เมี่อ 5 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยตัดสินใจเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 12 สัญญาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นทอง
ผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากถึง 20 ราย บวกกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์อยู่แต่เดิมอีก 6 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 2 รายเป็นกิจการของรัฐ แข่งขันกันประมูลใบอนุญาตดังกล่าว เนื่องจากหมายตางบโฆษณาทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นเม็ดเงินมากกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี รัฐบาลตั้งเป้าจะกุมขุมทรัพย์มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญนี้ไว้ในกำมือ โดยที่บางสัญญามีผู้ประมูลให้ราคาประมูลสูงสุดถึง 100 ล้านเหรียญต่อสัญญาซึ่งจะต้องแบ่งชำระภายใน 6 ปีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่สวยหรูดังเช่นที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ในตอนแรก ปัจจุบันธุรกิจโทรทัศน์อยู่ในภาวะซบเซา ผู้เล่นบางรายต้องดิ้นรนเพื่อหนีตาย รายได้จากค่าโฆษณาทางโทรทัศน์ต่อปีลดลง 6% เหลือ 3.2 พันล้านเหรียญในปี 2017 นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์สื่อประจำบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงกล่าวว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2016 ทำให้คนไทยทั้งประเทศตกอยู่ในภาวะเศร้าโศกตลอดทั้งปี รวมถึงส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในการแย่งชิงรายได้โฆษณายิ่งทำให้ภาระของผู้ประกอบการโทรทัศน์มีมากขึ้นนอกเหนือไปจากการที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในปัจจุบันจำเป็นต้องแข่งขันกับหน้าจอใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงสื่อทางเลือกออนไลน์อย่าง YouTube และ Facebook จำนวนผู้ชมโทรทัศน์รวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 33.3 ล้านคน และทุกวันนี้ความนิยมในการรับชมก็กระจัดกระจาย เนื่องจากผู้ชมเปลี่ยนจากการรับชมโทรทัศน์ไปเป็นการเสพสื่อบนแท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือแทน โอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการบริษัทจัดอันดับเครดิต Fitch ประจำประเทศไทยคาดการณ์ว่า การแข่งขันจะยังคงเป็นตัวฉุดกระแสเงินสดของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ในปี 2018 โอบบุญกล่าวว่าผู้ประกอบการถูกบังคับให้ใช้งบประมาณมากขึ้นสำหรับการจัดหาคอนเทนต์เพื่อดึงดูดผู้รับชม บรรดาผู้ดำเนินกิจการโทรทัศน์โน้มน้าวให้รัฐบาลอนุญาตให้พักชำระค่าธรรมเนียมจากการประมูลซึ่งถึงกำหนดชำระเป็นการชั่วคราว หรืออนุญาตให้ยืดระยะเวลาการชำระเงินออกไปอีก 3 ปี ความยากลำบากต่างๆ สะท้อนให้เห็นจากมูลค่าทรัพย์สินของผู้ทรงอิทธิพลในวงการสื่อที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดทั้งสามคนดังต่อไปนี้ วิชัย มาลีนนท์ เจ้าพ่อจอแก้วผู้มั่งคั่งซึ่งเป็นบุคคลที่อายุมากที่สุดในทำเนียบ 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด มีทรัพย์สินลดลงกว่าครึ่งนับจากปี 2013 ซึ่งในขณะนั้นเขามีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) อาณาจักรธุรกิจสื่อของวิชัยซึ่งปัจจุบันบริหารงานโดยบุตรชายคนรองอย่างประชุม ได้ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไปในราคา 106 ล้านเหรียญ (3,530 ล้านบาท) ซึ่งเป็นราคาประมูลที่สูงที่สุดถึงแม้ว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่บริหารงานโดยบีอีซี เวิลด์ยังคงครองอันดับดีที่สุดจากโทรทัศน์ทั้งสามช่อง แต่ราคาหุ้นของบริษัทก็ปรับลดลงมากถึง 85% นับจากช่วงที่ราคาพุ่งสูงที่สุดในปี 2013 บีอีซี เวิลด์ได้รายงานผลกำไรสุทธิของบริษัทที่ลดลงถึง 95% โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.9 ล้านเหรียญในปี 2017 เจ้าแม่ในวงการสื่ออย่าง ประณีตศิลป์ วัชรพล ผู้บริหาร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงกว่า 1 ใน 3 นับตั้งแต่กระโจนลงสมรภูมิทีวีดิจิทัล ช่องข่าวไทยรัฐทีวีซึ่งมีหลานชายอย่างวัชรเป็นผู้บริหารติดอันดับที่ 9 ในปี 2017 ตกลงมา 1 อันดับจากปีก่อน มีรายงานว่าไทยรัฐซึ่งเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เลิกจ้างพนักงานไปหลายครั้งแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ กฤตย์ รัตนรักษ์ ชายผู้รักความสันโดษและเป็นผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ประสบปัญหาตัวเลขผลประกอบการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่ตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งๆ ที่ช่อง 7 เป็นผู้นำตลาดในธุรกิจโทรทัศน์ ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เรามีข้อมูลผลประกอบการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 อยู่ รายได้ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ลดลง 20% โดยมีผลกำไรสุทธิลดลงกว่า 40% มูลค่าทรัพย์สินของกฤตย์ก็ปรับลดลงเหลือ 3.7 พันล้านเหรียญ จาก 5.1 พันล้านเหรียญในปี 2014 เรื่อง: Megha Bahree เรียบเรียง: ริศา ภาพเปิด: Bangkok Postคลิกอ่านฉบับเต็ม "การจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2561" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤษภาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine