สืบสายสืบทรัพย์ ครั้งแรกของการจัดอันดับ 50 ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย
ครอบครัวคือแกนกลางสำคัญของธุรกิจยักษ์ใหญ่และแบรนด์ดังจำนวนมากในเอเชีย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นตระกูล Lee แห่ง Samsung Group ซึ่งรายได้ของกลุ่มในปี 2014 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้ Forbes ได้ทำการจัดอันดับ 50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย โดยกำหนดเกณฑ์ว่าตระกูลที่จะเข้าข่ายในการจัดอันดับของเราต้องมีการสืบทอด ทรัพย์สินกันต่อเนื่องอย่างน้อย 3 รุ่นขึ้นไป ดังนั้นชื่อของมหาเศรษฐีชั้นนำของภูมิภาคบางคนอย่างเช่น Li Ka-shing แห่งฮ่องกง จึงไม่ติดอันดับอยู่ในทำเนียบของเรา เพราะถึงแม้ว่าลูกชายของเขาจะอยู่ในแวดวงธุรกิจ แต่เขายังไม่มีทายาทรุ่นหลานที่ออกมารับบทผู้บริหารธุรกิจอย่างจริงจังเลย ถึง แม้ตระกูลส่วนใหญ่ในทำเนียบของเราจะสั่งสมความมั่งคั่งจากธุรกิจของตระกูล จากรุ่นสู่รุ่น แต่ในการจัดอันดับของเราในครั้งนี้ก็รวมไปถึงทายาทที่แยกทางออกไปทำธุรกิจ อื่นที่อยู่นอกเส้นทางของครอบครัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของตระกูล Ambini แห่งอินเดีย เราได้รวมทรัพย์สินของ 2 พี่น้อง Mukesh และ Anil ซึ่งได้รับมรดกทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากพ่อของพวกเขาซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2002 แต่พวกเขาเลือกที่จะแยกไปทำธุรกิจอื่นๆ ตามทางของตัวเอง ทั้งนี้มีตระกูลเศรษฐีอินเดียติดอันดับถึง 14 ตระกูลจากทั้งหมด 50 ตระกูลซึ่งสูงกว่า ตระกูลเศรษฐีจากประเทศอื่นๆ ในการรวบรวมราย ชื่อเพื่อจัดทำอันดับตระกูลเศรษฐีเอเชียครั้งนี้ เราได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของตระกูลนักธุรกิจชั้นนำกว่า 500 ตระกูลและทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของหลายๆ ตระกูลที่เข้าข่าย ซึ่งปรากฏว่าตระกูลที่จะติดอันดับในทำเนียบของเราได้ต้องมีทรัพย์สินไม่ต่ำ กว่า 2.9 พันล้านเหรียญ โดยในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเราใช้ราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 25 กันยายน (2558) ธุรกิจของหลายๆ ตระกูลซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และแม้ว่าตระกูลจะยังคุมอำนาจบริหารอยู่ แต่พวกเขาก็ยังต้องตอบคำถามของผู้ถือหุ้นภายนอกตระกูล บางตระกูลอย่างเช่น Burmans ของอินเดีย ได้จ้างผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกมาบริหารธุรกิจของพวกเขา แต่บางครั้งการที่ทายาทของตระกูลวางมือจากการบริหารธุรกิจของครอบครัวไปก็ อาจเกิดเป็นประเด็นได้เหมือนกัน (ถ้าคุณคิดว่ามีตระกูลไหนที่เราอาจจะมองข้ามไป ก็อีเมลมาบอกเราได้ที่ readers@forbes.com)ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย ลำดับที่ 11-20 11. ตระกูล CHUNG 1.35 หมื่นล้านเหรียญ เกาหลีใต้ Hyundai ของตระกูล Chung มีเครือข่ายธุรกิจมากมายตั้งแต่รถยนต์ เรือเดินสมุทร รับเหมาก่อสร้าง ประกัน และค้าปลีก ในช่วงก่อตั้ง Chung Ju-Yung ซึ่งโตมาในครอบครัวที่ยากจนได้เริ่มสร้างฐานะขึ้นมาจากการเปิดอู่ซ่อมรถใน กรุงโซลในปี 1940 เขาใช้โอกาสในช่วงหลังสงครามโลกก่อตั้งกิจการ Hyundai Motor Industiral Co. ขึ้นมาในปี 1946 และ Hyundai Civil Industries ในปี 1947 ต่อมากิจการซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ก็แตก ธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม 12. ตระกูล HARTONO 1.27 หมื่นล้านเหรียญ อินโดนีเซีย ในปี 1950 Oei Wie Gwan ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทผลิตบุหรี่ที่เกือบจะล้มละลายแห่งหนึ่งใน Kudus (ตอนกลางของเกาะชวา) ซึ่งต่อมาเขาตั้งชื่อมันว่า Djarum เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1963 ลูกชายทั้ง 2 ของเขา Robert Budi และ Michael Hartono ก็ได้ขึ้นมาบริหารอาณาจักรธุรกิจแทน ในปัจจุบัน Victor Hartono ลูกชายคนโตของ Budi ดำรง ตำแหน่งเป็น COO ของ Djarum ซึ่งเป็นกิจการผลิตบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ตระกูล Hartono ก็ยังถือหุ้น 47% ใน Bank Central Asia ซึ่งเป็นธนาคารที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในอินโดนีเซีย และมีสินทรัพย์สูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ โดยถือผ่าน Farindo Investments 13. ตระกูล SY 1.23 หมื่นล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ ในวัยหนุ่ม Henry Sy ทำงานในร้านขายของชำของครอบครัวและก็เริ่มตั้งร้านรองเท้าเล็กๆ ขึ้นที่ Manila ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็น SM Prime ซึ่งเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ นอกจากธุรกิจห้างสรรพสินค้าแล้วตระกูล Sy ยังเป็นเจ้าของธุรกิจธนาคารด้วย โดยบริษัทมีแผนที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจด้วยการสร้างเมืองขนาดย่อมๆ (micro cities) ขึ้นมารายล้อมห้างสรรพสินค้าของบริษัทที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ตระกูล Sy ยังถือหุ้นใน National Grid Corp. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนซึ่งผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนชาวฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ 14. ตระกูล จิราธิวัฒน์ 1.17 หมื่นล้านเหรียญ ไทย ตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ และร้านอาหารผ่านการถือหุ้นใน Central Group ซึ่งในบรรดาธุรกิจเหล่านี้ Central Retail เป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและสร้างความมั่งคั่งให้ กับตระกูลจิราธิวัฒน์มากกว่า 65% ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยหลังจากที่ ทศ จิราธิวัฒน์เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2013 ธุรกิจในเครือเซ็นทรัลก็ขยายกิจการไปยังอินโดนีเซียและเวียดนาม ในปี 1927 เตียง จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นปู่ของทศได้อพยพมาจากเมืองจีน และตั้งร้านค้าขึ้นในกรุงเทพฯ ปี 1957 สัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นลูกชายคนหนึ่งของเตียง ได้เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทยขึ้นในเขตพระนคร 15. ตระกูล GODREJ 1.14 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย ลูกหลานตระกูล Godrej จำนวน 9 คนเข้าทำงานใน Godrej Group ซึ่งมีอายุยาวนานมาถึง 118 ปี และมีรายได้สูงถึง 4.1 พันล้านเหรียญ Adi Godrej ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่รับหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจในตระกูล ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดย Ardeshir Godrej ผู้ซึ่งเลิกอาชีพทนายเพื่อมาผลิตล็อคขายในปี 1897 โดยในปี 1918 เขาได้นำสบู่ที่ผลิตโดยน้ำมันพืชออกขายเป็นครั้งแรกในโลก หลังจากนั้น Pirojshaน้องชายของเขาก็ได้เข้าซื้อที่ดินในย่านชานเมืองมุมไบ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงลิ่วของตระกูล Adi ซึ่งเป็นบัณฑิตจากรั้ว MIT กลับมาบริหารธุรกิจของครอบครัวในปี 1963 และรับตำแหน่งเป็นประธานในปี 2000 16. ตระกูล CHENG 1.11 หมื่นล้านเหรียญ ฮ่องกง Cheng Yu-tung และครอบครัวของเขาครอบครอง Chow Tai Fook Enterprises ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ทำธุรกิจค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงและกิจการอสังหาริมทรัพย์ New World Development ปัจจุบัน Henry ลูกชายของเขารับหน้าที่เป็นผู้นำธุรกิจของตระกูล 17. ตระกูล KUOK 1.09 หมื่นล้านเหรียญ มาเลเซีย, สิงคโปร์ Robert Kuok เริ่มทำธุรกิจด้วยการค้าขายน้ำตาล ข้าว และแป้ง ใน Johor Bahru ของประเทศมาเลเซียในปี 1949 ในปัจจุบัน ธุรกิจของ Kuok Group ขยายไปทั่วทั้งในฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยส่วนหนึ่งของกิจการของตระกูลได้แก่เครือโรงแรม Shangri-La ธุรกิจเรือขนส่งและธุรกิจผลิตและขนส่งก๊าซปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง PACC Offshore Services Holdings ของสิงคโปร์ และ South China Morning Post ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกิจการหนังสือพิมพ์ที่ทำกำไรสูงที่สุดในโลก 18. ตระกูล SAJI 1.08 หมื่นล้านเหรียญ ญี่ปุ่น Nobutada Saji ประธานของ Suntory ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Suntory Holdings ในปี 2004 และส่งมอบอำนาจบริหารให้กับคนนอกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 116 ปีของบริษัท กิจการ Suntory ย้อนไปไกลถึงปี 1899 เมื่อ Shinjiro Torii เริ่มผลิตเหล้าแบบตะวันตกขายในญี่ปุ่น ต่อมาKeizo Saji ลูกชายของเขาเข้ารับช่วงกิจการต่อในปี 1961 และเปลี่ยน Suntory เป็นธุรกิจพันล้านโดยเข้าไปมีเอี่ยวในธุรกิจร้านอาหาร น้ำดื่ม สนามกอล์ฟ โรงถ่ายภาพยนตร์ ไร่องุ่น และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในปัจจุบัน Nobuhiro บริหาร Suntory Beverage & Foods ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของตระกูล 19. ตระกูล MITTAL 1.01 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย Mohan Lal Mittal ซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐ Rajasthan ได้เริ่มก่อตั้งธุรกิจผลิตเหล็กของครอบครัวขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 โดยมี Laskshmi Mittal ลูกชายรับหน้าที่เป็นลูกมือ และเมื่อประสบปัญหาในประเทศในปี 1976 Mohan Lal ก็ได้ส่ง Lakshmi ไปประจำการที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเขาได้ตั้งโรงเหล็กขึ้นใหม่ ต่อมา Lakshmi ได้แยกตัวออกจากพี่น้องของเขาและก่อตั้งกิจการ Mittal Steel ในปี 2006 ได้ควบรวมกับ Arcelor เป็น ArcelorMittal ซึ่งกลายมาเป็นโรงเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก (มูลค่าตลาด 9 พันล้านเหรียญ) 20. ตระกูล PAO 9 พันล้านเหรียญ ฮ่องกง หลัง จากที่ Y.K. Pao เจ้าพ่อธุรกิจเดินเรือของฮ่องกงเสียชีวิตในปี 1991 กิจการ World-Wide Shipping (ปัจจุบันคือ BW Group) ก็ตกเป็นของ Anna ลูกสาวของเขา โดย Helmut Sohmen สามีของเธอได้เข้ามาดูแลกิจการจนถึงปี 2010 และแตกไลน์ธุรกิจไปยังธุรกิจก๊าซ การผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง และการจัดเก็บปิโตรเลียม ซึ่งในปัจจุบัน Andreas ลูกชายของพวกเขาเป็นคนดูแลกิจการต่อ โดย Pao ได้มอบธุรกิจในด้านอื่นให้กับลูกคนอื่นๆ
คลิ๊กอ่าน "สืบสายสืบทรัพย์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine