ตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของเอเชีย: ลำดับที่ 1-10 - Forbes Thailand

ตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของเอเชีย: ลำดับที่ 1-10

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Feb 2016 | 04:06 PM
READ 9768

สืบสายสืบทรัพย์ ครั้งแรกของการจัดอันดับ 50 ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย

ครอบครัวคือแกนกลางสำคัญของธุรกิจยักษ์ใหญ่และแบรนด์ดังจำนวนมากในเอเชีย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นตระกูล Lee แห่ง Samsung Group ซึ่งรายได้ของกลุ่มในปี 2014 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้ Forbes ได้ทำการจัดอันดับ 50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย โดยกำหนดเกณฑ์ว่าตระกูลที่จะเข้าข่ายในการจัดอันดับของเราต้องมีการสืบทอด ทรัพย์สินกันต่อเนื่องอย่างน้อย 3 รุ่นขึ้นไป ดังนั้นชื่อของมหาเศรษฐีชั้นนำของภูมิภาคบางคนอย่างเช่น Li Ka-shing แห่งฮ่องกง จึงไม่ติดอันดับอยู่ในทำเนียบของเรา เพราะถึงแม้ว่าลูกชายของเขาจะอยู่ในแวดวงธุรกิจ แต่เขายังไม่มีทายาทรุ่นหลานที่ออกมารับบทผู้บริหารธุรกิจอย่างจริงจังเลย ถึง แม้ตระกูลส่วนใหญ่ในทำเนียบของเราจะสั่งสมความมั่งคั่งจากธุรกิจของตระกูล จากรุ่นสู่รุ่น แต่ในการจัดอันดับของเราในครั้งนี้ก็รวมไปถึงทายาทที่แยกทางออกไปทำธุรกิจ อื่นที่อยู่นอกเส้นทางของครอบครัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของตระกูล Ambini แห่งอินเดีย เราได้รวมทรัพย์สินของ 2 พี่น้อง Mukesh และ Anil ซึ่งได้รับมรดกทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากพ่อของพวกเขาซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2002 แต่พวกเขาเลือกที่จะแยกไปทำธุรกิจอื่นๆ ตามทางของตัวเอง ทั้งนี้มีตระกูลเศรษฐีอินเดียติดอันดับถึง 14 ตระกูลจากทั้งหมด 50 ตระกูลซึ่งสูงกว่า ตระกูลเศรษฐีจากประเทศอื่นๆ ในการรวบรวมราย ชื่อเพื่อจัดทำอันดับตระกูลเศรษฐีเอเชียครั้งนี้ เราได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของตระกูลนักธุรกิจชั้นนำกว่า 500 ตระกูลและทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของหลายๆ ตระกูลที่เข้าข่าย ซึ่งปรากฏว่าตระกูลที่จะติดอันดับในทำเนียบของเราได้ต้องมีทรัพย์สินไม่ต่ำ กว่า 2.9 พันล้านเหรียญ โดยในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเราใช้ราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 25 กันยายน (2558) ธุรกิจของหลายๆ ตระกูลซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และแม้ว่าตระกูลจะยังคุมอำนาจบริหารอยู่ แต่พวกเขาก็ยังต้องตอบคำถามของผู้ถือหุ้นภายนอกตระกูล บางตระกูลอย่างเช่น Burmans ของอินเดีย ได้จ้างผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกมาบริหารธุรกิจของพวกเขา แต่บางครั้งการที่ทายาทของตระกูลวางมือจากการบริหารธุรกิจของครอบครัวไปก็ อาจเกิดเป็นประเด็นได้เหมือนกัน (ถ้าคุณคิดว่ามีตระกูลไหนที่เราอาจจะมองข้ามไป ก็อีเมลมาบอกเราได้ที่ readers@forbes.com)
ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย ลำดับที่ 1-10 1. ตระกูล LEE 2.66 หมื่นล้านเหรียญ เกาหลีใต้ Samsung เริ่มต้นจากปี 1938 เมื่อ Byung-Chull ซึ่งเป็นบุตรชายของเศรษฐีที่ดินตั้งบริษัทค้าขายเล็กๆ ขึ้นมาใน Daegu และเมื่อเขาเสียชีวิตไปในปี 1987 Lee Kun-Hee บุตรชายของเขาก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธาน Samsung Group โดยต่อมาในทศวรรษที่ 1990 ธุรกิจแบ่งออกเป็น 4 บริษัท ได้แก่ Samsung Group, CJ Group, Shinsegae group และ Hansol Group บริหารโดยลูกหลานตระกูล Lee รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 โดยมีบรรดาเครือญาติในตระกูล Lee อย่างน้อย 15 คน คุมธุรกิจมากกว่า 55 แห่งซึ่งมียอดขายรวมกันถึง 3.35 แสนล้านเหรียญ 2. ตระกูล LEE 2.41 หมื่นล้านเหรียญ ฮ่องกง Lee Shau Kee อพยพจากมณฑลกวางตุ้งมาที่ฮ่องกงในปี 1948 และเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการค้าขายโลหะมีค่าและแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกของเขาคือ Eternal Enterprise Co.ต่อมาเขาได้ก่อตั้งกิจการ Sun Hung Kai ร่วมกับ Kwok Tak-Seng (อันดับที่ 5) และ Fung King Hey จากนั้นเขาก็แยกตัวออกมาและก่อตั้งกิจการ Henderson Development ด้วยตัวเองในปี 1973 และพอถึงปี 1976 เขาก็ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Henderson Land Development ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของฮ่องกงและจีน 3. ตระกูล AMBINI 2.15 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย หลายสิบปีก่อนหน้าที่ลูกชายคนโตอย่าง Mukesh จะสามารถสร้างบ้านที่มีราคาแพงที่สุดในโลกที่มุมไบ โดย Dhirubhai Ambani ผู้เป็นพ่อยังทำงานที่ปั๊มน้ำมัน ณ เยเมนและใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาให้ได้ เมื่อเขาเดินทางกลับบ้านเดิมที่อินเดียในปี 1957 เขาก็เริ่มทำธุรกิจค้าขายเครื่องเทศและเส้นด้าย ในปี 1968 ธุรกิจ Reliance Textile Industries ของเขาก็เริ่มผลิตสิ่งทอภายใต้แบรนด์ Vimal ซึ่งกลายเป็นที่นิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา หลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตลงในปี 2002 Mukesh และ Anil น้องชายของเขาก็มีเรื่องขัดแย้งกันซึ่งทำให้อาณาจักรธุรกิจของตระกูลแตกออกเป็น 2 ฝ่าย 4. ตระกูล เจียรวนนท์ 1.99 หมื่นล้านเหรียญ ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เป็นหนึ่งในกิจการผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านค้าในไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ โดยในปี 1921 สองพี่น้อง เจี่ย เอ็กชอ และ ชนม์เจริญ เจียรวนนท์ ได้เริ่มเปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชที่นำเข้ามาจากประเทศจีนให้กับเกษตรกรไทย ในปัจจุบันผู้นำธุรกิจของตระกูลคือ เจ้าสัวธนินทร์ ซึ่งเป็นบุตรชายของเจี่ย เอ็กชอ โดยทรัพย์สินของตระกูลแบ่งปันกันกับพี่ชายของเขาอีก 3 คนและญาติๆ เจ้าสัวธนินทร์มีบุตรชาย 3 คน ซึ่งทุกคนได้รับการคาดหวังให้เข้ามารับไม้ต่อจากเขา โดยในปัจจุบัน สุภกิตเป็นรองประธานเครือ CP ส่วนศุภชัยนอกจากจะเป็นรองประธานเครือ CP แล้วยังเป็นกรรมการผู้จัดการและ CEO ของ True Corp. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยด้วย ในขณะที่ณรงค์เป็นรองประธาน CP Lotus Corpนอกจากนี้ เกียรติ เจียรวนนท์ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของธนินทร์ ก็ยังถือหุ้นในกิจการของตระกูลด้วย 5. ตระกูล KWOK 1.95 หมื่นล้านเหรียญ ฮ่องกง อาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล Kwok ขยายจากตึกระฟ้าในฮ่องกงไปจนถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 80 ล้านตารางฟุตในจีนแผ่นดินใหญ่ Kwok Tak-Seng อพยพจากแผ่นดินใหญ่มาที่ฮ่องกงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และร่วมลงทุนกับ Fung King Hey และ Lee Shau Kee ก่อตั้ง Sun Hung Kai & Co. Ltd. ในปี 1969 และพอถึงปี 1972 เขาก็ขยายกิจการไปยัง Sun Hung Kai Properties Limited หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 1990 บรรดาลูกชายของเขาก็เข้ามาบริหารกิจการแทน หลังคดีความที่ผ่านพ้น Raymond หนึ่งในบุตรชาย นั่งตำแหน่งประธานของบริษัทแต่เพียงผู้เดียวมานับตั้งแต่นั้น Ho-Lai ลูกชายของเขารับหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายขายและพัฒนาโครงการของบริษัท ในขณะที่ Kai-Fai ซึ่งเป็นลูกชายของ Thomas พี่น้องร่วมรุ่นของ Raymond รับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร 6. ตระกูล KWEK/QUEK 1.89 หมื่นล้านเหรียญ สิงคโปร์, มาเลเซีย ในปี 1928 Kwek Hong Png ซึ่งยังอยู่ในวัยรุ่นเดินทางตัวเปล่าจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจีนมาที่สิงคโปร์ เขาและพี่น้องอีก 3 คนได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Hong Leong ในปี 1941 ซึ่งมาถึงวันนี้กิจการของ Hong Leong Group ขยายไปยังธุรกิจต่างๆ มากมายทุกมุมโลก โดยมีสินทรัพย์รวมกันมากถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงโรงแรมชั้นนำกว่า 150 แห่งใน 20 มหานครทั่วโลก ธุรกิจการเงิน รวมถึงกิจการค้าขายสินค้าเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของเอเชียด้วย ลูกชายคนโตของเขาKwek Leng Beng รับหน้าที่ดูแลธุรกิจในสิงคโปร์ ในขณะที่ลูกพี่ลูกน้องของเขา Quek Leng Chan ดูแลกิจการในประเทศมาเลเซีย ส่วนหลานชาย Sherman และ Eik Sheng ก็รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือ 7. ตระกูล PREMJI 1.7 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย กิจการ Wipro ของตระกูล Premji ก่อตั้งขึ้นในปี 1945 โดย Mohamed Hasham Premji ซึ่งเป็นพ่อของ Azim Premji ประธานบริษัทคนปัจจุบัน โดยในช่วงเริ่มต้นเขาใช้ชื่อบริษัทว่า Western Indian Vegetable Products และทำธุรกิจผลิตน้ำมันถั่วเพื่อใช้ในการปรุงอาหาร หลังจากที่ Mohamed เสียชีวิตในปี 1966 Azim ก็ต้องเลิกเรียนหนังสือกลางครันเพื่อมาดูแลธุรกิจของครอบครัว เขาได้เพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามาในสายการผลิตของบริษัท แต่การขยายกิจการไปยังธุรกิจซอฟต์แวร์ในจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะทำให้สินทรัพย์ของตระกูล Premji เพิ่มพูนขึ้น ต่อมา Azim ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Wipro กิจการของ Wipro ทำกำไรได้อย่างดีเช่นเดียวกับธุรกิจเทคโนโลยีของอินเดียอีกมากมาย และนำ Wipro เข้าจดทะเบียนใน NYSE ในปี 2000 โดยในปัจจุบัน Rishad ลูกชายของเขารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Wipro และยังเป็นกรรมการบริษัทด้วย 8. ตระกูล TSAI (การเงิน) 1.51 หมื่นล้านเหรียญ ไต้หวัน หลังจากที่ Tsai Wan-Tsai ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Fubon Financial เสียชีวิตไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Daniel และ Richard ซึ่งเป็นลูกชายของเขาก็เข้ามารับหน้าที่บริหารกิจการต่อ ในขณะที่ Tsai Hong-tu ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพวกเขาก็รับหน้าที่ดูแล Cathay Financial Holding ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้มากที่สุดในไต้หวัน ย้อนกลับไปเมื่อ 2 พี่น้อง Wan-tsai และ Wan-lin เกิดมาในครอบครัวชาวนาที่ยากจน แต่พวกเขาก็พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวจนร่วมกันเปิดกิจการ Cathay Insurance ได้สำเร็จในปี 1962 ต่อมาในปี 1979 พี่น้องทั้ง 2 คนก็แยกทางกันโดยคนหนึ่งบริหาร Cathay ต่อไปส่วนอีกคนหนึ่งก็แยกมาสร้างกิจการ Fubon ปัจจุบันเป็นยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหาร โดย Tsung-Hsien และ Tzung-Han ซึ่งเป็นลูกชายของ Hong-tu เป็นรองประธานกรรมการของ Cathay ในขณะที่ Chris ซึ่งเป็นลูกชายของ Richard ก็เป็นประธานกรรมการของ Fubon Sports & Entertainment 9. ตระกูล HINDUJA 1.5 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย, อังกฤษ พี่น้อง 4 คนในตระกูล Hinduja ทำหน้าที่บริหารธุรกิจข้ามชาติที่อยู่ในเครือของ Hinduja Group ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กิจการธนาคาร การคมนาคมขนส่ง พลังงาน เทคโนโลยี ไปจนถึงธุรกิจสื่อ Parmanand Deepchand Hinduja ซึ่งเป็นพ่อของพวกเขาคือผู้ก่อตั้งกิจการของตระกูล Hinduja โดยในช่วงแรกเขาเริ่มจากการทำธุรกิจค้าขายสินค้าในภูมิภาค Sindh ของอินเดีย (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน) ก่อนที่จะย้ายไปอิหร่านในปี 1919 ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของเครือเรื่อยมาจนกระทั่งบรรดาลูกชายของเขาย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ลอนดอนในปี 1979 ปัจจุบันธุรกิจในเครือของตระกูลมี 4 พี่น้องทำหน้าที่เป็นประธานร่วม ซึ่งได้แก่ Srichand (“S.P.”) และ Gopichand (“G.P.”) ซึ่งอาศัยอยู่ที่ลอนดอน ส่วน Prakash (“P.P.”) อยู่ที่เจนีวา และ Ashok (“A.P.”) อยู่ที่อินเดีย 10. ตระกูล MISTRY 1.49 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย Shapoorji Pallonji Group กิจการรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของอินเดียกำลังฉลองครบรอบ 150 ปีของการก่อตั้งในปีนี้ โดย Pallonji Mistry เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 1865 โดยใช้ชื่อกิจการว่า Littlewood Pallonji & Co. Shapoorji ลูกชายของเขาเลิกเรียนหนังสือกลางครันเพื่อมาช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัว และได้เข้าซื้อหุ้นส่วนน้อยใน Tata Sons เป็นบริษัทในเครือ Tata Group ซึ่งยังคงเป็นแหล่งสร้างความมั่งคั่งที่สำคัญของตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเข้ามาบริหารธุรกิจ Pallonji ซึ่งตั้งชื่อตามปู่ของเขา ก็สามารถคว้างานใหญ่ในอินเดียและตะวันออกกลางมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ Muscat ซึ่งบริษัทของเขาได้งานก่อสร้างวังให้กับสุลต่านของโอมาน ในปี 2012 เขาได้ส่งไม้ต่อไปให้กับ Shapoor ลูกชายของเขา ในขณะที่ Cyrus ลูกชายคนรองรับตำแหน่งเป็นประธานของ Tata Group




คลิ๊กอ่าน "สืบสายสืบทรัพย์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine