออกมากล่าวในเดือนเมษายนว่า บริษัทของเขาจะลงทุน 1 พันล้านเหรียญเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับและรถยนต์ไฟฟ้า ที่สหรัฐฯ มีรายงานกันในวงกว้างว่า Apple จะผลิตรถอีวีของตัวเอง ขณะที่ Alphabet ก็อาจมาร่วมวงด้วยเช่นกัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Hon Hai ที่มีฐานอยู่ในไต้หวันได้จับมือกับ Fisker ของสหรัฐฯ เพื่อเริ่มผลิตยานยนต์อีวีในปีหน้า โดยมีแผนจะนำรถออกขายทั่วโลกรวมทั้งที่จีน Li รับรู้ถึงเส้นทางหฤโหดข้างหน้า “แผนในต่างประเทศของเราจะไม่กระทบกับการลงทุนและทรัพยากรของเราสำหรับจีน” เขากล่าว “เรามองกันไกลๆ นานกว่าสิบปี และโลกาภิวัตน์ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่จะทำแบบขอไปที” เขาเสริมด้วยว่า นอกจากนี้ NIO ก็ยังเป็นบริษัทเล็กๆ “การส่งมอบรถรายเดือนของเราเป็นจำนวนเดียวกับที่ Audi และ BMW ส่งมอบในจีนในเวลา 2 วัน หนทางของเรายังอีกยาวไกล” เรื่อง: Yue Wang เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม ภาพ: Courtesy of NIO อ่านเพิ่มเติม:- MELINDA FRENCH GATES กับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
- KATE WANG แห่ง RLX คุณแม่ผู้บุกเบิกตลาดบุหรี่ไฟฟ้า
- ADAM WYDEN นักลงทุนปากดี…เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine
