ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองในประเทศ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ บริษัทจัดกิจกรรมทางการตลาดอันดับหนึ่งของไทย นำดัชนีแห่งการสร้างสรรค์ออกหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งเป้ารายได้รวมเป็น 3 พันล้านบาทใน 4 ปี
หญิงพม่านางหนึ่งกำลังแกว่งตัวกลางเวหาอยู่ระหว่างเชือกสองเส้นท่ามกลางสายตาคนข้างล่างคอยลุ้นด้วยความตื่นเต้น ขณะที่ถัดไปมีวัยรุ่นหญิงชายและเด็กๆ กำลังเมามันส์กับฟองสบู่ในปาร์ตี้โฟมที่สร้างจังหวะให้เร้าใจยิ่งขึ้นด้วยเสียงเพลงกระหึ่มจากเวทีฟรีคอนเสิร์ต ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในงานเทศกาลสงกรานต์ Forever Thingyan 2013 : Water Festival ที่ Youth Training Center กลางนคร Yangon ซึ่งภาพที่ปรากฎนี้ คงอยู่นอกเหนือจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นจริงในดินแดนที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอก อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารมากว่า 4 ทศวรรษ งานรื่นเริงที่ชาวพม่า หรือเมียนมาร์หลายแสนคนยินดีจ่ายค่าบัตรประเภท regular ticket สำหรับผู้ใหญ่ที่รวมเครื่องเล่น 8 ชนิด อยู่ที่ 10,000 จัตต่อ 1 วัน (ค่าแรงขั้นต่ำในพม่าอยู่ที่ 2,600 จัตต่อวัน) นี้ สร้างสรรค์โดย บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เจ้าพ่อบริษัทรับจัดงาน (event agency) ของไทยที่เดินหน้ารุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน “เรามั่นใจในศักยภาพของเมียนมาร์มาก” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ร่วมก่อตั้งและ CO-CEO ของบริษัท กล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจในต่างแดนกับ Forbes Thailand “เรามั่นใจในศักยภาพของเมียนมาร์มาก” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ร่วมก่อตั้งและ CO-CEO ของบริษัท กล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจในต่างแดนกับ Forbes Thailand กว่า 23 ปีของการบุกเบิกธุรกิจจัดกิจกรรมบันเทิงการตลาดทุกชนิดในไทย ร่วมกับคู่แฝดของเขา เกรียงกานต์ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CO-CEO ฝ่าแรงเสียดทานจนยืนหยัดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของไทย แล้วยังไต่ระดับขึ้นถึงแถวหน้าของธุรกิจรับจัดงานระดับโลกในเชิงของรายได้ โดยได้อันดับที่ 13 ของการจัดลำดับ World Class Top Event Agency โดย นิตยสาร Special Event เป็นครั้งแรกในปี 2550 แล้วไต่อันดับขึ้นมาอยู่ที่ 7 ติดต่อกันในช่วง 3 ปีติดต่อกัน (2554 ถึง 2556) “คาดว่าใน 4 ปีข้างหน้า จะมีรายได้ที่ 3 พันล้านบาทต่อปี” กิจการของอินเด็กซ์ฯ (แม้ชื่อเป็น มหาชน แต่ไม่เคยเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น) ไปได้ดี หลังผ่านไป 15 ปี จน “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ส่ง บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เข้าซื้อหุ้นครึ่งหนึ่งที่ 183 ล้านบาท ในปี 2548 เมื่อ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน อินเด็กซ์ฯ เห็นโอกาสผุดเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทจากโอกาสมหาศาลที่จะตามมาเมื่อเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในกลุ่มอินโดจีนซึ่งบริษัทเห็นแนวโน้มผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านความคิดสร้างสรรค์ (Hub of Creativity) ในธุรกิจรับจัดงาน อินเด็กซ์ฯ หวังปั้นรายได้จากฝั่งอาเซียนที่ 50% ของรายได้รวมภายในไม่เกิน 6 ปีข้างหน้า เพื่อลดความเสี่ยงที่รายได้จากตลาดในเมืองไทยรับผลกระทบจากภาวะแข่งขันรุนแรงและเติบโตอย่างเซื่องซึม เนื่องจากธุรกิจรับจัดงานรื่นเริงเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุภัยพิบัติต่างๆ “ผมเชื่อว่าการลงทุนและขยายกิจการในตลาดต่างประเทศจะทำให้ภาพรวมของอินเด็กซ์ฯ แข็งแรงขึ้น”เกรียงไกรเปิดเผยและเสริมว่า ทุกวันนี้สถานะของอินเด็กซ์ฯ ที่เป็นบริษัทแม่ในเมืองไทยถูกมองว่าเป็นกิจการระดับภูมิภาคอาเซียนแล้ว จากการที่สยายปีกไปยังประเทศต่างๆ ทั้งเมียนมาร์, เวียนดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จึงส่งผลให้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับที่ลูกค้าเดิม ก็ใช้บริการกับทางอินเด็กซ์ฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกค้าบางรายซึ่งบริษัทตัวแทนประชาสัมพันธ์ที่เคยใช้บริการได้ให้ความเห็นว่า อินเด็กซ์ฯ ให้บริการลูกค้าได้ดี เป็นมืออาชีพ และทำงานอย่างมีคุณภาพ แต่ติดตรงราคาค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ขณะที่มีลูกค้าซึ่งเป็นนิตยสารไลฟ์สไตล์รายหนึ่งมองว่าผลงานที่ได้รับไม่เท่ากับความคาดหวังเมื่อเทียบกับเงินที่จ่าย กระนั้น แนวทางการทำงานของ บมจ.อินเด็กซ์ฯ หรือที่เรียกว่า Index Way จะยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดยเน้นใช้ event marketing เป็นตัวนำหลัก แล้วเสริมด้วยการออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรม และด้วยความสำเร็จที่ผ่านมานับเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้กล้าเปิดตัวสู่ระดับนานาชาติมากขึ้น “ทุกครั้งที่ออกไปรบแล้วชนะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเรามาถูกทาง” เกรียงไกรปิดเผยแนวทางเปิดประตูสู่ตลาดอาเซียนอีกว่า ด้วยทรัพยากรของบริษัทที่มีอยู่ จึงเห็นควรเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ เมืองไทยก่อน ซึ่งน่าจะมีโอกาสสำเร็จสูงกว่า จึงมุ่งที่เมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมาก มีจำนวนประชากรสูง และสามารถเดินทางและขนส่งจากเมืองไทยได้สะดวก โดยวางกลยุทธ์และตำแหน่งทางการตลาดว่า อินเด็กซ์ฯ คือตัวกลางเชื่อมโยงคนทั้งภูมิภาคได้ เพราะเกรียงไกรเชื่อว่า “ถ้า connect ผ่านอินเด็กซ์ฯ เท่ากับ connect คนทั้งภูมิภาคได้” อินเด็กซ์ฯ เข้าไปทำธุรกิจในตลาดเมียนมาร์ตั้งแต่ปี 2552 ด้วยเงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมา อินเด็กซ์ฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจในเมียนมาร์ไปแล้วราว 100 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท โดยผนึกกำลังกับ Forever Group กลุ่มธุรกิจสื่อมวลชนชั้นนำของเมียนมาร์ ร่วมทุนฝั่งละครึ่ง ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ เมียนมาร์ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ หรือ MICV เน้นให้บริการด้านการบริหารจัดการงานอีเว้นท์ และกิจกรรมทางการตลาด การจัดงานแสดง งานแสดงสินค้า รวมถึงการผลิตสื่อมัลติมีเดียในรูปแบบประยุกต์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ Forever Group สร้างสถานที่สำหรับจัดงานแสดงแห่งใหม่คือ Myanmar Event Park หรือ MEP ขนาด 20,000 ตารางเมตร ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2556 โดยใช้เป็นสถานที่จัดงาน Winter Festival และงาน Countdown นอกจากนี้จะมีการจัดงานแสดงสินค้า 5 งานภายในปีนี้ ซึ่งมุ่งรองรับการเจริญเติบโตในหลากหลายอุตสาหกรรมของเมียนมาร์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เช่น โรงแรม สถาปัตยกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกัน เพื่อเสริมความแกร่งด้าน supply chain อินเด็กซ์ฯ จึงดึงบริษัทในเครือเข้ารุกตลาดเมียนมาร์ด้วย ได้แก่บริษัท อีเว้นท์ โซลูชั่น จำกัด หรือ EVS ผู้นำเทคโนโลยีด้าน visual-sound-lighting systems จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องเล่น และการแสดงพิเศษทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีบริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจให้คำปรึกษา และให้บริการข้อมูลวิจัยทางการตลาด ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ณ จุดขายในสถานการณ์จริง ด้วยวิธีการสะกดรอยตามผู้บริโภค และการติดตั้งกล้อง “ที่เรานำเอ็นไวโรเซลบุกเข้าไปเพราะในเมียนมาร์ยังไม่มีบริษัทวิจัยตลาดดีๆ หรือถ้ามี ข้อมูลก็ไม่ทันสมัย"เกรียงไกรเล่าถึงที่มาของการเปิดธุรกิจอีกว่ายังร่วมมือกับ Forever Group จัดตั้งบริษัท ไอซีวีเอ็กซ์ (ICVex) ในรูปแบบ Professional Exhibition Organizer หรือ PEO ซึ่งถือเป็นธุรกิจ Exhibitor เต็มรูปแบบ ทั้งนี้จากงานวิจัยของเอ็นไวโรเซลเมื่อปีก่อนพบว่า กระแสความนิยมของผู้บริโภคในเมียนมาร์จะเป็นไปตามกลุ่มคนในย่างกุ้ง “คืออะไรที่คนใน ย่างกุ้ง ชอบคนทั้งเมียนมาร์ก็จะชอบตาม ถือเป็น trendsetter ของประเทศนี้จริงๆ และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา” แม้ปัจจุบันพบว่ากำลังซื้อยังไม่สูงขึ้นมา แต่เชื่อว่าจะสูงขึ้นอีกมากในอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้าเมื่อบริษัทและโรงงานต่างๆ เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เกรียงไกรบอกเล่าถึงหนทางเริ่มธุรกิจในเมียนมาร์ว่า “เราลุยเอง” โดยเริ่มจากเลือกก่อนว่าจะเลือกโมเดลธุรกิจแบบไหนระหว่างที่จะจับมือกับพันธมิตต่างชาติ หรือพันธมิตรที่ท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผู้ประกอบการจากเมียนมาร์เข้ามาทาบทามให้เราไปร่วมธุรกิจด้วยหลายราย ที่ต่างมีข้อดีและเสียต่างกันไป แต่พยายามเลือกพันธมิตรที่มี “เคมีตรงกัน” มากที่สุด ทั้งนี้ด้วยผู้ก่อตั้งและ CEO ชื่อ Winn Maw ที่ลงมือทำงานด้วยตัวเองจึงสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ จบได้เร็ว ทำให้งานเดินหน้าไวมาก “ด้วยคอนเนคชั่นของ Forever Group ทำให้เราได้พื้นที่จัดตั้ง Myanmar Event Park ที่เป็นสุดยอดทำเล” จากประสบการณ์ที่เข้าไปขยายธุรกิจในเมียนมาร์ ทำให้เกรียงไกรได้รับรู้ข้อมูลน่าประหลาดใจที่ประหนึ่งเปิดโลกใหม่ และหักมุมจากเสียงเล่าลือก่อนนี้ นั่นคือไม่มีเรื่องทุจริต “อย่างมากคือให้เหล้าต่อหน้าคนมากมาย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติ ไม่เคยต้องจ่ายใต้โต๊ะ” พร้อมเล่าอีกว่านักธุรกิจไทยคนอื่นที่ทำธุรกิจในเมียนมาร์มากว่า 10 ปี ก็ยืนยันกับตัวเขาว่าปัจจุบันคือยุคที่โปร่งใสที่สุด และอยู่ในจังหวะของการที่มุ่งมั่นเรื่องการพัฒนาประเทศเมียนมาร์ยุคใหม่ “ส่วนธุรกิจอื่นต้องมีใต้โต๊ะหรือไม่ ผมไม่รู้” เกรียงไกรยืนยันถึงมุมมองต่อเรื่องการทุจริตในเมียนมาร์ ทว่าอุปสรรคสำคัญของการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาร์คือการต้องปรับตัวเข้าหากัน ระหว่างทางอินเด็กซ์ฯ และคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเปิดโอกาสให้ทีมงานค่อยๆ เรียนรู้ เนื่องด้วยเมียนมาร์ปิดประเทศมานาน ส่งผลให้คนท้องถิ่นไม่คุ้นชินกับการทำงานในโลกธุรกิจและยังขาด know-how ในหลายเรื่อง ซึ่งคนเมียนมาร์เพิ่งได้รับอิสระให้เข้าถึงข้อมูลภายนอกทางโลกอินเตอร์เน็ตได้ไม่ถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม เกรียงไกรหยิบยกประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยมักตีความผิด ทั้งกรณีที่หากเศรษฐกิจเมียนมาร์ขยายตัวแล้ว ไทยจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งเกรียงไกรกล่าวว่า “ไม่จริงที่แรงงานในเมืองไทยจะกลับไปเมียนมาร์ เพราะแรงงานเหล่านี้อยู่ตามชายแดน ไม่ใช่ในย่างกุ้งจึงยังชอบที่จะทำงานในเมืองไทยมากกว่า” อีกทั้งไม่จริงที่บอกว่าคนเมียนมาร์ส่วนใหญ่ดูรายการโทรทัศน์ไทย แต่ความจริงแล้วคือมีแต่คนแถบชายแดนเท่านั้นที่ดู ด้วยเหตุนี้หากต้องการเข้าไปทำตลาดในเมียนมาร์ก็ต้องเข้าไปศึกษาตลาดใน Yangon ก่อน แล้วจึงจะเข้าใจผู้บริโภคทั้งประเทศโดยรวม นอกจากนี้รายได้ของเมียนมาร์ต่อไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ส่วนหนทางสู่ตลาดเวียดนามนั้น เกรียงไกรเล่าว่า “อุปสรรคของการทำธุรกิจคือคอร์รัปชั่นตั้งแต่รากหญ้าถึงยอดดอย” อย่างไรก็ตามล่าสุดอินเด็กซ์ฯ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับ บริษัท Tri Viet Media Corporation (TVM) เปิดบริษัท ทีวีเอ็ม อินเด็กซ์ จำกัด ที่เมือง Ho Chi Minh โดยอินเด็กซ์ฯ ถือหุ้น 49% เพื่อให้บริการธุรกิจอีเวนท์ การผลิตสื่อมัลติมีเดียครบวงจร และการบริหารกิจกรรมการตลาดแบบสปอนเซอร์ชิพ ซึ่งทิศทางธุรกิจอีเวนท์ในเวียดนามถือเป็นช่วงขาขึ้น ด้วยประชากรกว่า 89 ล้านคน และเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง โดยมีบริษัทข้ามชาติและรวมทั้งไทยเข้าไปตั้งโรงงานผลิตจำนวนมาก จากข้อได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน โดยวางเป้าหมายให้บริการทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทเอกชนและภาครัฐในสัดส่วน 60% และธุรกิจไทยในเวียดนาม 40% “คาดว่าภายใน 4 ปีรายได้จากเวียดนามจะเพิ่มเป็น 196 ล้านบาท” เกรียงไกรให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าแต่ละปีเวียดนามจะมีการจัดงานอีเวนท์ 200-250 งาน ไม่รวมงานอีเวนท์ประเภทเปิดตัวสินค้าตามห้างสรรพสินค้า โดยส่วนใหญ่ จะเป็นงาน trade fair เป็นหลัก ซึ่งมีงานอีเวนท์ใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ที่แต่ละงานใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 70-100 ล้านบาท อาทิ งาน countdown งานเทศกาลดอกไม้ประจำปี เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการใช้เงินลงทุนของภาคเอกชนใหญ่ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ และเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ส่วนความคืบหน้าในการเข้าไปทำธุรกิจในมาเลเซียนั้น ทาง บมจ.อินเด็กซ์ฯ เข้าไปร่วมทุน 20% ในบริษัท Creve ของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นแผนการลงทุนระยะแรกเพื่อเรียนรู้ตลาดมาเลเซียให้ถ่องแท้ ก่อนจะเข้าไปรุกตลาดจริงจังมากขึ้น สำหรับในอินโดนีเซียก็เลือกทำธุรกิจด้านจำหน่ายจอ 3 มิติ ที่บริษัทผลิตเองผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่าย “เป็นบริษัทที่มีศักยภาพมากจนน่าจะทำ join venture กันต่อไปได้” เกรียงไกรเล่าถึงแนวโน้มในอนาคต ขณะที่ฝั่งแดนมังกรที่ใครๆ ก็หวังไปแจ้งเกิดนั้น อินเด็กซ์ฯ กลับเห็นว่าไม่ใช่ตลาดที่ต้องการไปฝ่าฟัน “คู่แข่งเยอะไม่รู้จะไปทำไม” เกรียงไกรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้บริษัทมีความพร้อมมากสำหรับตลาดเมืองจีนก็ตาม “แทบไม่ต้องหางาน มีลูกค้ารออยู่แล้ว” แต่การที่ใส่ทรัพยากรไปบุกตอนนี้ไม่ถือเป็น strategic move แต่เป็นเพียงแค่การขยายตลาดเท่านั้น เกรียงไกรทิ้งท้ายถึงรายได้ของ บมจ.อินเด็กซ์ฯ ว่า แม้ไม่อาจทะลุ 2.5 พันล้านได้ในปี 2556 แต่เชื่อว่าเมื่อธุรกิจในแถบอาเซียนตั้งไข่ได้อย่างมั่นคงแล้ว จะส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทน่าจะเติบโตถึง 3 พันล้านบาทภายใน 4 ปีข้างหน้า และจะเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วยรายงาน Asean Biz ประจำฉบับ FEBRUARY 2014