เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “การระบาดใหญ่" หลังจากเชื้อลุกลามไปใน 118 ประเทศและดินแดนทั่วโลก และในเดือนเดียวกันนี้ Moderna บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกัน ได้เริ่มส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดแรกเข้าทดสอบประสิทธิภาพที่สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (NIH)
โดยทั่วไประยะเวลาที่รวดเร็วที่สุดในการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่มักจะอยู่ที่ราว 4 ปี จนกระทั่งในปี 2020 ที่ผ่านมา ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี mRNA ได้มีส่วนช่วยให้ Moderna สามารถพัฒนา ทดสอบ และผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน
“ผมไม่ได้ใช้ชีวิตเลยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา” Stephane Bancel ผู้ดำรงตำแแหน่งประธานกรรมการบริหาร Moderna มาเป็นระยะเวลากว่า 9 ปีกล่าว พร้อมเสริมว่า “ผมได้แต่หวังว่าจะมีวันหยุดเพียงสักหนึ่งวัน”
แต่ในขณะเดียวกันก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถในการพัฒนาวัคซีนอย่างก้าวกระโดดข้างต้นได้สร้างผลกำไรมหาศาลให้ทั้งตัวบริษัทและประธานกรรมการบริหารผู้นี้เป็นอย่างมาก
โดยผลประกอบการประจำปี 2020 รายงานว่า Moderna สร้างรายได้จากวัคซีน mRNA ดังกล่าวไปกว่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอีก 1.84 หมื่นล้านเหรียญจากการสั่งจองล่วงหน้าในปี 2021 ขณะที่ Bancel ก็ได้ก้าวขึ้นทำเนียบมหาเศรษฐีพันล้านเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 2020 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในปัจจุบันจากการประเมินของ Forbes อยู่ที่ 4.6 พันล้านเหรียญ
ไม่เพียงเท่านี้ Stephane Bancel เผยว่า Moderna ยังคงเดินหน้าพัฒนาพัฒนาวัคซีน mRNA ชนิดใหม่และแนวทางการบำบัดรักษาโรคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง “ในปี 2021 และ 2022 Moderna จะพัฒนาสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมาก่อน” ตั้งแต่วัคซีนชนิดใหม่สำหรับโรคติดเชื้อ ไปจนถึงการบำบัดมะเร็ง และโรคทางพันธุกรรม อย่างซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis) ดังต่อไปนี้
วัคซีนชนิดใหม่สำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่
เนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแล้วจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในที่นี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า โควิด-19 จะไม่ได้หายไปเลยเสียทีเดียว หากแต่จะมาในรูปแบบของอาการเจ็บป่วยตามฤดูกาล “คุณอาจจะเป็นไข้หวัดที่เกิดเป็นปกติทุกปีหรือ 2 ปี และต้องใช้ตัวช่วยเพื่อสร้างภูมิต้านทาน” Bancel กล่าว
ล่าสุด Moderna ได้ทำการจัดส่งวัคซีนชุดใหม่เพื่อเข้ากระบวนการทดสอบประสิทธิภาพที่สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (NIH) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 ในแอฟริกาใต้เป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เริ่มทดสอบวัคซีนที่สามารถจัดเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็น จากปกติที่สามารถเก็บรักษาได้เพียงในอุณหภูมิของช่องแช่แข็งเท่านั้น
วัคซีนป้องกันไข้หวัดที่ดีกว่าเดิม
ปัจจุบัน การพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดต้องใช้ระยะเวลานานถึง 6 เดือน เนื่องจากไวรัสดังกล่าวต้องเจริญเติบโตในไข่ และมีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 30-60 เท่านั้นในการป้องกันไข้หวัดตามฤดูกาล
แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ชุดเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 Bancel เชื่อว่า วัคซีนชนิดใหม่ของ Moderna ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาจะมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 90 ในการป้องกันไข้หวัด พร้อมระบุว่า วัคซีนยังสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสรายปีได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
“ผมคิดว่าเรากำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดที่ทั่วโลกต่างรอคอยมาเป็นเวลานาน และกำลังจะใช้ได้เร็วๆ นี้” เขากล่าว
ในที่นี้ นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมยาต่างคาดการณ์ว่า ตลาดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านเหรียญ และยังคงมีพื้นที่ในการเติบโตอีกมาก
อย่างไรก็ดี น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรชาวอเมริกันปฏิเสธที่จะเข้ารับวัคซีนไข้หวัด โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญมาจากประสิทธิภาพที่ต่ำ ด้วยเหตุนี้ หากวัคซีนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นจึงอาจนำมาซึ่งการเข้ารับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
วัคซีนป้องกันมะเร็ง
Moderna กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกของวัคซีน 5 ชนิดที่ใช้สำหรับการรักษามะเร็ง ซึ่งเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย
ขณะที่วัคซีนป้องกันมะเร็งของทางบริษัทที่มีอยู่ในตลาด 2 ชนิด กลับสามารถใช้รักษามะเร็งระยะสุดท้ายได้เท่านั้น ทั้งยังมีราคาสูงในการผลิตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งที่พัฒนาโดยเทคโนโลยี mRMA จะมีข้อดีในด้านความปลอดภัย ความรวดเร็ว และราคาถูกกว่าแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีอุปสรรคในกรพัฒนา อาทิเช่น ข้อจำกัดด้านข้อมูลทางคลินิก และสภาวะธรรมชาติที่เปราะบางของ mRNA
“ในอนาคต ผมคิดว่าวัคซีนและแนวทางการบำบัดโรคจำนวนมากจะถูกพัฒนาขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี mRNA” Bancel กล่าว พร้อมระบุว่าข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ ความปลอดภัยนการใช้งานที่มีมากกว่ายาที่ใช้อยู่กันในปัจจุบัน “มีความเสี่ยงทางชีวภาพน้อยมาก เพราะเป็นโปรตีนของมนุษย์ที่ถูกผลิตโดยเซลล์ที่อยู่ภายในร่างกาย”
การป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิด
ก่อนที่จะเปิดตัววัคซีนไข้หวัดหรือมะเร็ง ผลิตภัณฑ์วัคซีนของ Moderna ที่ไม่ใช่วัคซีนกลุ่มโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (CMV) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูงวัย และยังสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ทารกในครรภ์
ทั้งนี้ Cytomegalovirus Infection ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในสหรัฐฯ โดย 1 ใน 200 ทารกมีโอกาสในการติดเชื้อจากไวรัสดังกล่าว และจะมีความมีผิดปกติด้านการได้ยินและสายตา ตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาการต่างๆ ตามมา
ในที่นี้ Bancel ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน CMV เป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี ขณะที่วัคซีนชนิดใหม่ที่ Moderna กำลังพัฒนาอยู่นี้ก็มีความ “สลับซับซ้อนอย่างมาก” โดยประกอบไปด้วย mRNA ถึง 6 ชนิดใน 1 หลอด
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางข้อท้าทายต่างๆ Bancel ยืนยันว่า “การทดลองในเฟสที่ 1 และ 2 กำลังเป็นไปได้อย่างดี”
การรักษาหัวใจ
ความสามารถของเทคโนโลยี mRNA ก็คือ ความสามารถในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างหลากหลาย ดังที่ Bancel ได้กล่าวไว้ว่า “mRNA คือรหัส” ที่เข้าไปแปลงรหัสโปรตีนที่จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
โดยหนึ่งในแนวทางการรักษาที่ Bancel รู้สึกประทับใจมากที่สุด คือ ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระหว่าง Moderna กับ AstraZeneca ในการฉีด mRNA เข้าไปในหลอดเลือด ซึ่งหมายความว่า ความเสียหายที่เกิดกับระบบหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถซ่อมแซมได้และอาจสร้างเนื้อเยื่อหัวใจขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดียิ่งขึ้น
การซ่อมแซมยีนส์
การประยุกต์ใช้ mRNA ครั้งล่าสุดมาในรูปแบบของการบำบัดรักษายีนส์ที่ผิดปกติที่สามารถก่อให้เกิดโรคร้าย
โดยในที่นี้ Moderna ร่วมกับ Vertex Pharmaceutical ทำการศึกษาวิจัยแนวทางการรักษาโรคซีสติกไฟโบรซีส ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ ที่ทำให้สารคัดหลั่งของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเหนียวข้นขึ้น เช่น ปอด ตับ ตับอ่อน และลำไส้
“คุณสามารถใช้ mRNA ในการแก้ไขดัดแปลงยีนส์ได้” Bancel กล่าว พร้อมเสริมว่า “เพราะสิ่งที่คุณใส่ลงไปใน mRNA ก็คือคำสั่งสำหรับเอนไซม์ในการตัด DNA”
ทั้งนี้ แผนการทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น อาจจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 ปีในการดำเนินการ แต่ Bancel เชื่อมั่นว่าในอนาคต mRNA จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมยา “ในอนาคตอีกราว 10-20 ปี mRNA จะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้อีกแน่นอน”
แปลและเรียบเรียงจากบทความ What’s Next For Moderna Post-Covid-19: CEO Stéphane Bancel Details mRNA Pipeline เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Serum Institute แห่งอินเดีย ตั้งเป้าผลิตวัคซีนโควิดให้ต้นทุนต่ำ