อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ยุคโลกดิจิทัล เติบใหญ่ถึงพันล้านเหรียญ - Forbes Thailand

อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ยุคโลกดิจิทัล เติบใหญ่ถึงพันล้านเหรียญ

กว่า 20 ปีของ ILINK ผู้นำเข้าสาย LAN รายแรกในไทย ที่ขยายเส้นทางธุรกิจจนติดโผ Best Under A Billion โดย Forbes ที่ปูรากฐานปั้น market cap ของบริษัทจนแตะพันล้านเหรียญฯ สอดรับความต้องการสื่อสารข้อมูลไร้สายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ด้วยเงินก้นถุงเพียง 250,000 บาท กับความมุ่งมั่นที่จะมีกิจการของตัวเอง คู่สามีภรรยา สมบัติ และ ชลิดา อนันตราพร ตัดสินใจวางเดิมพันกับธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสายสัญญาณคอมพิวเตอร์หรือ UTP หรือสาย LAN ยี่ห้อ TYCO จากสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2535 และขยายเพิ่มเติมไปยังสายสัญญาณยี่ห้อ LINK ในเวลาต่อมา ก่อนจะแผ่อาณาจักรสู่ธุรกิจวิศวกรรม และธุรกิจเทเลคอม ที่เพิ่งแจ้งเกิดในรุ่นทายาท (ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงทั่วประเทศไทย) “ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักสาย LAN เลย แต่เรามองว่าในอนาคตตลาดไทยจะมีความต้องการใช้สาย LAN นี้เพื่อเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งด้วยพื้นความรู้ด้านวิศวะกรรมไฟฟ้าและการที่เคยติดตั้งระบบไฟฟ้าและโทรศัพท์มาก่อน จึงทำให้เห็นช่องทางในการสร้างธุรกิจ” สมบัติกล่าว ในปัจจุบัน สมบัติ ถือหางเสือคุมทิศทางกิจการในฐานะประธานกรรมการของ กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ขณะที่ชลิดา เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณ โดยมีบริษัทในเครืออีก 3 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด ซึ่งให้บริการโครงการ fiber optic 2. บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ดูแลงานโครงการ submarine cable และ transmission line และ 3. บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด ที่มุ่งเฉพาะธุรกิจให้เช่าศูนย์ data center “ยอมรับว่าตอนนั้นมีความสุขที่สุด เพราะเราเป็นผู้เล่นหลักรายเดียว โดยเรานำเข้าสายมาเท่าไหร่ก็ขายหมด แล้วลูกค้าก็ไม่สนใจด้วยว่าราคาจะเป็นเท่าไหร่ มีแค่ไหนก็ซื้อหมด” สมบัติ ถ่ายทอดความรู้สึกในยุคเริ่มต้นของกิจการ ILINK แต่ความหอมหวานของธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสาย LAN ก็เริ่มขมเมื่อผู้ผลิต TYCO เริ่มมองว่าตัวแทนจำหน่ายรายเดียวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงหาคู่ค้าใหม่เพื่อทำตลาดในไทยอีก 1 ราย ซึ่งสร้างแรงเขย่าให้กับ อินเตอร์ลิ้งค์ จนถึงกับซวนเซ สมบัติจึงตัดสินใจนำเข้าสายสัญญาณยี่ห้อใหม่ภายใต้ชื่อ LINK และวางตำแหน่งของบริษัทใหม่ ว่าเป็นสาขาในไทยของบริษัทผู้ผลิตจากในอดีตที่เป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย ซึ่งทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าสายสัญญาภายใต้ ILINK เติบโตเฉลี่ยกว่า 15% มาโดยตลอด แต่ทางออกดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสร้างฐานที่แข็งแกร่งพอในสายตาของสมบัติ จึงนำไปสู่ธุรกิจอีกแขนงที่เขายึดมั่นว่าจะต้อง “ไม่ไปช่วงชิงตลาดของลูกค้า” นั่นคือ ธุรกิจวิศวกรรม ซึ่งเน้นงานรับออกแบบก่อสร้าง และหรือติดตั้งระบบสื่อสารสายสัญญาณทุกประเภทให้กับโครงการที่งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป ที่ไม่ใช่เฉพาะภายในอาคารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงใต้ทะเลและใต้ดินอีกด้วย สมบัติ เล่าถึงผลงานแรกของฝั่งธุรกิจวิศวกรรมเพิ่มเติมว่า ในวันนั้นสนามบินสุวรรณภูมิต้องการผู้ให้บริการวางระบบ fiber optic ที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านกำลังเงินและทักษะระดับสากล แต่ลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมาวางระบบในยุคนั้นยังไม่พร้อมรับงานขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่ออินเตอร์ลิ้งค์ประมูลงานชนะคู่แข่งต่างชาติ หลังจากนั้น งานรับเหมาวางระบบสื่อสารผ่าน fiber optic ของโครงการขนาดใหญ่ก็เริ่มตามมาจนถึงปัจจุบัน แล้วยังส่งผลให้เขาตัดสินใจนำอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่นฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในฐานะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เมื่อปี 2547 ด้วยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและส่งเสริมให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อผ่านร้อนผ่านหนาวมาระยะหนึ่งและประจวบกับจังหวะที่ลูกชายผู้รับสืบทอดกิจการเริ่มเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญหลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุรกิจจาก Boston University ผู้ซึ่งกำลังมองหาหนทางที่จะสร้างความสำเร็จที่เป็นของตัวเอง บนรากฐานของการเป็นธุรกิจที่มีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และใช้จุดแข็งของธุรกิจเดิมให้เป็นประโยชน์ “ผมเริ่มจากให้ลูกชายไปศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์จาก fiber optic ที่เราขายอยู่และทีมงานวิศวกรที่มีอยู่ไปสร้างธุรกิจสำหรับบ้านเราได้อย่างไรบ้าง” สมบัติ เล่าถึงที่มาของการเข้าสู่ธุรกิจให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง ภายใต้ชื่อบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอมฯ ที่มี ณัฐนัย อนันตรัมพร ลูกชายคนกลาง เป็นกรรมการผู้จัดการ ณัฐนัย มองว่าแต่เดิมอินเตอร์ลิ้งค์ยังมีข้อจำกัดในการเติบโต ตัวเขาจึงมองหาธุรกิจที่ขยายตัวได้แบบไร้ขีดจำกัด ซึ่งพบว่าธุรกิจเทเลคอมคือคำตอบ เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้งานไม่มีข้อจำกัด ทว่ายังขาดโครงข่ายพื้นฐานของระบบสื่อสารความเร็วสูงมารองรับ ดังนั้นในเดือนตุลาคม 2554 เขาจึงตัดสินใจเดินหน้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเต็มตัว แต่ด้วยสถานะของผู้เล่นที่เข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมหลังผู้นำตลาดรายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จึงย่อมต้องสร้างความแตกต่างด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและคุณลักษณะของบริการ “เราพบว่าเส้นทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะทำให้เรามีโครงข่ายที่แตกต่างและไปได้ทั่วประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเพราะระยะวางสายสั้นกว่า” ณัฐนัย ย้ำถึงจุดเด่นเพิ่มเติมอีกว่า “บริษัทยัง commit กับลูกค้าว่าสามารถให้บริการที่ความเสถียรถึง 99.999%” ปัจจุบันอินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอมฯ ยังเป็นโครงข่ายที่ครอบครองพื้นที่เสาตลอดเส้นทางรถไฟของ รฟท.ภายใต้สัมปทาน 15 ปีแต่เพียงผู้เดียว  ด้วยความยาว 35,000 กิโลเมตร โดยณัฐนัย เชื่อว่าอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปีเทคโนโลยี fiber optic จะยังคงเป็นที่ต้องการและเหมาะสมกับโครงข่ายสื่อสารระยะไกลที่มีความเสถียรสูง (ทั้งนี้ แหล่งข่าว Forbes Thailand ยังให้บริการในการวางโครงข่ายนี้) นอกจากธุรกิจที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด บริษัทยังต่อยอดธุรกิจด้านโทรคมนาคม ไปยังธุรกิจ data centerที่บริหารโดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด จากมุมมองของณัฐนัย ที่ว่า “เมื่อมีถนนให้ข้อมูลวิ่งแล้วก็ต้องมีที่เก็บข้อมูล” ในปัจจุบัน ด้วยทั้งสามธุรกิจหลักทำให้ ILINK มีตัวเลขรายได้ไต่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนทะลุ 2.6 พันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะมีรายได้ถึง 3 พันล้านบาท ณ สิ้นปีนี้ “ILINK เป็นบริษัทเดียวในตลาด mai ที่มีกำไรในทุกไตรมาสมาตลอด 11 ปี” สมบัติ ระบุถึงความแข็งแรงของบริษัท “ผมว่าความมุ่งมั่นในการทำอะไรให้สำเร็จที่ได้พร่ำสอนกันในครอบครัวคนจีนที่รักการค้าขายนั้น เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเราก้าวมาไกลถึงเพียงนี้ ซึ่งยังส่งต่อมาถึงรุ่นลูกของผม ที่จะทุ่มเทในทุกๆ เรื่องต่อไป และเป็นปัจจัยส่งเสริมกิจการของครอบครัวให้แข็งแกร่ง” สมบัติ เล่าทิ้งท้ายถึงเหตุแห่งความสำเร็จของกลุ่มอินเตอร์ลิ้งค์ฯ อ่าน Full List "200 สุดยอดบริษัทแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีรายได้ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ"
คลิ๊กอ่าน "อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ยุคโลกดิจิทัล เติบใหญ่ถึงพันล้านเหรียญ" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ SEPTEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine