ตัวแปร "เศรษฐกิจญี่ปุ่น" ฟื้นตัวจากโรคระบาดของญี่ปุ่น - Forbes Thailand

ตัวแปร "เศรษฐกิจญี่ปุ่น" ฟื้นตัวจากโรคระบาดของญี่ปุ่น

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Sep 2020 | 11:00 AM
READ 2825

ท่ามกลางการระบาดที่ยังคงดำเนินอยู่ ความหวังส่วนหนึ่งของ เศรษฐกิจญี่ปุ่น นั้นมาจากประเทศจีน ซึ่งกำลังค่อยๆ คลายการล็อกดาวน์ครั้งมโหฬารในประเทศและได้อนุญาตให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจจากจีนนี่เองเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญทำให้ เศรษฐกิจญี่ปุ่น และ บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก ต่างตั้งตารอคำสั่งซื้อใหม่จากจีน โดยเฉพาะการใช้จ่ายใหม่ๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานข่าวดีเรื่องนี้จะช่วยลดผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่ 16 เมษายนถึง 6 พฤษภาคม และการเลื่อนการจัดโอลิมปิกที่กรุง Tokyo ไปเป็นปี 2021 เนื่องจากญี่ปุ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องกลุ่มประชากรสูงอายุของประเทศซึ่งมีความเสี่ยงสูง ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในระดับโลกคือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดน่าจะจบลงภายในเดือนกรกฎาคม ถึงกระนั้นเศรษฐกิจโลกก็อาจจะยังจมดิ่งสู่การหดตัวมากกว่าเดิมเพราะกำไรที่ตกฮวบการล้มละลายที่พุ่งสูง และการว่างงานที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้าเหตุการณ์เลวร้ายจบได้ภายในเดือนกรกฎาคม และญี่ปุ่นควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศได้ การฟื้นไข้ของจีนก็น่าจะช่วยลดผลเสียที่โรคระบาดมีต่อญี่ปุ่นด้วย เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีจุดแข็งซ่อนอยู่ แม้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ในประเทศของญี่ปุ่นจะดูอ่อนแรงมาหลายทศวรรษ (ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดด้วยซ้ำ) แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปก็คือ ที่จริงแล้วจีดีพีต่อหัวของญี่ปุ่นเติบโตด้วยความเร็วเพิ่มขึ้น แม้จำนวนประชากรจะลดลง ซึ่งเมื่อจำนวนพลเมืองลดลง แต่จีดีพีตามมูลค่าที่แท้จริงเติบโตขึ้นแม้เพียงแค่ร้อยละ 1-2 นั่นหมายความว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อคนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมาก หากวัดจากเรื่องนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะแข็งแรงขึ้นได้ และถ้าจะให้เศรษฐกิจเติบโตก็ต้องมีการลงทุน ซึ่งการลงทุนในญี่ปุ่นก็เข้มแข็งขึ้นตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุน (วัดจากการสะสมทุนถาวรตามมูลค่าที่แท้จริง) เมื่อคิดเป็นร้อยละของจีดีพีตามมูลค่าที่แท้จริงเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2011 และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็นร้อยละ 15.3 ในปี 2019 สิ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้คืออะไร กำไรคือคำตอบ ทั้งนี้ กำไรของธุรกิจโดยเฉลี่ยเมื่อคิดเป็นร้อยละของจีดีพีเพิ่มขึ้น จากที่เคยน้อยกว่าร้อยละ 5 ในไตรมาสแรกของปี 2010 เป็นมากกว่าร้อยละ 15 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2019 และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นก็เคลื่อนไหวในรูปแบบคล้ายกัน อัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงช่วยให้บริษัทต่างๆ มีกำลังการผลิต แต่ยังช่วยจูงใจให้ลงทุนและขยายกิจการด้วย และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะมีการจ้างงานและขึ้นค่าแรงตามมา ขอย้ำว่า ตัวเลขเหล่านี้อยู่บนฐานข้อมูลก่อนไวรัสระบาด และตัวเลขทั้งหมดอาจถูกกระทบจากการระบาดในปีนี้ แต่ในขณะนี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่นยังเอื้อต่อเป้าหมายหลักตามนโยบายเศรษฐกิจ Abenomics ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น ทั้งนี้ญี่ปุ่นคืบหน้าไปมากในแนวทางนี้ ถือเป็นการพัฒนาที่ดี เนื่องจากจะช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือน และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากการที่ญี่ปุ่นมีกลุ่มประชากรสูงวัย เรื่อง: Yuwa Hedrick-Wong

Yuwa Hedrick-Wong เป็นหัวหน้าฝ่ายให้ความเห็นด้านเศรษฐศาสตร์ของ Forbes Asia ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียน ท่านสามารถติดต่อผู้เขียนได้ทางอีเมล yuwa@forbesasia.com


คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine