โอกาสในน่านน้ำซีแวลู ทูน่าไทยระดับโลก - Forbes Thailand

โอกาสในน่านน้ำซีแวลู ทูน่าไทยระดับโลก

ซีแวลูพร้อมนำทูน่าไทยว่ายทวนกระแสในตลาดโลกครองน่านน้ำ private label มูลค่าสองหมื่นล้านพร้อมปั้นแบรนด์ Super C Chef ชูคุณภาพและประมงยั่งยืนมัดใจผู้บริโภคไทยและประเทศเพื่อนบ้านพร้อมไต่ระดับสู่ 3 หมื่นล้านใน 5 ปีโอกาสในน่านน้ำซีแวลู ทูน่าไทยระดับโลก

เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: เอกพงศ์ ตันติผลประเสริฐ กว่า 30 ปีที่ครอบครัว อร่ามวัฒนานนท์ได้สั่งสมประสบการณ์การผลิตทูน่าก่อนจะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าชั้นนำของโลก โดย พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ก่อตั้งบริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) ในเดือนมีนาคม 2547 ซึ่งเข้าไปลงทุนกับบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) และบริษัท ณรงค์แคนนิ่งจำกัด (บริษัท ไอ.เอส.เอ. แวลู จำกัด) ขยับขยายโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋อง4 โรงงานในปี 2549 และลงทุนเพิ่ม 2,500 ล้านบาทปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรพร้อมรวมความแข็งแกร่งขึ้นแท่นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโลก “ผมคลุกคลีกับธุรกิจทูน่าตั้งแต่เด็ก เดินตามคุณพ่อที่โรงงานและมีโอกาสเดินทางเยี่ยมลูกค้ากับคุณพ่อ จนปีที่คุณพ่อซื้อกิจการโรงงานทูน่า ผมเรียนจบได้ 15 วันกำลังจะเรียนต่อปริญญาโท คุณพ่อให้กลับเมืองไทยมาช่วยงาน เพราะธุรกิจทูน่าเป็นธุรกิจขนาดใหญมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาท” อมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ ในวัย 32 ปี ระลึกถึงวันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจครอบครัวในฐานะบุตรชายคนโตของพจน์ และผู้นำอาณาจักรซีแวลู คนต่อไป หลังสำเร็จปริญญาตรีจาก Industrial Engineering, University of Wisconsin สหรัฐอเมริกา อมรพันธุ์นำความรู้ที่ได้รับเริ่มทำงานในตำแหน่ง marketing executive เรียนรู้เพิ่มเติมจากทุกส่วนงานธุรกิจไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิต และภาคการตลาดรวมถึงการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอาวุโสในปัจจุบัน โดยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจตั้งแต่รายได้ 15,000 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้นถึงรายได้ 23,000 ล้านบาท พร้อมส่งออกปลาทูน่ารายใหญ่ของโลกในฐานะผู้นำ private label (สินค้าที่ผลิตและส่งขายให้ห้างติดตราสินค้าชื่อห้าง) จำหน่ายกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และแบรนด์ซูเปอร์ซีเชฟ (Super C Chef) ในประเทศไทย ด้วยสัดส่วนรายได้การส่งออก 95% และในประเทศ 5% “กลุ่มซีแวลูมีความภูมิใจที่เป็นผู้ผลิตสินค้า private label หรือสินค้าฉลากของห้างอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Walmart สหรัฐอเมริกา Coles และ Woolworths ออสเตรเลียรวมถึงยุโรปหลายประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมัน สแกนดิเนเวีย เราเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม private label จากคุณภาพและความน่าเชื่อถือด้านเทคนิค โรงงาน ซัพพลายเชนพร้อมทั้ง ethical standard การดูแลพนักงานและการทำประมงอย่างยั่งยืน ปลาที่นำมาใช้สามารถพิสูจน์ได้ว่าจับจากแหล่งใด ด้วยวิธีไหน เราไม่ใช้อวนล้อมจับทีละหลายร้อยตันแต่ใช้เบ็ดตกปลาไม่ให้จับเกินสต็อกที่มี ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกับตรงนี้” สำหรับจุดแข็งที่ทำให้ซีแวลูก้าวเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกปลาทูน่าชั้นนำของโลก ได้แก่ ประสบการณ์ทางธุรกิจอันยาวนานกว่า 30 ปี มีทีมงานที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ประกอบกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านรสชาติที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศทั่วโลก ทุกขั้นตอนการผลิตได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด ตรงตามกฎระเบียบมาตรฐานของโลก “เราให้ความสำคัญกับ ethical standard ตั้งแต่ 8 ปีก่อน เรามั่นใจว่า แรงงานเราถูกกฎหมาย และยึดหลักการดูแลแรงงานเพื่อนบ้านเท่าเทียมกับแรงงานไทย รวมถึงการทำประมงอย่างยั่งยืน ในด้านหนึ่งที่ต่างประเทศกดดัน แต่อีกด้านเรามองว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้าง awareness ให้กับผู้บริโภครุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพรวมถึงใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” อมรพันธุ์ย้ำในปณิธานการขับเคลื่อนซีแวลูให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของซีแวลูที่จำหน่ายทั่วโลก สด ใหม่ ปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน “ผลิตภัณฑ์หลักของเราเป็นทูน่าประมาณ 80% ที่เหลือได้แก่ ซาร์ดีน แมคเคอเรล และแซลมอน เราโฟกัสที่ทูน่า เนื่องจากทูน่าวางไข่ครั้งละเป็นล้านฟอง ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลกและได้รับการยอมรับเป็นเวลานานจากผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงเป็นโปรตีนซีฟู้ดราคาไม่แพง จึงได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หรือ emerging market” อมรพันธุ์ย้ำในจุดยืนของซีแวลู คลื่นลูกใหม่พร้อมต่อยอดและพัฒนาจุดแข็งทางธุรกิจเป็นอาวุธสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่องปีละ 5% จาก 23,000 ล้านบาทสู่ 30,000 ล้านบาทใน 5 ปี ทั้งการรุกสร้างแบรนด์ Super C Chef ในประเทศและขยายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ รวมถึงเดินหน้าเจาะตลาดกลุ่มประเทศ emerging market และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม แม้การปั้นแบรนด์ Super C Chef ในประเทศจะเริ่มต้นช้ากว่าการสร้างชื่อในต่างประเทศ แต่อมรพันธุ์มั่นใจในอาวุธที่ใช้สร้างความแข็งแกร่งด้านการแข่งขัน โดยเปิดตัว 5 ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ในประเทศ จาก 5% เป็น 10% หรือจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท สู่ 2,000 ล้านบาท “แบรนด์ Super C Chef เริ่มตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อนในปี 2550 โดยที่ผ่านมาเราเน้นปลาซาดีนและปลาแมคเคอเรล จนกระทั่งพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน ทูน่าได้รับการยอมรับมากขึ้นและกระแสสุขภาพที่ทำให้คนรุ่นใหม่นิยมอาหารที่ให้คุณค่าสูงไขมันต่ำ เราคิดว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ของเราจะเป็นใบเบิกทางสร้างแบรนด์ให้ขยายเป็นวงกว้างนอกจากในประเทศ” สำหรับกลุ่มซีแวลูได้ขยายการเติบโตในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศ ได้แก่ Rubicon Resouces, LLC., ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Top Intertrade Corporation ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการนำสินค้าจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น “การขยายตัวของเราไม่เฉพาะเรื่องการจำหน่ายสินค้า แต่เรายังขยายฐานการผลิตด้วยการซื้อโรงงานที่ฝรั่งเศส โดยซีแวลู ยุโรป เป็นผู้ลงทุน เราเพิ่ม synergy อย่างต่อเนื่องในยุคที่ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องผลิตจากฐานในเมืองไทย” ท่ามกลางมรสุมที่สหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์หรือ Trafficking Persons Report (TIP Report) ซึ่งจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 โดยบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ไม่มากเพียงพอเ  อมรพันธุ์สามารถสร้างความเชื่อมั่นและรักษาฐานลูกค้าต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จากการให้ความสำคัญกับบุคลากร ด้วยความเชื่อมั่นในแนวคิด Pay It Forward นอกเหนือจากการยึดมั่นในความทุ่มเทและความเสียสละที่ได้รับการปลูกฝัง “หลักการที่คุณพ่อเน้นย้ำคือ ความขยันและความทุ่มเท เราเห็นคุณพ่อคุณแม่พยายามสร้างธุรกิจ ด้วยความทุ่มเทและเสียสละ เราเป็นรุ่นสองยิ่งต้องทุ่มเทมากขึ้นทวีคูณ เพราะเป็นช่วงการขยายตัวและต่อยอดจากธุรกิจที่พ่อแม่สร้างไว้ โดยเฉพาะการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราต้องขยันและหาวิธีการใหม่ที่แข่งขันได้ รวมถึงสิ่งที่เราให้ความสำคัญตลอดมา คือ บุคลากร ซึ่งร่วมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ” ในฐานะทายาทที่สั่งสมประสบการณ์ทางธุรกิจตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง อมรพันธุ์ผสมผสานแนวทางการบริการธุรกิจที่ได้รับการถ่ายทอดจากครอบครัวกับหลักการบริหารที่ได้รับจากการตกตะกอนบทเรียนการแก้ปัญหาทางธุรกิจตลอดระยะทางที่ผ่านมา “บทเรียนและประสบการณ์ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น และทำให้องค์กรของเราเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เราต้องมองอย่างรอบด้านไม่ใช่บุกอย่างเดียว แต่ต้องรับให้เป็นเช่นกันซึ่งการรับในที่นี้ คือ โรงงานต้องแม่น ระบบต้องสมบูรณ์แบบ และคนของเราต้องเข้าใจนโยบายของบริษัท เพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกันให้ได้”
คลิ๊กอ่าน ฉบับเต็ม "โอกาสในน่านน้ำซีแวลู ทูน่าไทยระดับโลก" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016