แม้ ทิฟฟี่ ซาร่า แอนตาซิล จะพาไทยนครพัฒนาฝ่าด่านคู่แข่งนับร้อยเข้ายึดหัวหาดตลาดยาในประเทศเพื่อนบ้านได้สำเร็จ ทว่า สุภชัย วีระภุชงค์ ไม่หยุดนิ่ง พร้อมเร่งสร้างฐานที่มั่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ตลอด 20 ปีมานี้ กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม หรือกลุ่มประเทศ CLMV ได้กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ของ
สุภชัย วีระภุชงค์ วัย 54 ปี รองกรรมการผู้จัดการ
บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ไปเสียแล้ว
แม้แต่ในวันที่ Forbes Thailand นัดพบเขาในช่วงบ่ายที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทย่านงามวงศ์วาน เย็นวันนั้น สุภชัย ยังต้องเดินทางไปกรุง Phnom Penh ประเทศกัมพูชา เพื่อดูแลธุรกิจที่ไทยนครพัฒนาเข้าไปลงทุน
กว่าไทยนครพัฒนาจะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจยาแถวหน้าของเมืองไทย มีรายได้รวมในช่วง 3 ปีหลังเฉลี่ยราว 2 พันล้านบาทต่อปี และมีกำไรไม่ต่ำกว่าปีละ 230 ล้านบาท ต้องอาศัยความมุมานะ ความทุ่มเทและอดทน รวมถึงสายสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในแวดวงต่างๆ อยู่ไม่น้อยวินัย
โดยมี วินัยผู้เป็นพ่อของสุภชัย คือผู้เริ่มต้นเขียนประวัติให้ไทยนครพัฒนา หลังจากแยกตัวจากญาติ ในปี 2522 ทุกวันนี้ ในวัย 81 ปี วินัยยังให้คำแนะนำทางธุรกิจแก่ลูกๆ ทั้ง 4 คน คือ
สุภชัย ทิพย์วรรณ วโรดม และ
วราภรณ์ ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการบริหาร ทุกคนมีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ วางกลยุทธ์ในส่วนงานแตกต่างกันไป
ปัจจุบัน ไทยนครพัฒนาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและการปฏิบัติงาน GMP และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GMP-PIC/S ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ผลิตทั้งยาเม็ด ยาน้ำ ยาครีม ฯลฯ มีแบรนด์ซึ่งคุ้นหูคุ้นตาคนไทย เช่น ทิฟฟี่ บรรเทาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ซาร่า ยาลดไข้บรรเทาปวด แอนตาซิล ช่วยลดกรด เคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เบนด้า 500
ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยถ่ายพยาธิ ไดฟีลีน ช่วยบรรเทาอาการปวด นีโอติก้าบาล์มใช้ทาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
“ถ้าให้บอกว่ายาแต่ละแบรนด์มีสัดส่วนการผลิตหรือจำหน่ายกี่เปอร์เซนต์ก็ตอบยาก เพราะไทยนครฯ ผลิตยาที่เป็นแบรนด์ของเราเองเป็นร้อยชนิด” สุภชัย หรือที่ผู้คนรอบตัวเรียกขานเขาว่า “อ๊อด ทิฟฟี่” เอ่ยพร้อมรอยยิ้มชิงส่วนแบ่งตลาดยาเมืองไทยแสนล้าน
โดยท่ามกลางบริษัทยาข้ามชาติระดับโลกที่กระโจนลงสมรภูมิในไทยและบริษัทยาสัญชาติไทยอีกจำนวนมาก ไทยนครพัฒนาเลือกรักษาความแข็งแกร่งของบริษัทไว้ นั่น คือ ผลิตยาพื้นฐานที่ใช้รักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในชีวิตประจำวัน เช่น ปวด ศีรษะ เป็นไข้ เป็นหวัด ปวดท้อง ฯลฯ ยา ของไทยนครพัฒนาจึงเป็นยาในกลุ่ม OTC (over-the-counter drugs) ที่ร้านขายยาสามารถขายให้ผู้ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากการวินิจฉัยของแพทย์
การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจ ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่ยาหลายตัวของไทยนครพัฒนาจะมีคู่แข่งในตลาด อย่าง ‘ทิฟฟี่’ มี ‘ดีคอลเจน’(บริษัท ยูนิแล็บ ฟาร์มาซูติคอลส์ จำกัด) และ ‘ซาร่า’ มี ‘ไทลินอล’ (บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นคู่ท้าชิงที่สูสีกลยุทธ์ของบริษัทจึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์สินค้าให้เป็นที่จดจำ
เช่น ใช้สี หรือใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นนักร้องนักแสดงชื่อดังพร้อมลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงลูกค้าและกระชับสัมพันธ์กับคู่ค้าทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งสุภชัยบอกว่า มีจุดเด่นอยู่ที่การปรับปรุงรสชาติ ไม่ใส่แอลกอฮอล์และน้ำตาล พัฒนายาให้มีผลข้างเคียงต่ำและซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้เร็ว
“ถ้าคุณภาพของยาไม่ดี โปรโมทสินค้าไปก็ไม่ได้ผล ถือเป็นการทำลายตัวเอง เวลาผมป่วย ถ้าเป็นโรคที่เราผลิตยาขึ้นมาได้ผมและครอบครัวก็จะกินยาที่ผลิตเอง”
แม้สุภชัยจะขอไม่พูดถึงรายได้ของบริษัทไม่ว่าจะในไทยหรืออาเซียน แต่สิ่งที่เขากล่าวก็ทำให้สัมผัสได้ถึงสถานะการเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดยาไทยของไทยนครพัฒนา ฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่ารายได้รวมของไทยนครพัฒนา ระหว่างปี 2556-2558 อยู่ที่ราว 2.01 พันล้านบาท 2.08 พันล้านบาท และ 2.05 พันล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 306 ล้านบาท 245 ล้านบาท และ 231 ล้านบาท ตามลำดับ
ครองใจตลาดยา CLMV
“รุ่นเก่าจะมีหลักของการสร้างสัมพันธ์เยอะมาก กระทั่งการจอดรถ ไปจอดหน้าร้านไม่ได้ ต้องจอดห่างๆ แล้วเดินมาจอดหน้าร้านไปบังร้าน เสียฮวงจุ้ยร้านเขาอีกจุดหนึ่งคือเซลส์บางคนขับรถเก๋งไปแต่ลูกค้าบางคนยังไม่มีรถเก๋งขับเลย ถามความรู้สึกว่าลูกค้ายังอยากซื้อยาหรือเปล่า”
สุภชัยเล่าถึงเคล็ดลับที่เขาได้เรียนรู้มาหลังจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจจาก Southeastern University สหรัฐอเมริกา สุภชัยซึ่งเป็นลูกชายคนโตก็เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว
“เราเข้าไปทำตลาดยาในประเทศเพื่อนบ้านเอง 100% และถ้าเป็นการส่งออก เราก็ไปตั้งสาขาที่นั่น หมายความว่าเราต้องมีความพร้อมทั้งในแง่ทุน บุคลากร การทำตลาด ทีมขาย ทีมกฎหมาย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน” สุภชัยเล่า
ตลาดยาในประเทศเพื่อนบ้านยังสดใสเพราะภาพรวมเติบโต 6-8% ต่อปี ส่วนยอดขายของไทยนครพัฒนาในกลุ่ม CLMV เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการจำหน่ายยาใน 4 ประเทศเหล่านี้ก็ยังน้อยกว่าในไทย ความมุ่งหมายของสุภชัยคือการครองใจตลาดให้แน่นขึ้นไปอีก
ปั้นพอร์ทโรงแรมหรู
บทบาทอีกด้านของสุภชัยคือกรรมการผู้จัดการ
บริษัท โภคีธรา รีสอร์ท แอนด์ สปา จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงแรมหรูภายใต้แบรนด์
“โภคีธรา” มีความหมายว่าแผ่นดินอันร่มเย็นของพญานาค สุภชัยย้อนความเป็นมาว่า ราวปี 2534 เขาและวินัยได้พบ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นกัมพูชาต้องการนักลงทุนจากต่างประเทศ
จึงอยากให้ไทยนครพัฒนาเข้าไปลงทุนทำโรงแรม โดยกระทรวงกลาโหมเสนอที่ดินราว 50 ไร่ กลางกรุง Phnom Penh ให้เช่า วินัยซึ่งเคยร่วมหุ้นกับเพื่อนสร้างโรงแรมโนราห์ ที่หาดใหญ่ จ. สงขลา ในปี 2519 มาแล้วจึงตัดสินใจสร้างโรงแรม
Royal Phnom Penh ขึ้น
และเปิดให้บริการในปี 2535 กลุ่มผู้เข้าพักไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ เอ็นจีโอ และนักธุรกิจ
อีก 8 ปีต่อมา เขาก็สร้าง
Sofitel Angkor Phokeethra Golf & Spa Resort เป็นโรงแรมหรูแห่งแรกๆ ในจังหวัด Siem Reap รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมความยิ่งใหญ่ของนครวัดซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมไปไม่กี่กิโลเมตร ความยากคือการนำเข้าวัสดุและเครื่องมือก่อสร้างโรงแรมเกือบทั้งหมดผ่านชายแดนไทย ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างพุ่งขึ้นไม่น้อย
แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็ปะทุขึ้นในปี 2546 เมื่อความคลาดเคลื่อนด้านข้อมูลข่าวสารกระทบสัมพันธ์กัมพูชา-ไทยลุกลามถึงขั้นเผาสถานทูตไทย โรงแรม Royal Phnom Penh ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ถูกเผาเสียหายทั้งหมด แต่สองพ่อลูกไม่ท้อปีต่อมาพวกเขาพลิกวิกฤตเป็นโอกาสสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลกัมพูชา สร้างสนามกอล์ฟ Phokeethra Country Club บนเนื้อที่ราว 700 ไร่ ใน Siem Reap แล้ว จัดกอล์ฟรายการใหญ่ในปี 2550-2552 ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้กัมพูชา
จากนั้นก็สร้าง Sofitel Phnom Penh Phokeethra ขึ้นบนพื้นที่เดิมของโรงแรมที่ถูกเผา และเปิดในปี 2554 มีกลุ่มลูกค้าหลักจากสถานทูตต่างๆ หน่วยงานรัฐและกลุ่มธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% “เฉพาะโรงแรม 2 แห่งในกัมพูชาก็ลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาทแล้วครับ” เขาบอก
ทั้งนี้ วินัยและสุภชัยยังรุกโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวของไทย ด้วยการสร้าง
โซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท ตั้งอยู่บนหาดคลองม่วง จ. กระบี่ เปิดในปี 2549 มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวเกือบ100% และล่าสุดคือ โนโวเทล ภูเก็ต โภคีธรา ใน อ. เมือง จ. ภูเก็ต เปิดให้บริการไปเมื่อเดือนกันยายนนี้ เน้นตลาดประชุมสัมมนาและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยนครพัฒนายังขยับเข้าสู่ธุรกิจสื่อในปี 2539
โดยได้รับสัมปทานจากกระทรวงกลาโหมให้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 กัมพูชา เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งมีกลุ่มกันตนาร่วมทุน ในอนาคตข้างหน้า สุภชัยยังจะปักหลักทำธุรกิจในอาเซียนอย่างแข็งขัน เพราะโอกาสยังต้อนรับเขาอีกมาก
“การทำธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะเป็นการทำธุรกิจที่ง่ายที่สุดแล้ว” เขาปิดท้าย