ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว COCOCO แต่งมะพร้าวชิงพื้นที่ครัวโลก - Forbes Thailand

ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว COCOCO แต่งมะพร้าวชิงพื้นที่ครัวโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Sep 2023 | 11:00 AM
READ 6655

ความมุ่งมั่นเดินหน้าตามความฝันการเป็นเจ้าของกิจการโรงงานได้ผลักดันให้ลูกชาวสวนทุ่มเทต่อยอดทรัพย์ในดินเพิ่มมูลค่าวิมานมะพร้าวของครอบครัวด้วยการแปรรูปผลไม้ส่งออกกว่า 90 ประเทศ พร้อมคว้าโอกาสขยายธุรกิจอาหารครอบคลุมเทรนด์สัตว์เลี้ยงและสุขภาพเสริมพอร์ตรายได้แกร่งในระยะยาว


    อาหารไทยที่สร้างชื่อติดอันดับโลก และกระแสความนิยมดื่มน้ำมะพร้าวในต่างประเทศแทนเครื่องดื่มเกลือแร่จากธรรมชาติด้วยปริมาณโพแทสเซียม 294 มิลลิกรัม สูงกว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ทั่วไปที่มี 117 มิลลิกรัม แต่มีโซเดียม 25 มิลลิกรัม และน้ำตาลธรรมชาติ 5 มิลลิกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มเกลือแร่ทั่วไปที่ 41 มิลลิกรัม และ 15-25 มิลลิกรัม รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ทำให้ความต้องการมะพร้าวแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นจากรสชาติหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ และส่งผลให้อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยในตลาดโลกเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

    “ช่วงโควิด-19 การเติบโตของเราสวนทาง เพราะคนเริ่มใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะชาวจีนที่ชอบดื่มน้ำมะพร้าวเพราะมีเกลือแร่และได้ประโยชน์ อร่อยแต่ไม่อ้วน ซึ่งถ้าคนจีนกินอะไรแล้วติดใจทำเท่าไรก็ไม่พอขาย เหมือนทุเรียนบ้านเราที่มีความต้องการจำนวนมาก รวมทั้งอาหารไทยได้รับความนิยมในต่างประเทศจากการจัดอันดับต่างๆ เมนูอาหารไทยต้องติดอันดับโลก ซึ่งอาหารไทยส่วนใหญ่มักจะมีกะทิและพริกแกงเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้อุตสาหกรรมมะพร้าวของเราเติบโตขึ้นจากกะทิที่มีอาหารไทยเป็นตัวขับเคลื่อนและน้ำมะพร้าวที่ได้รับความนิยมทั่วโลก”

    ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกมะพร้าวแปรรูปไทยระดับโลกกล่าวถึงโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นจากความตั้งใจยกระดับสวนมะพร้าวของครอบครัวเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพมาตรฐานส่งออกระดับโลก ด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท Master of Business Administration (MBA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาเอก Doctor of Philosophy American University of Hawaii รวมทั้งประสบการณ์การทำงานด้านการควบคุมคุณภาพ การผลิต การขายการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจอาหาร เช่น ไอศกรีม น้ำพริก กะทิ

    “ครอบครัวผมมีสวนมะพร้าวที่ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ และคุณพ่อทำไร่อ้อยอยู่ราชบุรี ผมเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ คณะวิทยาศาสตร์คล้ายๆ Food Science สมัยนี้ และเป็นพนักงานในบริษัทไอศกรีม โรงงานน้ำพริก และโรงงานผลิตกะทิรวมประมาณ 7-8 ปีจึงเปิดบริษัทเองช่วงอายุประมาณ 30 ปีกว่าๆ เพราะมีความฝันเป็นเจ้าของโรงงาน และจากการเติบโตในครอบครัวเกษตรกรทำให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยและปัญหาต่างๆ ซึ่งควบคุมไม่ได้ทั้งราคาผลผลิต หรือบางครั้งต้องอาศัยฟ้าฝนด้วย โดยขณะนั้นที่บ้านไม่ค่อยมีเงินเราจึงเริ่มจากโรงงานมะพร้าวขนาดเล็กที่มีพนักงานหลังบ้านประมาณ 20 กว่าคน จนมีทุนสามารถกู้เงินธนาคารและสร้างการเติบโตเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับว่าเราอยู่ในแวดวงมะพร้าวมาตลอด เราใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาทำงานตรงนี้”

    หลังจากก่อตั้ง บริษัท ซี แอนด์ เอ อินเตอร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจซื้อขายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและน้ำกะทิเพื่อส่งออกไปต่างประเทศเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2551 วรวัฒน์ได้เล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำกะทิและสินค้าแปรรูปจากมะพร้าว ทำให้เริ่มต้นปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นการผลิตสินค้าครบวงจรจากโรงงานในจังหวัดราชบุรีซึ่งใกล้แหล่งวัตถุดิบมะพร้าว และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด ในปี 2552

    ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาวรวัฒน์สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แปรรูปจากมะพร้าวและผลไม้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกะทิบรรจุกระป๋อง กะทิบรรจุกล่องยูเอชที (UHT) กะทิพาสเจอร์ไรซ์ น้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋อง น้ำมะพร้าวกล่องยูเอชที (UHT) น้ำมะพร้าวพาสเจอรไรซ์ ขนมมะพร้าว และอาหารสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ Thaicoco, Cocoburi และ Concept P รวมถึงการผลิตสินค้าเพื่อการอุตสาหกรรม และการรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า (OEM) จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 90 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย โอเชียเนีย เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น
“เรามีแบรนด์ของตัวเองขาย 20 กว่าประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็น OEM ลูกค้าระดับโลก ถ้าในประเทศจะขายอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนต่างประเทศเราขายทั้งหมด 90 ประเทศ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภูมิภาคไหนเราก็มีลูกค้าอื่นๆ ที่ช่วยได้ 

    โดยเราเปิดตลาดต่างประเทศด้วยการออกบูธมา 20 กว่าปีแล้ว ในช่วงแรกบริษัทยังเล็กต้องใช้ความพยายามกว่าจะเป็นที่รู้จักและพัฒนามาตรฐานโรงงานให้ได้รับการยอมรับ อย่างห้างใหญ่ในยุโรปหรืออเมริกาต้องส่งคนมาตรวจระบบต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคของเขาปลอดภัย ซึ่งสิ่งสำคัญในการแข่งขันและการส่งออกสินค้าอยู่ที่การสร้างความได้เปรียบในสิ่งที่คุณทำ เช่น ไทย โคโคนัท เราทำได้ดีที่สุดในโลก คุณภาพมาตรฐาน ซัพพลายเชนที่ดีมาก ต้นทุนแข่งขันได้ รวมถึงเรามีนวัตกรรมสินค้าจำนวนมากและได้รับรางวัลมากมายเกือบทุกปี ทำให้ลูกค้าและคู่ค้าชอบ เพราะเขาต้องการสิ่งแปลกใหม่ในการแข่งขัน”

    วรวัฒน์กล่าวถึงการสร้างความได้เปรียบคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศด้านความสามารถในการจัดหามะพร้าว โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวขาว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าที่ควบคุมการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบหลัก การขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน ขั้นตอนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สะอาด ปลอดภัย ปลอดเชื้อ การจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป การบรรจุหีบห่อ และจัดส่งสินค้าตรงตามคุณภาพและเวลาที่กำหนดไว้ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการรับรองจากสถาบันต่างๆ เช่น มาตรฐาน TAS 9023-2007 GMP Codex Alimentarius มาตรฐาน TAS 9024-2007 HACCP Codex Alimentarius มาตรฐาน International Food Standard (IFS) มาตรฐาน Global Standard for Food Safety (BRC) และได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายฮาลาล มาตรฐาน Sedex
และการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตสินค้าและชื่อสินค้าของ FDA สหรัฐอเมริกา

    ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค โดยบริษัทมีทีมงานวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ที่สำนักงานใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี รวมถึงทีมงานวิจัยและพัฒนาสินค้าที่โรงงานในจังหวัดราชบุรี พร้อมทั้งทีมงานพัฒนาธุรกิจร่วมกันทำงานในการคิดค้น พัฒนา และผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับมะพร้าวและผลไม้ให้สอดคล้องกับการสำรวจสินค้าที่ได้รับความนิยมในการบริโภคในต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่จำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการดูแลผลกระทบด้าน
สิ่งแวดล้อมและรักษาความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต

    นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำมะพร้าวอัดแก๊สหรือ Sparkling Coconut Water ได้รับรางวัล Gulf Food Award จากงานแสดงสินค้า Gulf Food ประเทศดูไบในปี 2560 สินค้า Roasted Coconut Bite ได้รางวัล Selection SIAL Innovation ในปี 2561 ผลิตภัณฑ์ไข่น้ำแช่แข็ง หรือ Frozen Wolffia Cube ได้รางวัล Silver Award จากงาน SIAL INnovation Paris 2022 ในปี 2565 เป็นต้น โดยในปีนี้บริษัทยังสามารถคว้ารางวัล Selection SIAL Innovation Paris 2022 จาก Thai Plant Based Food กลุ่ม Asia Appetizer และรางวัล Finalist Sial Innovation Paris 2022 ในสินค้า HAR GAO ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพจากโปรตีนพืชของบริษัท

    “คีย์ที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้ามองเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาและดูแลคนทั้งพนักงาน ซัพพลายเออร์ คู่ค้า และลูกค้า ด้วยความเอื้อเฟื้อต่อกัน การให้บริการดีและเห็นใจกัน อย่างที่สองซัพพลายเชนเราค่อนข้างแข็งแรง วัตถุดิบต่างๆ ที่เราพัฒนามายาวนาน เช่นเดียวกับเรื่องระบบการผลิตมาตรฐานโลกและนวัตกรรมของเรายังได้รับรางวัลระดับโลกที่เป็นเครื่องยืนยันความสามารถของเรามาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันเรากำลังมองเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น แผนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ biomass หรือไม่ใช้ถ่านหินที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเราทำเรื่องคาร์บอนเครดิต credit zero โดยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นต้นแบบบริษัทชั้นนำของประเทศในเรื่องนี้ เพราะเราต้องการการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งตัวเลขรายได้ และดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน”

    

ปรับพอร์ตส่งออกรับดีมานด์โลก

    

    แม้ในปัจจุบันบริษัทจะสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวและผลไม้คุณภาพตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก และเป็นผู้ส่งออกกะทิสำเร็จรูปไทยสู่ตลาดโลกรายใหญ่ที่สุดในปี 2565 จากข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร แต่วรวัฒน์ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในอนาคต เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพจากโปรตีน ซึ่งทำให้ภาพรวมธุรกิจของกลุ่มบริษัทมีความมั่งคงและยั่งยืนมากขึ้น
“อาหารสัตว์เลี้ยงขึ้นปีที่ 4 แล้ว ส่วน plant based และชีสเป็นปีแรก โดยแนวคิดหลักมาจากศักยภาพ เรามีลูกค้าอยู่มากกว่า 90 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าหรือห้างที่ไม่ได้ขายสินค้าอย่างเดียว แต่อาจจะขายอาหารสัตว์เลี้ยง, plant based, ชีส 

    ดังนั้นเรามีลูกค้ารองรับอยู่แล้ว และสิ่งที่ทำไม่ได้ไกลตัวเรามากอย่างอาหารสัตว์เลี้ยงก็มีกระบวนการผลิตและการบรรจุขายคล้ายกะทิกระป๋องหรือถุง pulse เหมือนกัน รวมถึงเรามีวัตถุดิบในอาหารสัตว์ที่คนทั่วโลกยอมรับ เช่น ไก่ ปลาแซลมอน หรือส่วนประกอบของ plant based เป็นมะพร้าว โดยเราทำอะไรอยู่ในขอบเขตที่เราควบคุมได้แข่งขันได้ และเรามีจุดแข็งของเรา นวัตกรรม เทคโนโลยี ลูกค้า และสินค้าเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

    วรวัฒน์กล่าวถึงการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกสำหรับสุนัขและแมวภายใต้ บริษัท ไทย ออซัม จำกัด จากแนวโน้มอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย และโอเชียเนีย รวมถึงนวัตกรรมผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่หลากหลายและมุ่งพัฒนาคุณค่าทางอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น การดูแลขน อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่เน้นรสชาติรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับอาหารคน ซึ่งมีการคาดการณ์ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกเติบโตอยู่ที่ประมาณ 1.85-1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราเติบโต CAGR อยู่ที่ 7.1% โดยประมาณระหว่างปี 2564 และ 2569

    สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่มีตโลฟ อาหารตุ๋น เป็นต้น โดยดำเนินธุรกิจและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Moochie รวมถึงให้บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบและบรรจุภัณฑ์สำหรับการรับจ้างผลิตสินค้าหรือ OEM จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยโรงงานการผลิตอยู่ที่จังหวัดราชบุรี มีกำลังการผลิตประมาณ 50,500 ตันต่อปี

    นอกจากนั้น วรวัฒน์ยังจัดตั้ง บริษัท ไทย แพลนท์ เบส ฟู้ด จำกัด เป็นบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพจากโปรตีนพืช เช่น ธัญพืช ถั่ว มะพร้าว ข้าวโอ๊ต เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพและการสร้างความยั่งยืนผ่านอาหารแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าหลักของบริษัท ได้แก่ อาหารว่างสไตล์เอเชีย เช่น ติ่มซำ เกี๊ยวซ่า ฮะเก๋า ขนมจีบ อาหารว่างสไตล์ตะวันตก เช่น นักเก็ต ไก่ทอดไม่มีกระดูก ไก่ป๊อบ กุ้งทอด ปลาหมึกทอด เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักในแถบอเมริกาและยุโรป โดยจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ChimChim และรับจ้างผลิตสินค้าหรือ OEM ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารให้มีรูปแบบใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริงทั้งด้านกลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัส

    “อาหารสัตว์เลี้ยงส่งออก 60-70% ส่วน plant based คาดว่าส่งออกประมาณ 80-90% ซึ่งกว่าจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่เราต้องผ่านการวิจัยจากทีมค้นคว้าและใช้เวลาศึกษางานต่างๆ เป็นเวลานาน อย่างอาหารสัตว์วิจัย3 ปี plant based 2 ปี และทดลองตลาดจนมั่นใจว่าการลงทุนของเราไม่น่าพลาด อย่างอาหารสัตว์เลี้ยงที่เราเป็นหน้าใหม่ เราจะเลือกทำบางตัวหรือบางประเทศ และไม่ได้
วางเป้าหมายรายได้เป็นหมื่นล้านเหมือนบริษัทใหญ่ ทำให้ความเสี่ยงไม่มาก แค่เราขายระดับพันล้านในกลุ่ม niche market หรือเซกเมนต์เล็กๆ ที่เราสามารถบริหารจัดการวัตถุดิบได้ด้วยการเก็บสต็อกซึ่งเรามีห้องเย็นขนาดใหญ่มาก เช่นเดียวกับ plant based ที่เป็นตลาดใหญ่ เราไม่ได้แข่งกับใคร แต่เน้นอาหารที่เมืองไทยมีชื่อเสียง หรือสินค้าแปลกใหม่ เรามองว่ายังมีโอกาสอีกมาก”

    ขณะเดียวกันยังร่วมทุนก่อตั้งบริษัทร่วมค้า ได้แก่ บริษัท จัสท์ไลค์ แอนด์ มอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีสและเนยที่ทำจากพืช ซึ่งเป็นการนำไขมันจากพืชมาผลิตเป็นชีสและเนยประเทศต่างๆ เหมาะสำหรับผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติและอาหารประเภท non GMO ปราศจากกลูเตน โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งเป็นชีสแผ่นมังสวิรัติ ชีสเส้นมังสวิรัติ ครีมชีสมังสวิรัติ ชีสก้อนมังสวิรัติ

    “การเติบโตของเราเกิดจากการส่งออกจำนวนมาก โดยในปีนี้เราน่าจะเติบโตกว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรหรือคลังสินค้า เราต้องขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอรองรับการเติบโตของสินค้า ด้วยการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนั้นเรายังมีสินค้าใหม่หรือธุรกิจใหม่อย่างอาหารสัตว์เลี้ยง plant based ชีสจากกะทิ ซึ่งกำลังเริ่มทำและขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทมาจากผลิตภัณฑ์มะพร้าว 80% แต่ในอนาคตอาหารสัตว์และ plant based อาจจะแชร์ได้ถึง 30-40% เพราะตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่จำนวนหลายแสนล้านเหรียญ และกลุ่ม plant based ใหญ่กว่าตลาดมะพร้าวหลายเท่า เพียงแค่ต้องใช้เวลา”

    วรวัฒน์ย้ำความมั่นใจในการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนรายได้ในอนาคตจากรายได้รวม 3.38 พันล้านบาทในปี 2565 พร้อมวางเป้าหมายสร้างชื่อให้คนไทยรู้จักในฐานะบริษัทผลิตอาหารชั้นนำของประเทศที่สามารถช่วยพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตทั้งคู่ค้าผู้ปลูกมะพร้าว พนักงาน และชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

    “ถ้าถามคู่ค้า ซัพพลายเออร์ หรือผู้ซื้อทั่วโลกจะรู้จักเรา เพราะธุรกิจของเราส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่คนไทยอาจจะไม่ค่อยเห็น ดังนั้น เราต้องการสร้างชื่อให้คนไทยรู้จักว่าเราเป็นบริษัทผลิตอาหารชั้นนำของประเทศที่มีมาตรฐาน และช่วยเหลือเกษตรกรในการนำเงินต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก 100% เข้ามาในเมืองไทยเพราะเจ้าของเป็นคนไทย 100% เราต้องการช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรและประเทศไทยให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งหลักการบริหารพนักงานเกือบ 1,500 คนของเรายังเน้นเรื่องการดูแลเอาใจใส่ ความยั่งยืน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ถ้าไม่ยั่งยืนและไม่มีความสุขหรืออะไรที่เสี่ยงมากเราก็ไม่ทำ และเราเชื่อว่าการทำธุรกิจแบบไม่โลภ เป็นคนดี ซื่อสัตย์ และดูแลคนให้ดี เราสามารถผ่านได้ทุกปัญหาและวิกฤต”

    

    อ่านเพิ่มเติม : 5 สุดยอดแห่งเมืองเกษียณ

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine