การลักลอบขายเครื่องดื่ม "โค้ก" ในประเทศเมียนมาร์มีมานานกว่า 60 ปีแล้ว เพื่อตอบสนองรสนิยมของชนชั้นนำในประเทศนั่นเอง เฉพาะคนร่ำรวยเท่านั้นถึงจะซื้อโค้กแคนกระป๋องแดงราคาละ 2.99 เหรียญได้ โดยแอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีขายเฉพาะภัตตาคารหรูเพียงไม่กี่แห่ง หรือในโรงแรมระดับห้าดาวเท่านั้น
แม้ Coca-Cola จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก มีจำหน่ายในเกือบ 200 ประเทศ แต่เพียงสองปีมานี้เอง พลเมืองเมียนมาร์ทั่วไปถึงจะมีโอกาสลิ้มรสน้ำดำยี่ห้อดัง ด้วยเหตุว่าเมียนมาร์เคยเป็นหนึ่งในสามประเทศในโลก ที่บัญญัติให้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลยี่ห้อนี้ ไม่สามารถวางขายได้อย่างถูกกฎหมาย ปัจจุบันเหลือแค่สองประเทศแล้ว ได้แก่ คิวบา และ เกาหลีเหนือ ในเดือนกันยายน 2012 Coca-Cola เริ่มจัดจำหน่ายให้แก่ลูกค้าชาวพม่าเป็นครั้งแรก หลังจากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรประเทศแห่งนี้ในปี 2012 เพื่อตอบรับแผนปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมาร์ ทำให้ Coca-Cola เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่เดินเข้าประเทศ ในยุคการเปิดเสรีหลังมาตรการคว่ำบาตร เมียนมาร์เป็นตลาดทุนแห่งล่าสุดของโลกที่หันมาจับมือกับบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ "แม้ว่าผู้ใหญ่หรือคนสูงอายุจะไม่เคยดื่มโค้กมาก่อนเลยในชีวิต แต่บัดนี้เราพร้อมแล้วสำหรับทุกคน ทุกคนดื่มโค้กได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น" Rehan Khan ผู้จัดการโคคาโคล่าประจำเมียนมาร์กล่าวระหว่างการประชุมที่ฮ่องกง ซึ่งจัดโดย Beacon Events "ตลาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก คำถามที่ตามก็คือ เราจะเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เร็วตามได้อย่างไร" อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้อนี้มิใช่โจทย์ที่บริษัทจะหาทางแก้ไขได้โดยลำพัง "ผลิตภัณฑ์ของเราขนส่งทางรถบรรทุก" Khan ขยายความว่า "ถนนหนทางในพม่าเป็นความท้าทายสำหรับพวกเรา" Khin Maung Hien ชาวบ้านใน Taunggyi เมืองหลวงของรัฐฉาน กล่าวว่า คนทั่วไปจะซื้อโค้กไว้เป็นของขวัญให้เพื่อนฝูง หรือในอดีตสามารถใช้จ่ายเป็นค่าสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ จวบจนก่อนการเปิดประเทศ โค้กขนาดบรรจุ 1.25 ลิตร ซึ่งลักลอบนำเข้าจากประเทศไทย ขายกันในราคา 1800 จ๊าด มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่จะซื้อหา จากรายงานของ Nielsen MMRD ระบุว่า Coca-Cola นำส่วนแบ่งตลาดในหมวดน้ำอัดลมถึงกว่า 50% แล้ว แม้ว่าการดื่มโค้กจะคล้ายกับน้ำดื่มบรรจุขวด ที่มีไว้สำหรับโอกาสพิเศษหรือเก็บไว้สำหรับงานเทศกาล เช่นงานแต่งงาน หรือการแข่งขันฟุตบอลก็ตาม Coca-Cola หรือ Sprite ขนาด 425 มล. มีราคา 300 จ๊าด (30 เซนต์) หากเปรียบเทียบกับตลาดในประเทศอื่นแล้ว Khan กล่าวว่า โค้กในพม่าส่วนใหญ่ขายผ่านทางร้านค้าชำ ซึ่งมีครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ พอๆ กับขายผ่านทางซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่หากพิจารณาในด้านราคาแล้ว ยังอาจมีราคาสูงอยู่มากสำหรับคนในประเทศยากจน ที่ส่วนใหญ่ยังดื่มน้ำชา น้ำประปา หรือน้ำต้มสุก Masaki Takahara กรรมการผู้จัดการใหญ่ Japan External Trade ประจำ Yangon ซึ่งพำนักในประเทศมาสองปีแล้ว กล่าวว่า โค้กที่ผลิตในเมียนมาร์ราคาถูกกว่านำเข้าจากไทยเพียงเล็กน้อย เนื่องจากขายราคาเดียวกันทั้งหมดในกลุ่มประเทศอาเซียน "ผมซื้อโคคาโคล่าที่ผลิตในนี้ ซึ่งมีรสชาติไม่ต่างจากทื่อื่นเลย" เขากับภรรยารู้สึกว่าการใช้ชีวิตในประเทศนี้ช่างสะดวกสบาย แม้จะกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับคุณภาพของโรงพยาบาล การเดินทางขนส่ง และค่าบริการด้านโทรคมนาคมที่แพงจนน่าตกใจ การต่อโทรศัพท์ทางไกลไปญี่ปุ่นต้องจ่ายถึงนาทีละ 4.45 เหรียญ ทว่าสำหรับด้านบวกแล้ว มีความเพียบพร้อมของสินค้าทั้งโค้กและอาหารญี่ปุ่น สามารถหาซื้อได้จากร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอ็นด์ประจำท้องถิ่น City Mart นอกจากนี้ยังเกิดความคุ้นเคยผ่านทางวัฒนธรรมแบบชาวพุทธ ระหว่างเมียนมาร์กับญี่ปุ่นอีกด้วย เมียนมาร์ได้กลับมาสู่วงจรการผลิตโค้กอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เริ่มต้นจากโรงงานท้องถิ่น Solomon's Ltd. ที่เริ่มผลิตขายในพม่าเมื่อปี 1927 ต่อมาในปี 1931 ในรายงานประจำปีระบุไว้ชัดว่า พม่าคือตลาดที่เติบโตรองรับการขยายกิจการในระดับนานาชาติ เฉกเดียวกับตลาดในเยอรมนีและอิตาลี และกว่าหกทศวรรษต่อมา Coca-Cola กลับมาเดินเครื่องผลิตอีกครั้ง ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจากสิงคโปร์และไทย ขณะที่คู่แข่งขันกำลังไล่กวดอย่างประชิด PepsiCo มีผู้ร่วมทุนชาวเมียนมาร์ที่เป็นพันธมิตรกับเกาหลี นอกจากนี้ Asahi จากญี่ปุ่นได้จับมือกับทุนท้องถิ่นจะกลายเป็นผู้นำตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดไปแล้ว Khan กล่าวว่า Coca-Cola มุ่งมั่นที่จะผลิตทุกอย่างให้ได้ในประเทศ แผนการลงทุนในเบื้องต้นที่กำหนดไว้ 200 ล้านเหรียญ สำหรับระยะห้าปีนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว "เราทำสิ่งเหล่านี้มาก่อนในประเทศเช่นญี่ปุ่นหรือเวียดนาม ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี ที่จะทำให้งานของเข้าสู่ภาวะเท่าทุน แต่เกมนี้เราต้องดูกันยาวๆ" เขากล่าวเรียบเรียงจาก Myanmar's Gradual Embrace Of The Coke Trade โดย Shu-Ching Jean Chen