ธนากร วัฒนวิจารณ์ "SWC" จัดทัพแข่งแบรนด์โลก - Forbes Thailand

ธนากร วัฒนวิจารณ์ "SWC" จัดทัพแข่งแบรนด์โลก

ธนากร วัฒนวิจารณ์ นำทัพเชอร์วู้ดเปิดยุทธศาสตร์หมื่นล้านรีแบรนด์เชนไดร้ท์และทีโพล์ชิงส่วนแบ่งตลาดคนรุ่นใหม่ พร้อมรุกขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในกลุ่ม FMCG มั่นใจเทรนด์สุขภาพดันเครื่องดื่มสมุนไพรการันตี Healthier Choice ท้าชนข้ามพรมแดน ภายใต้แนวคิด Change to Win

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับแผนตั้งรับความเปลี่ยนแปลงจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันยังมีธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาสการปรับตัวสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยการเปลี่ยนแปลงและเสริมทัพแบรนด์พอร์ตโฟลิโอครบทั้งกลุ่ม non-food และ food เพื่อขยายน่านน้ำการแข่งขันสู่ระดับมหาสมุทรในฐานะโกลบอลแบรนด์ “ผมเข้ามาร่วมงานกับ SWC ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วพร้อมกับโควิด-19 จากประสบการณ์ทำงานกับ multi company และ Country Manager หลายประเทศ ทำให้ผมมั่นใจในโอกาสที่เล็งเห็นจากแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สามารถปรับองค์กรเป็น global ได้ผ่านการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน ซึ่งในปีที่ผ่านมาผมได้ปรับเปลี่ยนหลายอย่าง และเริ่มเห็นภาพมากขึ้นในช่วงต้นปีนี้ แม้จะมีโควิด-19 เราก็สามารถเติบโตได้ พร้อมกับปรับองค์กรให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น” ธนากร วัฒนวิจารณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SWC กล่าวถึงความมั่นใจในการปรับประสบการณ์ทำงานกับบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยและต่างประเทศกว่า 10 ปี ธนากรเริ่มต้นเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ ช่องทางการขายที่ครอบคลุมทุกช่องทางทั่วประเทศ การมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ และระบบการขายที่นำเทคโนโลยีมาใช้ ด้วยแนวคิด SWC Change to Win โดยปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
ธนากร วัฒนวิจารณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SWC
นอกจากนี้ ซีอีโอวัย 47 ปียังย้ำชัดถึงหัวใจสำคัญของ SWC ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ การดูแลให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากแมลงและสัตว์รบกวน (Safety) ความใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ (Wellness) รวมทั้งความใส่ใจในสุขอนามัยของทุกคนในบ้านและสัตว์เลี้ยง (Care) ส่งผลให้บริษัทมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้บริโภค รวมทั้งมุ่งสร้างความหลากหลายผ่านการขยายกลุ่มธุรกิจและแบรนด์พอร์ตโฟลิโอให้รองรับการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน “แบรนด์ของเราถือว่า well-known ไม่ว่าจะเป็นเชนไดร้ท์ ที่เราเป็นผู้นำกลุ่มผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก หรือเชนการ์ดที่คนมีสัตว์เลี้ยงจะรู้จักแชมพูสำหรับสุนัขและแมว ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ strong ในตลาด แต่ทั้งหมดนี้เราจะทำอย่างไรให้ SWC สามารถเติบโตใน global market ด้วยการนำจุดแข็งของแบรนด์และการ diversification ความแข็งแกร่งจาก non-food ไปยัง food เพื่อให้ถึงเป้าหมายได้ นั่นคือนิยามของคำว่า Change to Win เราจะเปลี่ยน SWC อย่างไรจาก local company to global company”  

- รีแบรนด์กลุ่ม Non-Food -

การประกาศปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปีของผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์และ สินค้าอุปโภคบริโภคได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในตลาดทันทีที่ส่งสัญญาณรีแบรนด์ภาพลักษณ์จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมกับการสะบัดธงรุกสร้างการเติบโตธุรกิจ FMCG ด้วยการขยายพอร์ตกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มให้ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศจนถึงการเป็นแบรนด์ระดับโกลบอล “เราวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตเป็นเท่าตัว 5 กลยุทธ์ ได้แก่ การขยายตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งเรามีพาร์ตเนอร์ที่ออสเตรเลียด้วย ดังนั้น ในวันนี้เราขยายตลาดไม่เฉพาะเมืองไทย แต่กำลังเล่นกับมหาสมุทร รวมทั้งกลยุทธ์การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การโฟกัสสินค้าที่สร้างกำไรให้บริษัท โดยใช้ automation และพัฒนาเรื่องโลจิสติกส์มากขึ้น ทำให้สินค้าถึงมือผู้บริโภครวดเร็วและสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยสำคัญที่สุด คือ การสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นด้วย” SWC นอกจากนั้น บริษัทยังแบ่งโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่มหลัก เพื่อการเดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตเชิงรุกได้อย่างสอดคล้องกับผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจ non-food กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ในครัวเรือนและเคมีภัณฑ์ในอุตสาหกรรม รวมทั้งธุรกิจ food ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม “การแบ่ง non-food และ food หรือการแบ่งกลุ่มสินค้าที่ชัดเจนเพื่อให้ SWC สามารถทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งในปีนี้เราขยายศูนย์กระจายสินค้ากลุ่ม non-food เพิ่มจาก 6 แห่งเป็น 14 แห่ง กระจายได้ทั่วประเทศ และเรามีการทำ channel strategy เพิ่มด้วย ทำให้เชื่อว่า growth engine ของเราจะสามารถสร้างธุรกิจ non-food ให้เติบโตมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจ food เราเริ่ม diversify มาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการซื้อกิจการถั่วมารูโจ้และนมฮอกไกโด ก่อนจะเริ่มรีโมเดลนมฮอกไกโดจริงจังเมื่อปีที่แล้ว และเปิดตัวเครื่องดื่มสมุนไพรชื่อ SuperFight ในปีนี้” ขณะเดียวกันบริษัทยังให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าในลักษณะ O2O หรือผสมผสานช่องทางระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียนด้วยความมุ่งมั่นยกระดับองค์กรให้เป็นแบรนด์ระดับโลก “วันนี้เราเจาะตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยมองถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ทั่วโลกที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของเราได้ และการทำให้แบรนด์ของเรามีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งแพ็กเกจหรือภาพลักษณ์สินค้าในไทยเป็นอย่างไร ต่างประเทศจะเป็นภาพเดียวกัน”  

- ปั้น “ซุปเปอร์ไฟต์” สู่โกลบอล -

ภายใต้เป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยและขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน พร้อมสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากรายได้หลักพันล้านบาทเป็นหมื่นล้านบาทใน 5 ปี ธนากรมั่นใจในโอกาสทางธุรกิจที่เล็งเห็นในการนำจุดแข็งของบริษัทต่อยอดสู่กลุ่มธุรกิจ food เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวที่มีมูลค่าตลาด 3.72 หมื่นล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม 6.6 หมื่นล้านบาท รวมถึงตลาดเครื่องดื่ม (ไม่รวมแอลกอฮอล์) 1.55 แสนล้านบาท “ธุรกิจเดิมของเราครองอันดับ 1 เกือบทุกผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเราต้องไปมหาสมุทรที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเราเล็งเห็นโอกาสการเติบโต FMCG ทั้งไทยและอาเซียนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงที่เราอยู่ในภูมิภาค ร้อนชื้น ทำให้กลุ่มนี้เติบโตอยู่แล้ว หรือทีโพล์ ที่กำลังจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น โดยสำคัญที่คุณภาพต้องมาก่อน และทำอย่างไรให้ลูกค้าได้ลองใช้ รวมถึงธุรกิจเครื่องดื่มที่เป็นตลาดใหญ่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาหลายธุรกิจติดลบ แต่หมวดเครื่องดื่มยังสามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่ม health conscious” ดังนั้น ธนากรจึงมั่นใจเปิดตัวแบรนด์เครื่องดื่มสมุนไพร ซุปเปอร์ไฟต์ (Super- Fight) ซึ่งเปรียบเหมือนพิมพ์เขียวแรกของบริษัทในการก้าวสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม โดยชูจุดเด่นที่การเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรสกัด 8 ชนิด น้ำตาลน้อย และเกลือ (โซเดียม) ปริมาณต่ำ ทั้งยังมีกาเฟอีนจากชาเขียวธรรมชาติให้พลังงานและความสดชื่น ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพในปัจจุบัน “การเจาะตลาดต่างประเทศท้าทายกว่าในประเทศแน่นอน โดยแต่ละประเทศยังสามารถใช้โมเดลธุรกิจที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งเราเริ่มจากการส่งออกทดสอบตลาดก่อน แต่ในอนาคตอาจจะเป็นการหาพาร์ตเนอร์ การร่วมทุน M&A หรือการตั้งโรงงานก็ได้ รวมถึงแต่ละประเทศยังมีความนิยมเครื่องดื่มและบรรจุภัณฑ์ต่างกัน เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือกระป๋อง โดยเราต้องศึกษาและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ พร้อมทั้งการ R&D เครื่องดื่มสุขภาพเพิ่ม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชงกัญชา ซึ่งเราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นเช่นกัน” SWC ธนากรย้ำความมั่นใจในการเติบโตของรายได้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จะครองสัดส่วน 15% ของรายได้รวมปีนี้ที่วางเป้าหมาย 2.5 พันล้านบาทจากรายได้รวมในปี 2563 จำนวน 1.3 พันล้าน และสามารถสร้างรายได้รวมถึง 1 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี จากกลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางไว้และการแตกไลน์ธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเปรียบเป็น New S-Curve ที่จะผลักดันให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่คีย์สำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจ เดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อยู่ที่การกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเดินหน้าสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรธุรกิจ รวมทั้งความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่สามารถสร้างการรับรู้ในตลาด พร้อมช่องทางการจำหน่ายที่มุ่งเน้นการกระจายสินค้าให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนั้น ธนากรยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบช่วยวิเคราะห์ตลาด และการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคล ด้วยความเชื่อมั่นในระบบและคนที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ โดยมุ่งเน้นการบริหารงานที่เข้าถึงพนักงานทุกระดับในบริษัท พร้อมสร้างความเข้าใจและวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดความมุ่งมั่นหรือแพสชั่นเพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ “เรามั่นใจในเป้าหมายหมื่นล้านใน 5 ปี และต้องการให้คนมอง SWC ในปีนี้คือ Change to Win เปลี่ยนเพื่อชนะเกม และทำให้เห็นภาพว่า SWC วันนี้ไม่ได้มองแค่เมืองไทยอย่างเดียว แต่ต้องการเปลี่ยนจาก local player เป็น global player ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาส และเรามั่นใจว่าเรามี product portfolio มากพอที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัท”   ภาพ: บมจ. เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine