จินตณา กิ่งแก้ว SGP จุดชนวนพลังงานเอเชีย - Forbes Thailand

จินตณา กิ่งแก้ว SGP จุดชนวนพลังงานเอเชีย

เส้นทางที่ทอดยาวของผู้บุกเบิกธุรกิจก๊าซแอลพีจีข้ามพรมแดนผงาดแดนมังกร ภายใต้การบริหารงาน จินตณา กิ่งแก้ว พร้อมเติมเต็มช่องว่างธุรกิจพลังงานครบวงจรครอบคลุมภูมิภาคเอเชียด้วยความมั่นใจในสยามแก๊สโมเดลสร้างการเติบโตแตะระดับแสนล้านบาทภายใน 3 ปี

“บริษัทเราค้าขายก๊าซแบบไม่เป็นทางการมากกว่า 40 ปี เช่น หุงต้ม รถยนต์ อุตสาหกรรม และมองว่า ถ้าอยู่ในประเทศ เราไม่มีทางเติบโตกว่า ปตท. หรือเป็นที่ 1 ในประเทศได้ ด้วยศักยภาพของบริษัท พนักงานและผู้บริหาร สยามแก๊ส สามารถนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศสร้างการเติบโตต่างประเทศได้” จินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP กล่าวถึงการลงทุนในต่างประเทศจากวิสัยทัศน์ของ วรวิทย์ วีรบวรพงศ์ ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจในปี 2544 หลังจากบริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจจากสถานีบริการก๊าซแอลพีจี และโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี สู่การค้าก๊าซแอลพีจี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมประเภทอื่น รวมทั้งธุรกิจการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางรถยนต์และเรือ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว แอมโมเนีย และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่น ภายใต้แบรนด์ “สยามแก๊ส” และ “ยูนิคแก๊ส” พร้อมเดินหน้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2551 และรุกสร้างการเติบโตในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง “เราเป็นผู้ค้าก๊าซรายแรกที่ออกไปต่างประเทศและประสบความสำเร็จในจีนและกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นเวียดนามยังไม่มีแอลพีจีเท่าไร เราเป็นรายแรกที่เข้าไปพัฒนาในเวียดนาม และเราก็เห็นไลฟ์สไตล์สิงคโปร์ที่คล้ายกับเราเราจึงเทคโอเวอร์มา จากนั้นก็ไปที่จีนซึ่งมีคลังบรรจุก๊าซขนาดใหญ่ 2 แห่งรวมกัน 300,000 ตัน ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน รวมถึงขยายไปมาเลเซีย ตะวันออก ตะวันตกกลุ่ม CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและบังกลาเทศ” ภายในอาณาจักรสยามแก๊สได้แบ่งการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ 9 ธุรกิจ ได้แก่ธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว แอมโมเนีย และผลิตภัณฑ์อื่น ภายใต้บริษัท ยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลวแอมโมเนีย และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่น  

-เติมเต็มเชื้อเพลิงต่างแดน-

ปัจจุบันสยามแก๊สดำเนินธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวผ่านโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีของบริษัทจำนวน 25 แห่ง และสถานีบริการก๊าซแอลพีจีของบริษัท 41 แห่ง และจำหน่ายผ่านตัวแทนของบริษัท 334 แห่ง โดยมีบริษัทย่อยในกลุ่มรวม 34 บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศรวมรายได้ 6.76 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.36 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งมียอดจำหน่ายก๊าซแอลพีจีกว่า 3.83 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.8 โดยสัดส่วนการจำหน่ายต่างประเทศมากกว่าอยู่ที่ร้อยละ 74 และในประเทศร้อยละ 26 ซึ่งยอดจำหน่ายในต่างประเทศมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นจาก 2.42 ล้านตัน เป็น 2.85 ล้านตัน นับเป็นความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศตั้งแต่เริ่มขยายธุรกิจในต่างแดนตั้งแต่ปี 2553 “ธุรกิจสยามแก๊สไม่จำกัดเฉพาะแอลพีจีปัจจุบันเรามีแผนทำแอลเอ็นจี เริ่มจากในประเทศก่อน ถ้าสำเร็จจะไปต่อในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเรายังมีการกระจายธุรกิจไปยังการนำเข้าน้ำมันเพื่อขายกลุ่ม CLMV ที่เรามีฐานแอลพีจีอยู่แล้วและโรงไฟฟ้า รวมถึงเพิ่งเริ่มธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเราเทคโอเวอร์บริษัทให้บริการให้เช่าคลังน้ำมัน ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันใสให้กับโรงกลั่นรายใหญ่แต่รายได้หลักยังคงมาจากก๊าซแอลพีจี” ทั้งนี้ จินตณากล่าวถึงแผนการลงทุน 7.9 พันล้านบาทในปีนี้ถึงปี 2565 เพื่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาด 80,000 ตัน จำนวน 2 แท็งก์ และขนาด 10,000 ตัน จำนวน 2 แท็งก์ ที่เกาะสีชัง อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี ซึ่งสามารถรองรับก๊าซแอลเอ็นจีได้ 4 ล้านตัน/ปี วงเงินลงทุน 5 พันล้านบาท และสร้างคลังก๊าซแอลเอ็นจีที่ อ. บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา เป็นคลังขนาด 5,000 ตัน จำนวน 2 แท็งก์ สามารถรองรับก๊าซได้ 500,000-600,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ก่อสร้างสำเร็จในปี 2565 รวมทั้งลงทุนรถขนส่งก๊าซเพิ่มจำนวน 400 คันวงเงิน 400 ล้านบาท ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งน้อยกว่าการส่งผ่านท่อที่มีค่าใช้จ่ายสูง “ตลาดแอลพีจีในประเทศเริ่มวาย ก๊าซสำหรับยานยนต์เริ่มลดลงหรือไม่เติบโตราคาน้ำมันเริ่มใกล้เคียงแอลพีจี ส่วนหุงต้มยังโอเค เพราะเป็นสิ่งจำเป็นและยังคงเป็นรายได้หลักที่เรารักษาฐานลูกค้าของเราไว้ได้ แต่ถ้าในอนาคตออโต้ก๊าซหายไป เราจะนำรายได้จากแอลเอ็นจีมาใส่แทน ซึ่งมีโอกาสเป็นธุรกิจดาวรุ่งตามเทรนด์ความต้องการแอลเอ็นจีทั่วโลก” นอกจากนั้นสยามแก๊สยังมีความมุ่งมั่นก้าวเป็นผู้นำด้านพลังงานครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศเมียนมา และการร่วมมือกับกลุ่ม Mitsuuroko Holding ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นผู้จัดหาพลังงาน ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งถ่านหิน ถ่านหินอัดแท่ง จนถึงผลิตภัณฑ์ทางปิโตรเลียม และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในประเทศญี่ปุ่น “ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เรามั่นใจว่ารายได้สามารถแตะที่แสนล้านบาทได้อย่างแน่นอน จากกลยุทธ์แผนการดำเนินงานที่วางไว้ และการบริหารงานในลักษณะครอบครัว ทั้งลูกค้าและลูกน้องเหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งเขาก็ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวสยามแก๊ส พนักงานทุกคนรวมถึงผู้บริหารต่างมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเต็มร้อยเพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่ดีและแบ่งปันให้ผู้ถือหุ้นของเรา” จินตณา ปิดท้ายถึงความเชื่อมั่นในเป้าหมายที่มีพนักงานของบริษัทเป็นหนึ่งในคีย์แห่งความสำเร็จ สร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชีย
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine