"เวียดเจ็ทแอร์" เหินฟ้าจาก “บิกินี่” สู่ “คอนซูเมอร์แอร์ไลน์” - Forbes Thailand

"เวียดเจ็ทแอร์" เหินฟ้าจาก “บิกินี่” สู่ “คอนซูเมอร์แอร์ไลน์”

Nguyen Thi Phuong Thao มหาเศรษฐีหญิงระดับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ คนแรกของเวียดนาม ผู้ก่อตั้ง "เวียดเจ็ทแอร์" ตั้งใจใช้ประโยชน์จากความเป็น conglomerate อันหลากหลายของเธอ ผสานกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่คู่แข่งยากจะทำได้เหมือน

เส้นทางการเติบโตของ Nguyen Thi Phuong Thao หรือมาดามเถาผู้เป็น “selfmade billionaire” เศรษฐีสุภาพสตรีคนแรกแห่งเวียดนามนั้นมาจากการคิดต่างและคิดใหญ่

เห็นได้ชัดจากการเปิดตัวเวียดเจ็ทแอร์ในฐานะสายการบินเอกชนแห่งแรกของเวียดนามเมื่อเดือนธันวาคม 2011 ที่เธอสร้างความฮือฮาเป็นกระแสให้คนทั่วโลกรู้จักสายการบินเล็กๆ แห่งนี้จากกลเม็ดการตลาดในการให้แอร์โฮสเตสสวมใส่ชุดบิกินี่

แม้ว่าจะได้รับก้อนอิฐไปเต็มๆ จากผลงานการตลาดชิ้นนี้ Thao ก็ได้พิสูจน์ฝีมือให้โลกเห็นว่าเธอไม่ได้เป็นแค่เพียงนักสร้างกิมมิกทางการตลาด แต่สามารถสร้างการเติบโตที่น่าประทับใจให้กับสายการบิน

เวียดเจ็ทแอร์ใช้เวลาเพียง 4 ปีในการก้าวจากศูนย์ขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับ 1 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดแซงหน้า เวียดนามแอร์ไลน์ สายการบินของรัฐ และนำเวียดเจ็ทเข้าตลาดหลักทรัพย์ Ho Chi Minh เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017

 

คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก

จากประวัติของเธอที่มีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ Thao ซึ่งปัจจุบันอายุ 49 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและเอกจากรัสเซีย เริ่มทำเงินล้าน (เหรียญสหรัฐฯ) ได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี จากการขายเครื่องแฟกซ์และน้ำยางพารา

เธอเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 โดยการซื้อสินค้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ในสำนักงานและสินค้าอุปโภคบริโภคจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ไปขายในรัสเซีย และยุโรปตะวันออก

จากนั้นเธอเดินทางกลับบ้านเกิด และได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารเอกชนแห่งแรกของเวียดนามที่มีอายุน้อยที่สุด ในขณะที่เธออายุเพียง 20 กว่าๆ ก่อนที่จะขยายตัวมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายการบิน และอื่นๆ ในเวลาต่อมา

การก่อตั้งเวียดเจ็ทแอร์ของเธอนั้น เริ่มจากความฝันที่ต้องการเปิดโอกาสให้ ชาวนาบินได้เพราะในขณะที่ Thao เริ่มคิดถึงแผนการเปิดตัวสายการบินเอกชนแห่งแรกของเวียดนาม คนเวียดนามจำนวนน้อยมากคือไม่ถึง 1% ที่เป็นผู้โดยสารสายการบินในขณะนั้น

นอกจากนี้สายการบินของเธอจะต้องเข้ามาทลายการผูกขาดของ เวียดนามแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ

จากรายงานบนเว็บไซต์ของ Center for Aviation (CAPA) เวียดเจ็ทต้องเลื่อนการเปิดดำเนินการหลายครั้ง และต้องเปลี่ยนแผนการเดิมที่จะใช้แบรนด์ของแอร์เอเชีย มาใช้แบรนด์ของตัวเองหลังจากได้รับการปฏิเสธคำขออนุมัติใบอนุญาตจากทางการ เบ็ดเสร็จแล้ว Thao ใช้เวลาอีก 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐในการเตรียมการก่อนที่จะเริ่มบินไฟล์ตแรกได้เมื่อตอนเกือบจะสิ้นปี 2011

 
View this post on Instagram
 

A post shared by Forbes Thailand Magazine (@forbesthailand) on

...waiting for Gist...

จากรายงานผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2018 ของเวียดเจ็ทที่นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ Ho Chi Minh ซึ่งอ้างตัวเลขสถิติจาก CAPA เวียดเจ็ทมีส่วนแบ่งการตลาด 45% 27 สิงหาคม 2018 นำหน้าเวียดนามแอร์ไลน์ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 38% และ Jetstar Pacific ที่มีส่วนแบ่ง 15%

อย่างไรก็ตาม Thao มักจะพูดในการให้สัมภาษณ์ในเวทีต่างๆ เสมอว่าเวียดเจ็ทซึ่งเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ไม่ได้เข้ามาแย่งเค้กจากเวียดนามแอร์ไลน์ แต่เติบโตจากการสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้ตลาด โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินเป็นครั้งแรก

 

ตั้งเป้าโตกว่า 7 เท่าตัว ใน 7 ปี

Thao มองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนามกำลังอยู่ในยุคบูมโดยมีการลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น ที่ Phu Quoc ซึ่งมีการเปิดห้องโรงแรมใหม่จำนวนถึง 20,000 ห้อง ซึ่งเวียดเจ็ทภูมิใจที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนาม โดยเป็นสายการบินที่ร่วมบินในไฟล์ตปฐมฤกษ์ของสนามบินที่มีการเปิดใหม่หลายแห่ง เช่นที่ Phu Quoc, Nha Trang, Da Nang, Thanh Hoa ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามนอกจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สูงแล้ว เวียดนามยังมีข้อได้เปรียบจากการที่อุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีอัตราส่วนของจำนวนเครื่องบินต่อจำนวนประชากรต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลกที่ 1.7 ลำต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับสิงคโปร์ 38.8 ลำต่อ 1 ล้านคน และไทย 4.7 ลำต่อ 1 ล้านคน

นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศของเวียดนามยังทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินได้เปรียบการเดินทางประเภทอื่นๆ โดยขณะที่การบินจาก Hanoi ไป Ho Chi Minhใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง การเดินทางด้วยรถโดยสารและรถไฟปัจจุบันจะใช้เวลาถึง 34-35 ชั่วโมง

มองไปอนาคต Thao บอกว่ารายได้ของเวียดเจ็ทจะมีการเติบโตตามจำนวนฝูงบินที่ขยายเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากบริษัทตั้งเป้าตัวเลขรายรับต่อจำนวนเครื่องบินแต่ละลำไว้ ซึ่งจากรายงานนำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เวียดเจ็ทมียอดสั่งซื้อเครื่องบินนับจากปัจจุบันถึงสิ้นปี 2025 มากถึง 371 ลำ ประกอบด้วยแอร์บัส A320/321 จำนวน 171 ลำ และโบอิ้ง 737MAX 200 จำนวน 200 ลำ ซึ่งนั่นหมายถึงเวียดเจ็ทเล็งการเติบโตไว้ไม่ต่ำกว่า 7 เท่าตัว จากปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินรวม 57 ลำ

 

รุกโมเดลใหม่ “Consumer Airlines”

อีกด้านหนึ่งของเวียดเจ็ท บริษัทกำลังแสวงหาบิสิเนสโมเดลใหม่ในการเพิ่มรายได้จากสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ตั๋วโดยสารที่ Thao เรียกว่า “Consumer Airlines” โดยจะใช้แพลตฟอร์มของเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบข้อมูลบน iCloud เพื่อเชื่อมโยงสินค้า บริการ และรอยัลตี้โปรแกรมของเวียดเจ็ท บริษัทในเครือ และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ กับระบบนิเวศของผู้บริโภค เช่น การปล่อยสินเชื่อ

ก่อนหน้านี้ Thao สร้างความมั่งคั่งของเธอส่วนใหญ่จากการถือหุ้น Sovico Holdings ซึ่งมี เวียดเจ็ท HDBank และธุรกิจอื่นๆ ในเครือ รวมกว่า 20 บริษัท อาทิ Phu Long Real Estate Corp และ Saigon Vi Na Land JSC โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และธุรกิจขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

ทำให้เธอได้รับการจัดอันดับโดย Forbes เป็น มหาเศรษฐีสตรีระดับพันล้านเหรียญที่สร้างตัวขึ้นมาด้วยตัวเอง (self-made billionaire) เพียงคนเดียวในอาเซียน ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 3.1 พันล้านเหรียญในปี 2018 และเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดอันดับ 2 ในเวียดนาม

 

ตั้งวิสัยทัศน์ขยายต่อไประดับโลก

Thao บอกว่าวิสัยทัศน์ของเวียดเจ็ทคือการก้าวต่อไปในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ผ่านการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเตรียมการไว้แล้วด้วยการจัดหานักบินจากประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบินของเวียดเจ็ทไปในประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากเส้นทางการบินระหว่างประเทศได้ขึ้นแซงหน้ารายได้จากการบินภายในประเทศแล้ว

จากรายงานข้อมูลนำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เวียดเจ็ททำการบินในเส้นทางทั้งหมด 103 เส้นทางในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018 ประกอบด้วยเส้นทางบินในประเทศ 39 เส้นทางและเส้นทางบินระหว่างประเทศ 64 เส้นทาง

สุดท้าย Thao ปฏิเสธที่จะเปิดเผยถึงความฝันใหญ่ในก้าวต่อไป เพียงแค่แย้มถึงเคล็ดลับในการทำความฝันของเธอให้เป็นจริง

ฉันผูกมัดตัวเองล่วงหน้าที่จะทำงานหนักขึ้นอีก 2-3 เท่า เมื่อเริ่มต้นความคิดใหม่ๆ เราต้องเริ่มต้นด้วยความฝัน แรงปรารถนา และเป้าหมาย และแน่นอนว่าเพื่อทั้งหมดนี้ เราต้องมีพาร์ทเนอร์ บริษัท และเราต้องรักพวกเขา รักบริษัทเหมือนลูกของเรา รักพาร์ทเนอร์ของเราเหมือนกับญาติ และต้องเข้าใจว่าตราบใดที่ทุกคนฝากอาชีพการงานและอนาคตไว้ที่นี่ มันเป็นความรับผิดชอบของทีมงานทั้งหมดที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จซีอีโอและผู้ก่อตั้งเวียดเจ็ทกล่าวสรุปด้วยสีหน้าขึงขังจริงจัง ที่มาพร้อมกับรอยยิ้มตามแบบฉบับของชาวเวียดนาม

 

ภาพ: กิตตินันท์ สังขนิยม และเวียดเจ็ทแอร์


คลิกอ่านฉบับเต็ม "เหินฟ้าจาก "บิกินี่" สู่ "คอนซูเมอร์แอร์ไลน์" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine