H&M, Nike เผชิญกระแสต่อต้านในจีน หลังแสดงความเห็นประเด็นสิทธิมนุษยชน - Forbes Thailand

H&M, Nike เผชิญกระแสต่อต้านในจีน หลังแสดงความเห็นประเด็นสิทธิมนุษยชน

H&M, Nike และแบรนด์ตะวันตกอื่นๆ เผชิญกระแสต่อต้านในจีนอย่างรุนแรง หลังสื่อท้องถิ่นเปิดเผยคำแถลงการณ์ของบริษัทเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานการบังคับใช้แรงงานในมณฑล Xinjiang พร้อมประกาศว่าจะเลิกสั่งซื้อฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

H&M Nike

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สำนักข่าว People’s Daily ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการจีนได้ออกมาเปิดเผยผ่านทางโซเชียลมีเดีย ถึงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของ Nike, New Balance, Adidas และแบรนด์หรูสัญชาติอังกฤษอย่าง Burberry ในประเด็นการเลิกสั่งซื้อฝ้ายจาก Xinjiang

พร้อมระบุว่า เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา H&M แบรนด์แฟชั่นจากสวีเดน ได้ออกมาประกาศว่า จะไม่ดำเนินธุรกิจร่วมกับโรงงานผลิตผ้าไม่ว่าแห่งใดๆ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว

ด้านกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์กล่าวว่า H&M เลือกที่จะเชื่อคำโกหกของคนหมู่น้อยมากกว่าการรับฟังเสียงของประชาชนชาวจีนกว่าพันราย

ไม่เพียงเท่านี้ ชาวจีนจำนวนมากบนโลกออนไลน์ยังได้แสดงความคิดเห็นบน Weibo ซึ่งเทียบเท่ากับ Twitter ของจีนว่าตลาดจีนไม่ต้อนรับบุคคลอันตรายที่แทงข้างหลัง

ล่าสุด พบว่ามีแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนอย่าง JD.com, Pinduoduo, และ Taobao ได้เลิกจำหน่ายสินค้าของ H&M เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ Huang Xuan นักแสดงชื่อดังได้ออกมาประกาศยกเลิกสัญญากับ H&M พร้อมระบุว่าตนต่อต้านข่าวลือที่พยายามจะทำให้จีนเสียเกียรติยศ ขณะที่ Jackson Yee ศิลปินขาวจีนก็ได้ออกมายกเลิกสัญญากับ Adidas ในเวลาต่อมา

ในที่นี้ จากการรายงานของ Forbes พบว่าสินค้าของ Nike, Adidas และแบรนด์อื่นๆ ที่ได้รับการกล่าวถึงโดย People’s Daily ยังคงวางจำหน่ายทางออนไลน์ในจีน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าในอนาคตจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับ H&M หรือไม่

ทั้งนี้ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ Better Cotton Initiative (BCI) โครงการเพื่อความยั่งยืนที่อยู่ภายใต้การบริหารของ World Wildlife Fund for Nature (WWF) ซึ่งมี Nike, Adidas และ Burberry เป็นสมาชิก ได้ออกมาประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า จะยกเลิกการสั่งซื้อฝ้ายที่ผลิตในมณฑล Xinjiang ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และต่อมาในเดือนตุลาคมก็ได้ยุติการลงพื้นที่ในเขตปกครองดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการประกาศข้างต้นนี้จะถูกลบออกจากหน้าเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศตะวันตก อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหภาพยุโรป ได้ออกมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และหน่วยงานจีน โดยเชื่อว่ามีส่วนพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมุสลิมอุยกูร์ในค่ายแรงงาน Xinjiang ด้วยการทรมาน บังคับใช้แรงงาน และการล่วงละเมิดทางเพศ จากการรายงานของเอกสารที่รั่วไหลและภาพถ่ายทางดาวเทียม

ด้านทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และตอบโต้ด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรประเทศตะวันตก พร้อมยืนยันว่า ค่ายแรงงานดังกล่าวได้ได้ถูกปรับโครงสร้างเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้การต่อต้านการก่อการร้าย

ขณะที่สื่อท้องถิ่นหลากหลายสำนักของรัฐได้ออกมาเผยแพร่บทความและวิดีโอ เพื่อแสดงให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ใน Xinjiang ที่ปรากฎภาพของเครื่องจักรอัตโนมัติและบทสัมภาษณ์ของชาวอุยกูร์ที่ระบุว่า "พวกเขาต่อสู้เพื่อที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ ทั้งยังได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูง"

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Chinese State Media Fuels Backlash Against Nike, H&M And Others Over Xinjiang ‘Forced Labor’ Statements เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: รัฐบาลทหารเมียนมาปิด Facebook ชั่วคราว อ้างก่อให้เกิดความไม่มั่งคง