ศาศวัต ศิริสรรพ์ "สหกลอิควิปเมนท์" ผงาดงานเหมืองภูมิภาค - Forbes Thailand

ศาศวัต ศิริสรรพ์ "สหกลอิควิปเมนท์" ผงาดงานเหมืองภูมิภาค

มากกว่า 3 ทศวรรษของการบุกเบิกงานรับเหมาโครงการเหมืองแม่เมาะสร้างชื่อให้สหกลอิควิปเมนท์ เป็นที่รู้จักในอาเซียน สู่การขยายฐานธุรกิจเหมืองถ่านหินเมืองหงสา (Hongsa) พร้อมเดินหน้ารุกเหมืองดีบุกในเมียนมาคว้าโอกาสใน CLMV มั่นใจรายได้ 5 พันล้านใน 3 ปี

บริษัทเริ่มตั้งแต่สมัยคุณพ่อเป็นวิศวกรในช่วงปี 2513 ท่านเล็งเห็นโอกาสจากเมืองไทยขยายการสร้างถนน เราจึงเริ่มจากงานรับเหมาก่อสร้างถนนก่อน งานดินทั้งหลาย จนกระทั่งการไฟฟ้าขยายเหมืองแม่เมาะ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวและต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ขณะนั้นผมเรียนจบและช่วยงานคุณพ่อ โดยเริ่มจากเรียนรู้งานทุกแผนกทั้งออฟฟิศและปฏิบัติการ

ศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SQ) เล่าถึงก้าวแรกในธุรกิจของครอบครัวหลังสำเร็จการศึกษาวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MBA จาก Ohio University สหรัฐอเมริกา

นับจากสัญญาฉบับแรกในการเป็นผู้รับผิดชอบเปิดหน้าดิน ขุดขนดิน และถ่านหินให้เหมืองถ่านหินแม่เมาะ .ลำปาง ระหว่างปี 2526-2533 มูลค่าโครงการ 3.54 พันล้านบาท และโครงการที่ 2 ระหว่างปี 2533-2541 มูลค่าโครงการ 9.87 พันล้านบาท บริษัทพร้อมเดินหน้าธุรกิจด้านการให้บริการและดำเนินงานเหมืองแร่ครบวงจร ภายใต้ชื่อ บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด ในปี 2544

ช่วงเวลานั้นยังไม่มีผู้รับเหมาของไทยเคยทำเหมืองขนาดนี้...เราต้องสั่งเครื่องจักรจากต่างประเทศทั้งหมดและผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน... ซึ่งตั้งแต่ปี 2524 ที่เริ่มประมูลและเริ่มโครงการแรกปี 2526 แม่เมาะประมูลแล้ว 9 เฟส เรามีส่วนร่วมได้รับงานทั้งหมดมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละเฟสศาศวัตกล่าว

ศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SQ) วัย 55 ปี
ศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SQ) วัย 55 ปี

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ทำให้รับเหมาเหมืองถ่านหินได้เป็นระยะเวลายาวนาน ประกอบด้วย ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงาน โดยเฉพาะด้านการขุดและขนถ่านหินที่เป็นงานต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก รวมถึงความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรอุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการทำเหมืองแร่ที่ก้าวหน้า

เหล่านี้ทำให้สหกลอิควิปเมนท์เป็นผู้รับเหมาโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ตั้งแต่ปี 2526 และได้รับความไว้วางใจจากกฟผ. ในการทำเหมืองถ่านหินโดยตลอด ทั้งยังสามารถเข้าทำสัญญากับโครงการหงสา สปป.ลาว โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 1,878 เมกะวัตต์ นับเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทได้มีการร่วมลงทุน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในอัตรา 50% เท่ากันใน กิจการร่วมค้าไอทีดี-เอสคิว  และ กิจการร่วมค้าเอสคิว-ไอทีดี โดยเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดหน้าดิน ขุดขนดินและถ่านหินให้กับเหมืองถ่านหิน ที่ .แม่เมาะ .ลำปาง ซึ่งกฟผ. เป็นผู้ว่าจ้าง ในโครงการ 7 ระหว่าง

ปี 2551-2563 และโครงการ 7/1 ที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2558 ด้วยมูลค่าโครงการเท่ากับ 2.19 หมื่นล้านบาท และ 5.27 พันล้านบาท ตามลำดับ และโครงการ 8 ในโครงการเหมืองแม่เมาะ ซึ่งมีระยะเวลาตามสัญญาระหว่างปี 2559- 2568 รวมถึงการขยายฐานธุรกิจไปยัง สปป.ลาว และเมียนมา

 

เหมืองหงสา/ทวายเบิกทาง

ท่ามกลางการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ศาศวัตยังมองหาโอกาสกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท นอกเหนือจากเหมืองแม่เมาะที่เป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียว โดยให้ความสนใจเหมืองขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศกัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม (CLMV)

หนึ่งในความท้าทายของงานรับเหมาเหมืองที่ทำให้ SQ สามารถก้าวเป็นผู้นำทางธุรกิจได้แก่ การบริหารจัดการเครื่องจักรขนาดใหญ่ การดูแลรักษาและซ่อมบำรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เราสนใจลาวตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อนและเคยเข้ามาศึกษาลู่ทางธุรกิจไว้ในช่วงที่เขาไม่ได้เปิดมาก และเรายังไม่ได้พร้อมมาก กระทั่ง 5 ปีที่แล้ว ลาวเปิดโรงไฟฟ้าหงสาและต้องการใช้ถ่านหินจากเหมืองขนาดใหญ่เมืองหงสา โรงไฟฟ้าราชบุรีและบ้านปูเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานที่นั่น การที่เข้าไปทำและคุยกับคนไทยด้วยกันง่ายกว่า รวมถึงลาวยังมีแหล่งทรัพยากรอีกมาก ถ้าเราเข้าไปลงหลักปักฐานและสร้างผลงานให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า เราสามารถทำได้จริงศาศวัตกล่าวถึงการขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้านในปี 2557 เริ่มที่โครงการเหมืองหงสา สปป.ลาว ระหว่างปี 2558-2569 โดยร่วมงานขุดเหมืองกับบริษัทผลิตไฟฟ้า Hongsa Power Co., Ltd. (HPC)

นอกจากนั้น บริษัทยังดำเนินกลยุทธ์ขยายตลาดในภูมิภาค CLMV อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการเซ็นสัญญาจ้างเหมาผลิตแร่ดีบุกที่เหมืองดีบุก เมืองทวาย (Dawei) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ให้กับ บริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด มูลค่าสัญญา 3.67 พันล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี โดยมีปริมาณการผลิตแร่ดีบุกปีละประมาณ 2,100 ตัน

เมียนมามีแหล่งดีบุกบนดินที่ใหญ่มาก ทำมาเป็นร้อยปี แต่ระบบและเครื่องจักรค่อนข้างล้าสมัยและหยุดทำไปนานในช่วงที่ราคาดีบุกลดลง จนกระทั่งเริ่มมีประเด็นสิ่งแวดล้อมให้ใช้ดีบุกแทนตะกั่ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ดีบุกราคาขึ้น เขาจึงติดต่อเข้ามาหาเรา

ขณะที่ ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB-” จากการเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจบริการขุดขนดินและถ่านหิน รวมถึงกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากสัญญาจ้างงานระยะยาวกับเจ้าของงาน ซึ่งฐานะทางการเงินมีความน่าเชื่อถือสูง และมูลค่างานที่รอรับรู้รายได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตามจุดแข็งดังกล่าวได้รับการลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงการกระจุกตัวของธุรกิจที่รายได้และกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก

สำหรับมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบ เดือนมีนาคม 2561 มีจำนวนราว 3.43 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

  • โครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 (ช่วงปี 2555-2563) มูลค่า 849 ล้านบาท
  • โครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 (ช่วงปี 2559-2568) มูลค่า 2.02 หมื่นล้านบาท
  • โครงการเหมืองหงสาใน สปป.ลาว (ช่วงปี 2558-2569) มูลค่า 9.64 พันล้านบาท
  • โครงการเหมืองดีบุกในประเทศเมียนมา (ช่วงปี 2561-2567) มูลค่า 3.67 พันล้านบาท

โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์รายได้ของบริษัทในช่วงประมาณ 3.5-4 พันล้านบาทในปี 2561-2563

ส่วนเหตุการณ์ดินถล่มเมื่อปลายเดือนมีนาคมในพื้นที่ทิ้งดินของ กฟผ. ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโครงการเหมืองแม่เมาะระยะที่ 8 ที่ทำให้ระบบสายพานลำเลียงและเครื่องจักรบางส่วนได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานในโครงการสูงขึ้น โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายจาก กฟผ.

ช่วงนั้นเราต้องหยุดงานเกือบทั้งไตรมาส การเติบโตปีนี้จึงน่าจะเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 30% แต่ปีหน้ารายได้น่าจะเติบโตมากกว่า 30%” ศาศวัตเผย

ผู้บริหารวัย 55 ปีย้ำความมั่นใจการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายใน 3 ปีจากในปี 2560 ที่มีรายได้รวมจำนวน 3.19 พันล้านบาทและช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จำนวน 1.66 พันล้านบาท ภายใต้สินทรัพย์รวม 1.19 หมื่นล้านบาท พร้อมเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาเหมืองขนาดใหญ่ที่มีกระบวนการทำงานซับซ้อน ด้วยความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสม รวมถึงเงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสเกิดคู่แข่งรายใหม่ได้ยาก

ถ้าในด้านประสบการณ์เราเป็นอันดับ 1 แน่นอน เรามีการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นและผสมผสานการทำงานคนรุ่นใหม่กับพนักงานระดับท็อป 20-30 ปี รวมถึงเลือกเครื่องจักรที่เหมาะกับสภาพของงาน โดยในอนาคตเราต้องการเป็นเจ้าของเหมืองในภูมิภาคนี้ และรักษาความเป็นผู้นำเหมืองเปิด

 

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "ศาศวัต ศิริสรรพ์ SQ ผงาดงานเหมืองภูมิภาค" ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561