Snowflake หุ้น IPO มูลค่าสูงสุดแห่งวงการซอฟต์แวร์ - Forbes Thailand

Snowflake หุ้น IPO มูลค่าสูงสุดแห่งวงการซอฟต์แวร์

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Nov 2021 | 08:00 AM
READ 1858

แม้ Frank Slootman จะไม่ได้ลงมือก่อตั้งบริษัท แต่ในประวัติศาสตร์แห่งการดำเนินธุรกิจไม่มีใครที่สามารถพลิกไอเดียให้กลายเป็นความสำเร็จได้มากมายขนาดนี้อีกแล้ว ล่าสุดเขาบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการส่ง Snowflake เสนอขายหุ้น IPO ด้วยมูลค่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าสูงสุดแห่งวงการซอฟต์แวร์ และวันนี้เขานำเรื่องราวมาบอกเล่าให้ฟัง

ก่อนหน้าไม่เกินวันแรงงาน เห็นได้ชัดว่า การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งที่ 3 ของ Frank Slootman นั้น จะไม่เหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา หลังจากการระบาดของโควิด-19 ได้ลดลงเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงฤดูร้อน การระบาดระลอกใหม่ก็กลับมาอีกครั้ง ทำให้กำหนดการโรดโชว์ของบริษัทคลังข้อมูล อย่าง Snowflake ที่มีแผนตระเวนจัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันและเปิดตัวผ่าน PowerPoint ตามห้องประชุมโรงแรมต่างๆ ทั่วโลกกลับต้องเปลี่ยนมาจัดช่องทางออนไลน์แทน Slootman วัย 62 ปี จับจองห้องสัมมนาอันไร้ชีวิตชีวาบนชั้น 2 ของสำนักงาน Snowflake ที่ Dublin ใน California เพื่อจัดการประชุมต่างๆ ซึ่งในเวลานี้มีมูลค่ารายชั่วโมงเทียบเท่าการประชุมเขียนรหัสในหอพักนักศึกษาที่ Harvard ของ Mark Zuckerberg เลยทีเดียว ตลอดระยะเวลา 7 วันเมื่อกลางเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยตารางการประชุมทั้งแบบตัวต่อตัวและการพรีเซนเทชันขนาดใหญ่ Slootman ชายผู้มีบุคลิกดุดันโดยธรรมชาติพบปะกับผู้คนกว่า 1,000 คนทาง Zoom ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุนและวาณิชธนากรที่พร้อมกระโจนคว้าส่วนแบ่งจากการเสนอขายหุ้น IPO ของเขา แต่แทนที่จะเป็นการถาม-ตอบทั่วๆ ไป Slootman กลับโดนรัวยิงคำถามเสียเอง “ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ ‘ฉันชอบบริษัทนี้หรือเปล่า’ แต่เป็น ‘ฉันจะได้กี่หุ้น’” Slootman เล่าให้ฟังด้วยสำเนียงดัตช์ และเมื่อถามถึงการเสนอขายหุ้น IPO ในรูปแบบเสมือนจริงนี้ เขาบอกว่า “ผมชอบมากที่สุด” ขั้นตอนที่เหลือเป็นหน้าที่ของ Slootman ซึ่งเขาเข้ามาจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขารับตำแหน่งผู้บริหาร Snowflake เมื่อเดือนเมษายน ปี 2019 และในเวลาเพียง 6 เดือนเขาดึงตัวนักลงทุนรายใหญ่มาได้มากมาย รวมถึง Dragoneer Investments และ Salesforce ของ Marc Benioff ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เขายังได้หารือกับนักวิเคราะห์งานวิจัย ซึ่งในที่สุดนักวิเคราะห์เหล่านี้ก็จะตั้งราคา IPO แบบขาขึ้น เมื่อ Slootman กับทีมงานของเขาเคาะระฆังซื้อขายเสมือนจริงทาง New York Stock Exchange (ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดูงุ่มง่ามสมชื่อ) เขาระดมทุนได้ 3.4 พันล้านเหรียญ โดยมี Sales- force และนักลงทุนคนอื่นๆ คอยรอรับที่ราคาพื้น “เรารู้จักคนกลุ่มนี้ มาตั้งแต่เปิดเวทีครั้งก่อนๆ” Slootman กล่าวแบบไม่ยี่หระ ในวันที่ Slootman เข้ารับตำแหน่ง Snowflake มีมูลค่า 4 พันล้านเหรียญ หรือมากกว่ามูลค่าในวันแรกถึงกว่าเท่าตัว และยังคงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาลนับแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันมีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 8.1 หมื่นล้านเหรียญ จากยอดขายประมาณ 580 ล้านเหรียญ ส่วนตัวเขาเองมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญ นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าอัศจรรย์อย่างแท้จริงสำหรับคนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในวันก่อตั้งบริษัทใดเลย Slootman บอกเสมอว่า เขาไม่มีสูตรความสำเร็จตายตัว แม้จะเคยสร้างปรากฏการณ์คล้ายกันนี้มาแล้วทั้งที่ Data Domain และ ServiceNow แต่หากได้คุยกับเขานานๆ คุณจะมองเห็นรูปแบบและพบว่า สิ่งที่เขาพูดไม่จริงเลย Slootman เป็นอดีตทหารเรือ เขาบริหารบริษัทก่อนเข้าสู่ช่วง IPO เหมือนเรือประสิทธิภาพสูงที่มีการขึงเชือกอย่างแน่นหนา โดยมีตัวเขาเองเป็นกัปตันผู้มีความมั่นใจอย่างแรงกล้า หากมีใครแสดงท่าทีแข็งข้อขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย เขาพร้อมโยนทิ้งทะเลทันที “ตอนผมอายุน้อยกว่านี้ ผมอดทนได้มากกว่านี้ ผมคิดเสมอว่าจะสามารถสอนและนำทางคนไปยังที่ที่พวกเขาจะแสดงศักยภาพได้อย่างแท้จริง” Slootman กล่าว “ซึ่งปรากฏว่า จาก 100 ครั้ง คุณจะผิดไป 99 ครั้ง ตอนนี้ผมจึงฟิวส์ขาดง่ายขึ้น แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าไล่ใครออกเร็วเกินไป มีแต่จะสายเกินไป” Slootman กล่าวเสริมว่า “ผมใช้สิทธิพิเศษในฐานะผู้บริหาร ไม่ต้องมาคอยอธิบายเหตุผล ไม่ต้องมาคอยชี้นำใคร ผมแค่รู้ว่านี่คือสิ่งที่ผมต้องการ เพราะเรามีซีอีโอด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือชัยชนะ เวลาที่คุณชนะจะไม่มีใครทำอะไรคุณได้ แต่เมื่อคุณแพ้ใครก็ช่วยไม่ได้เช่นกัน” เส้นทางสู่ American Dream ของ Frank Slootman ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่านับพันๆ ล้านเหรียญนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการผลิตที่นั่ง Naugahyde ป้อนเข้าอุตสาหกรรมเรือและยานยนต์ Slootman เกิดที่เนเธอร์แลนด์ โดยมีคุณพ่อเป็นทหารผ่านศึกและคุณแม่เป็นศิลปินวาดภาพบุคคล เขามีชีวิตวัยเด็กที่ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดท่ามกลางความสำเร็จด้านวิชาการและการแข่งขันเรือใบ นอกจากนี้ เขายังเป็นนักศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่โดดเด่นเอามากๆ ที่ Erasmus University Rotterdam และจบการศึกษาเร็วกว่ากำหนด 1 ปีเพื่อคว้าโอกาสฝึกงานในสหรัฐฯ โดยมี IBM เป็นนายจ้างในฝัน อย่างไรก็ตามเขาโดนบริษัทเจ้าของฉายา “Big Blue” ปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าจนต้อง “คลานกลับขึ้นฝั่งพร้อมเงินติดตัว 100 เหรียญ” (เขาพูดประโยคนี้ให้ลูกจ้างฟังจนจำได้ขึ้นใจ) ที่ South Bend ใน Indiana และได้ฝึกงานอยู่ในอุตสาหกรรมหนังเทียมที่ดูจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งเต็มที

บริหารด้วยความเด็ดขาด

Snowflake ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2012 ผลงานของ Dageville และ Cruanes ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูลแห่ง Oracle โดยได้รับการสนับสนุนจาก Sutter Hill ที่มีนักร่วมลงทุนอย่าง Mike Speiser ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนแรก บริษัทให้สัญญาว่า พวกเขาจะจัดการคลังข้อมูลที่ในเวลานั้นยังทำงานบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของลูกค้าให้เหมือนกับที่ Amazon Web Services จัดการงานจัดเก็บข้อมูล Snowflake อาศัยผลการประมวลผลที่ยืดหยุ่นของระบบคลาวด์เสมือนเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์เครื่องหนึ่ง ทำให้พวกเขาสามารถระบุและจัดระเบียบข้อมูลมหาศาล (และยังเพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง) ของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้บริโภค ยอดขายผลิตภัณฑ์ ต้นทุนต่อหัวของพนักงาน จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งหมดอย่างรวดเร็วในราคาที่ย่อมเยามากพอที่จะสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ในปี 2014 หรือ 2 ปีหลังจากที่ Speiser สร้างชื่อเสียงจากการเป็นผู้ขนส่งซอฟต์แวร์ เขายกให้ Muglia ดำรงตำแหน่งซีอีโอแทนตน Muglia ไม่ใช่ผู้บริหารไร้ชื่อ แต่เป็นถึงวิศวกรและเคยเป็น 1 ใน 4 ประธานบริษัท Microsoft ก่อนที่ Steve Ballmer จะมอบหมายให้ Satya Nadella เข้ามารับตำแหน่งแทน ส่วนที่ Snowflake นั้น Muglia เร่งผลักดันบริษัทเข้าสู่ตลาด โดยตั้งราคาเทียบเท่ากับโมเดลการบริโภครายวินาที (by-the-second consumption) ของ Amazon Web Services ซึ่งเป็นการเสนอทางเลือก “ชำระเงินเท่าที่ใช้งานจริง” แทนการสมัครสมาชิกประจำ จากนั้นจึงมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกค้าของ Redshift ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คู่แข่งของ Amazon เอง Speiser รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการมุ่งระดมทุนของ Snowflake จึงติดต่อ Slootman ที่เขารู้จักผ่านคณะกรรมการในการลงทุนอีกแห่งหนึ่งคือ Pure Storage และชวนมาร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัท หลังจากที่ Slootman สร้าง ServiceNow จนมีมูลค่าตามราคาตลาด 1.4 หมื่นล้านเหรียญก่อนปี 2017 (ปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่านั้นถึง 7 เท่าตัว) เขาก็หันมาให้ความสำคัญกับการนำการแข่งขันเรือใบอาชีพกลับมาแข่งที่ California พร้อมกับบริหารมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์และสวัสดิภาพของสัตว์จากฟาร์มของเขาที่ Montana พูดง่ายๆ ก็คือ มันน่าเบื่อมาก “ผมเห็นใจนักกีฬาควอเตอร์แบ็กที่ไม่รู้ว่าจะเกษียณอายุตัวเองอย่างไรขึ้นมาทันที” เขากล่าว
4 กำลังสำคัญ Benoit Dageville (ซ้าย) และ Thierry Cruanes (ที่ 3 จากซ้าย) สองผู้ร่วมก่อตั้งไว้วางใจให้ Slootman พร้อมด้วย ขุนพลที่เขาเชื่อใจคือ ประธานฝ่ายการเงิน Michael Scarpelli (ขวา) เป็นผู้ขับเคลื่อน Snowflake ฝ่าวัฏจักร ตลาดหุ้น Dageville กล่าวว่า “เราแบกความกดดันกันมากที่จะต้องสร้างผลงานให้ได้จากการประเมินผลงานนี้”
เมื่อ Slootman แสดงความสนใจรับตำแหน่งซีอีโอให้กับ Snowflake ด้าน Sequoia กับ Sutter Hill ดีใจจนเนื้อเต้น ครั้งหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ Speiser ผู้ไม่ชอบคุยกับสื่อเคยพูดถึงการตัดสินใจที่ยากมากๆ ที่ต้องปลด Muglia “เมื่อคุณมีโอกาสสร้างบริษัทที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คุณปล่อยให้หลุดมือไปไม่ได้” ปัญหามีเพียงอย่างเดียว ไม่มีใครบอก Muglia จนกระทั่งวันที่บริษัทประกาศข่าวใหญ่ Muglia กล่าวอย่างเปิดเผยถึงการต้องออกจากตำแหน่งเป็นครั้งแรก เขาบอกกับ Forbes ว่า เขารู้สึกตกใจไปหลายเดือน “คณะกรรมการคือคนที่บอกให้ผมใช้เงิน พวกเขาสนับสนุนผมอย่างแข็งขัน แต่แน่นอนว่าผมเป็นคนลงมือใช้เงิน” Muglia กล่าว ทั้งยังบอกด้วยว่า งบประมาณใช้จ่ายในภาพรวมของ Snowflake เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำหลังจากเขาออกจากบริษัท “ผมเคยเรียกสิ่งนี้ว่า ใช้เงินเยี่ยงทหารเรือขี้เมา ผมจะบอกว่า เรากำลังใช้เงินเหมือนทหารเรือขี้เมา และพวกเขาก็จะบอกว่า ใช้ไปเถอะ ซึ่งมันก็เป็นการตัดสินใจที่ถูก” หลายสัปดาห์หลังจากที่ Snowflake เริ่มต้นยุคการบริหารของ Slootman บรรดาผู้บริหารต่อแถวเยือนห้องทำงานที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเพื่อเข้าพบ Slootman กันทีละคน ขณะที่ Speiser ผู้ที่ติดต่อ Slootman มาร่วมงานนั้นรับหน้าที่แทน Slootman ในการประชุมต่างๆ ไม่นาน Slootman ก็ดึงเทคนิคเก่าๆ มาใช้ อันดับแรกคือ ปรับโครงสร้างฝ่ายขายเพื่อแยกกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ออกจากลูกค้ารายย่อย โดยเพิ่มความสำคัญในการดึงดูดปลาตัวใหญ่ 2. แยกทาง กับใครก็ตามที่ชอบเปิดศึกชิงอำนาจ หรือไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างที่ลั่นวาจาไว้ Slootman ดึงสองขุนพลมือฉมังจาก Data Domain และ ServiceNow คือ Mike Scarpelli เข้ามาดูแลด้านการเงิน และ Shelly Begun มาบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ ขณะที่ผู้บริหารและตัวแทนฝ่ายขายที่ไม่เข้ากับแผนการของ Slootman หรือไม่ต้องการทำงานให้กับหัวหน้างานคนใหม่ (ที่เข้ากับแผนการของ Slootman) ก็ต้องออกไปตามระเบียบ เพียง 1 ปีให้หลัง Snowflake ภายใต้การนำของ Slootman กลายเป็นกิจการที่เน้นผลการดำเนินงานเป็นสำคัญ Chris Degnan ประธานฝ่ายบริหารรายได้ตระหนักดีว่า ตัวเขาเองขาดประสบการณ์การทำงานในองค์กรที่มีการจัดระเบียบโครงสร้างงานขาย ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะทำให้ Slootman ไม่จำเป็นต้องใช้บริการจากเขาอีกต่อไป แต่ข่าวดีตามมาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ เมื่อ Begun บอกว่า ซีอีโอคนใหม่ชอบความกระตือรือร้นและความจงรักภักดีที่เขามีให้กับผลิตภัณฑ์ “เขาพูดประมาณว่า ‘ผมอายุ มากขึ้นทุกวัน ไม่มีเวลามานั่งรอหรอก’ เขาเป็นคนที่บริหารงานแบบนั้น” Degnan กล่าว อย่างไรก็ตาม Snowflake ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ ราคาหุ้นปัจจุบันเกินความคาดหมายของ Slootman ไปแล้วด้วยซ้ำ โดยเมื่อกลางเดือนมกราคมซื้อขายกันอยู่ที่ 140 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ที่คาดการณ์ไว้สำหรับปีงบประมาณ 2021 และสูงกว่าระบบคลาวด์ยอดนิยมอย่าง Crowdstrike, Okta และ Zoom แต่หากตัวเลขของ Snowflake สะดุดขึ้นมาเมื่อไร หรือหากพลังบวกนี้เริ่มอ่อนแรง ลูกจ้างที่ทำเงินได้จาก IPO ไปแล้วอาจจะไม่อยากอยู่ต่อ “พูดตรงๆ ก็คือ โลกไม่ได้เห็นตัวทวีคูณ แบบนี้มาตั้งแต่ฟองสบู่อินเทอร์เน็ตเมื่อปี 1999 แล้ว” Brad Zelnick นักวิเคราะห์จาก Credit Suisse กล่าว ขณะที่ Srini Nandury จาก Summit Insights Group ซึ่งแนะให้ขาย Snowflake อย่างที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักกล่าวเสริมว่า “พวกเขาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสามารถจัดการได้ แต่ผมหาเหตุผลมาสนับสนุนการประเมินมูลค่านี้ไม่ได้เหมือนกัน หุ้นนี้ขับเคลื่อนโดยชาว Robinhood แท้ๆ” อย่างไรก็ตาม Slootman ไม่ได้คลายความมั่นใจลง เขามีความคิดว่าจะต้องพิสูจน์ให้ผู้ที่ตั้งข้อกังขาทั้งหลายเห็นว่า พวกเขาคิดผิด “ลองดูบริษัทเอกชนของผมนะว่าเป็นอย่างไร” ซีอีโอแห่ง Snowflake ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่จะไม่ยอมแพ้ เพราะยังมีเงินอีกนับพันนับหมื่นล้านผูกไว้กับหุ้นของ Snowflake ในส่วนที่ยังคงติดเงื่อนไข เรื่อง: ALEX KONRAD เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: CHRISTIE HEMM KLOK
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine