การปราบปรามกวดวิชาของจีนทำให้มหาเศรษฐีด้านการศึกษามีทรัพย์สินลดลง - Forbes Thailand

การปราบปรามกวดวิชาของจีนทำให้มหาเศรษฐีด้านการศึกษามีทรัพย์สินลดลง

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jul 2021 | 06:30 PM
READ 3088

ทางการจีนได้เพิ่มการปราบปรามบริษัทกวดวิชาโดยออกกฎข้อบังคับชุดใหม่ที่ห้ามบริษัทเหล่านี้ไม่ให้ทำกำไรและระดมทุนจากตลาดต่างประเทศ

ทางการจีน
Michael Yu (ซ้าย) ประธาน New Oriental Education & Technology Group และ Zhang Bangxin (ขวา) ประธาน TAL Education Group
หลังจากที่สภาแห่งรัฐของจีนเผยแพร่กฎระเบียบใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า บริษัทกวดวิชาที่สอนวิชาในโรงเรียนต้องลงทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และห้ามไม่ให้ระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศหรือสาธารณชน ได้ส่งผลให้หุ้นของบริษัทการศึกษาของจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจะหยุดอนุมัติบริษัทกวดวิชาใหม่ที่ต้องการสอนหลักสูตรของโรงเรียนในจีน และกำหนดให้บริษัทเดิมต้องผ่านการพิจารณาด้านกฎระเบียบและขอใบอนุญาต หากบริษัทใดที่พบว่ามีการละเมิดจะต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องหรือกำจัดให้สิ้นซากตามกฎโดยไม่ต้องให้รายละเอียดเพิ่มเติม กระทรวงศึกษาธิการระบุบนเว็บไซต์ว่า “อุตสาหกรรมกวดวิชาหลังเลิกเรียนกลายเป็นสนามแข่งขันของกลุ่มนายทุน” และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสิ่งนี้นำไปสู่สงครามการเผาเงินและการโฆษณาที่มากเกินไป “[สิ่งนี้] ขัดต่อธรรมชาติของการศึกษาในฐานะสวัสดิการ และเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศการศึกษาตามปกติ” จากข่าวลือเรื่องการปราบปรามด้านกฎระเบียบได้ผลกระทบไปยังภาคการศึกษาของจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เห็นได้จากหุ้นของบริษัทการศึกษาจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ 3 แห่ง ได้แก่ Gaotu Techedu (เดิมชื่อ GSX Techedu), New Oriental Education & Technology และ TAL Education Group ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ในวันศุกร์ หลังจากมีประกาศเผยแพร่ออกมา ด้าน Larry Chen ผู้ก่อตั้ง Gaotu มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.02 หมื่นล้านเหรียญ ในการจัดอันดับรายชื่อมหาเศรษฐีของโลกในเดือนเมษายน 2021 แต่วันนี้เขากลับไม่ปรากฎรายชื่อในการจัดอันดับด้วยซ้ำ เพราะความมั่งคั่งของเขาเหลืออยู่ประมาณ 390 ล้านเหรียญ  ขณะที่คู่แข่งในอุตสาหกรรมอย่าง Michael Yu จาก New Oriental และ Zhang Bangxin จาก TAL Education ดูเหมือนจะใกล้จะออกจากทำเนียบมหาเศรษฐีเช่นกัน โดยความมั่งคั่งของ Yu ลดลงร้อยละ 70 ตั้งแต่เดือนเมษายน จนมีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญ ในขณะที่ Zhang ลดลงเกือบร้อยละ 90 มาอยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับประเด็นนี้ ทั้ง 3 บริษัทให้คำมั่นว่าจะแสวงหาคำแนะนำจากรัฐบาลในเชิงรุก และปฏิบัติตามกฎใหม่ พวกเขายังเตือนถึง “ผลกระทบด้านวัตถุ” ที่กฎระเบียบจะมีต่อบริการกวดวิชาหลังเลิกเรียน พร้อมยืนยันว่าจะประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ก่อนหน้านี้ หุ้นของบริษัทกวดวิชาของจีนได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดตัวลง และผลักดันให้นักเรียนออนไลน์ จนส่งผลให้บริษัทการศึกษาออนไลน์สามารถระดมทุนได้รวมกัน 1.034 แสนล้านหยวน (1.6 หมื่นล้านเหรียญ) ในปีที่แล้วจากนักลงทุนรายใหญ่ เช่น SoftBank, Temasek และ DST Global เพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 2.573 แสนล้านหยวนในปี 2020 จากการรายงานของ iResearch บริษัทที่ปรึกษาในกรุงปักกิ่ง แต่เมื่อเข้าสู่ปีนี้ การร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาชี้ชวน ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเรียกเก็บเงินค่าปรับหลายล้านเหรียญ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังกังวลด้วยว่า บริการสอนพิเศษที่มากเกินไปทำให้การเงินของพ่อแม่ชาวจีนตึงเครียดในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการเพิ่มอัตราการเกิดโดยอนุญาตให้คู่สมรสมีลูก 3 คน "กฎเกณฑ์ที่รุนแรงดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อเร็วๆ นี้” Guo Jingwen นักวิเคราะห์จาก Blue Lotus Capital Advisors บริษัทวิจัยที่เซินเจิ้นกล่าว “เมื่อดูในญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ การสูญเสียประชากรเป็นโอกาสที่เลวร้ายสำหรับจีน” แปลและเรียบเรียงจากบทความ China’s Tutoring Crackdown Sends Fortunes Of Education Billionaires Into Nosedive โดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: ทิศทางของ Bukalapak ใน ‘สงครามอี-คอมเมิร์ซ’ อินโดนีเซีย