จากคำประกาศ “ลบ FPI ออกจากแผนที่ประเทศไทย” ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งไต้หวัน กลายเป็นแรงฮึดให้สมพล ธนาดำรงศักดิ์ มุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจพ้นมรสุมสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลิตและส่งออกอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 134 ประเทศทั่วโลก
เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: ภัทรพล ตันตรงภักดิ์ บนกองอะไหล่รถเก่าเซียงกงที่ครอบครัวธนาดำรงศักดิ์เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจในปี 2521 ได้รับการต่อยอดโดยบรรดาทายาทที่ร่วมผลักดันธุรกิจกงสีให้เติบโตในสายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามแนวถนัด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจติดตั้งแก๊สรถยนต์ในประเทศ และธุรกิจนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ใช้แล้วจากต่างประเทศ พร้อมจับจังหวะและโอกาสขยายอาณาจักรอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ หรือสถานีบริการน้ำมันจำนวนมากกว่า 100 สถานีทั่วประเทศ “ผมเริ่มธุรกิจนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นในปี 2534 ก่อนจะเป็นตัวแทนนำเข้าของไต้หวันปี 2536 โดยรับผิดชอบด้านการตลาดในไทย ส่วนไต้หวันดูแลการตลาดต่างประเทศ แต่เนื่องจากขณะนั้นเรามีแม่พิมพ์แค่ 20 โมเดลและไม่ตรงกับความต้องการของตลาดทำให้ในช่วงแรกบริษัทมีปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534-2538” สมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูนพาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ยังคงระลึกถึงวันแรกของการต่อยอดธุรกิจ โดยร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำในประเทศไต้หวัน หลังจากขาดทุนต่อเนื่องหลายปี สมพลทบทวนบทเรียนความล้มเหลว และมองเห็นจุดอ่อนที่สำคัญในอดีตจากการพึ่งพิงไต้หวันในตลาดส่งออกมากเกินไป รวมถึงแม่พิมพ์จำนวนน้อยที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาด เขาจึงเริ่มต้นเดินหน้าเปิดประตูธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ และผันตัวสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนของรถกระบะ ซึ่งเป็นรายแรกในประเทศไทยที่รวบรวมอะไหล่รถกระบะจัดทำเป็นแคตตาล็อกสินค้าบนเว็บไซต์ แม้จะได้รับออเดอร์แรกจากอิหร่านและไนจีเรีย แต่ก็ยังคงไม่มากพอที่จะทำกำไรล้างขาดทุนสะสม ในจังหวะที่กลุ่มทุนไต้หวันได้ติดต่อขอซื้อกิจการ เพื่อกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ ทั้งยังตั้งใจจำหน่ายสินค้าต่ำกว่าต้นทุนเพื่อปิดประตูการทำธุรกิจของ FPI ทุกวิถีทาง “ช่วงที่บริษัทขาดทุน หุ้นเรา 1 บาท คู่แข่งขอซื้อ 10 บาท เพราะต้องการกำจัดเรา เมื่อเราไม่ยอมขาย เขาประกาศว่าจะลบ FPI ออกจากแผนที่ประเทศไทยภายใน 1 ปี จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เราไม่ยอมแพ้ ขณะที่เขาไล่ปิดบริษัทคู่แข่งในไต้หวัน ทำให้มีแม่พิมพ์จำนวนมากให้เราเข้าไปกว้านซื้อ เพราะเขาฆ่าธุรกิจ แต่ไม่ได้ฆ่าแม่พิมพ์ ทำให้เราสามารถเพิ่มอาวุธได้อย่างรวดเร็ว จากแม่พิมพ์ 20 ตัว กลายเป็นแม่พิมพ์ 100 ตัวใน 1 ปี ในที่สุดไต้หวันก็ยอมแพ้ เพราะยิ่งพยายามฆ่าเรา เรายิ่งแข็งแกร่งขึ้น” หลังจากบริษัทเลือกเบนเข็มธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะชิ้นส่วนของรถกระบะ พร้อมดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ด้วยการซื้อแม่พิมพ์จำนวนมากเป็นอาวุธสร้างฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สมพลเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เขายอมขาดทุนอีกครั้งในปี 2549 เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือสายการผลิตจากการใช้เทคโนโลยีไต้หวันเป็นเทคโนโลยีของเยอรมันและญี่ปุ่น ในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งชิ้นส่วนของรถกระบะ รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก โดยจำหน่ายให้แก่ลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ต่างๆ (Original Equipment Manufacturer: OEM) และเป็นศูนย์รวมในการจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturer: REM) ในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากกว่า 134 ประเทศทั่วโลก รวมทั้ง เป็นศูนย์รวมในการจำหน่ายอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ ด้วยสินค้าที่หลากหลายกว่า 75,000 รายการสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร โดยก้าวต่อไปของบริษัท สมพลยังคงมุ่งเน้นขยายฐานธุรกิจในตลาด REM ทั่วโลกเป็นหลักเสริมด้วยการผลิตในลักษณะ OEM สำหรับสร้างชื่อและพัฒนาระบบหรือคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะสินค้าชุดแต่งที่ได้รับความนิยมตามกลยุทธ์ “High Margin” หรือสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการเน้นผลิตปริมาณจำนวนมาก “เราพยายายขยายไปทุกตลาดของโลกไม่จำเป็นต้องตลาดใหญ่ อาจจะเป็นประเทศที่คนไม่ค่อยรู้จัก เช่น ประเทศฟิจิ ปาร์ปัวนิวกินี คีร์กีซสถาน ไซบีเรีย เตอร์กีสถาน จาเมกา หรือกลุ่มประเทศในแถบแคริบเบียนและยุโรป เพื่อให้ได้ทั้ง high margin และ high volume” สำหรับประเทศที่เป็นฐานลูกค้าหลักในปัจจุบันของบริษัท ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอาหรับ หรือตะวันออกกลาง นอกจากเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้มีโอกาสสร้างการเติบโตในตลาด REM จำนวนมาก อินเดียนับเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจจากค่าแรงราคาถูกราว 3,000 บาทต่อเดือนและการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากนโยบายภาครัฐ สมพลจึงเจรจาจับมือกับพันธมิตรทางการค้าท้องถิ่นจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 45% และ ALP PLASTICS PRIVATE LIMITED ถือหุ้น 55% ภายใต้เงื่อนไขการผลิตรถยนต์ OEM ใช้ภายในประเทศและจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ได้แก่ เนปาล ศรีลังกา บังคลาเทศ และภูฏาน รวมถึงผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ชุดแต่งยานยนต์รองรับความต้องการในตลาด สมพลวางเป้าหมายสร้างฐานการผลิตปีละแห่งโดยมุ่งเน้นประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ซึ่งปัจจุบันนำโดยประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ทั้งยังต้องเป็นตลาดที่ไม่เป็นคู่แข่งกับประเทศไทยเพื่อให้สามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น เช่น Tata และ Mahindra ของประเทศอินเดีย นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจขยายตลาดไปยังประเทศตุรกี ยุโรป และสหรัฐอเมริกาซึ่งมีโมเดลรถที่แตกต่างจากประเทศไทย นอกจากนั้น ผู้นำทัพธุรกิจยังมองหาโอกาสการต่อยอดอาณาจักรที่ไม่จำกัดเพียงแค่ยานยนต์ ตามนโยบายธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตจาก Alliance หรือพันธมิตร ด้วยการร่วมลงทุนสัดส่วน 25% ในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลชื่อ Save Energy ร่วมกับบริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และพันธมิตรประกอบด้วย บริษัท วิชญ์ อุตสาหกรรม จำกัด (WIT) รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการโรงไม้หรือโรงเลื่อยไม้ พร้อมเป้าหมายประมูลใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 120 เมกะวัตต์ สมพลย้ำถึงความมุ่งมั่นสร้างการเติบโตนอกกรอบอุตสาหกรรมยานยนต์ตามแต่จังหวะและโอกาส เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตสู่ระดับ 20,000 ล้านบาทเช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไต้หวันที่เติบโตจากบริษัทขนาดเล็กไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่เดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี “บริษัทที่เคยบอกว่าจะลบ FPI ออกจากแผนที่ประเทศไทย ตอนนั้นเขาโตกว่าเรา 100 เท่า แต่ตอนนี้เราวิ่งเร็วมากจนเหลือ 10 เท่า บริษัทใหญ่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย กว่าจะผ่านกระบวนการขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลา 5 เดือนจึงลงทุนหรือเปิดแม่พิมพ์ได้ ขณะที่เราสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและออกผลิตภัณฑ์ได้ก่อน โดยประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 20 ปีช่วยให้เราลงทุนได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ”คลิ๊กอ่าน "ฟ้าหลังฝนของ FPI ปูพรมส่งออกชิ้นส่วนรถทั่วโลก" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ June 2016 ในรูปแบบ E-Magazine